แจงเร่งออกพ.ร.ก.คุมเงินดิจิทัล ป้องกันปชช.ถูกหลอกลงทุน

แจงเร่งออกพ.ร.ก.คุมเงินดิจิทัล ป้องกันปชช.ถูกหลอกลงทุน

"วิษณุ" แจงเร่งออกพ.ร.ก.คุมเงินดิจิทัล ป้องกันปชช. ถูกหลอกลงทุน เผยต่างชาติเตือนไทยระวังเป็นสวรรค์ฟอกเงิน

เมื่อวันที่ 24 พ.ค.61 ที่โรงแรมเซนทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ Symposium Thailand 4.0“Fintech & Cryptocurrency vs. Law Enforcement” ซึ่งจัดโดยคณะนิติศาสตร์ มูลนิธินิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยนายวิษณุ กล่าวตอนหนึ่งว่า เรื่องคริปโตเคอร์เรนซี่ ฟินเทค และสินทรัพย์ดิจิทัลถือเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งตอนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณากฎหมายนี้ ก็ต้องใช้เวลาศึกษาทำความเข้าใจมากพอสมควร ทั้งนี้ ลักษณะของคริปโตเคอร์เรนซี่หรือสินทรัพย์ดิจิทัลไม่มีลักษณะทางกายภาพ แต่มีสิ่งที่อาจทำให้เกิดโจรกรรม การทุจริต หรือการหลอกลวงให้คนเอาเงินจริงมาลง เหมือนกรณีแชร์แม่ชม้อย

นายวิษณุ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ รัฐบาลได้รับรายงานจากต่างประเทศแจ้งเตือนว่าต้องระมัดระวัง ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะเป็นสวรรค์แห่งการฟอกเงิน อาจมีเรื่องของการก่อการร้ายข้ามชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง อาจมีผู้นำเงินจากการทำผิดกฎหมายเข้าลงทุนผ่านบิตคอยน์เพื่อฟอกเงิน และเขาทราบว่าประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้ง จึงเตือนมาด้วยว่าขอให้ไทยระวังว่าอาจมีการใช้เงินอย่างสะพัดในการซื้อสิทธิ์ขายเสียงทุจริตการเลือกตั้งด้วยการลงทุนบิตคอยน์ได้เช่นกัน ดังนั้น รัฐบาลอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องรีบหาทางป้องกัน จึงมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมไปศึกษาซึ่งได้ไปหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลังที่ได้ศึกษาเรื่องนี้เตรียมไว้ก่อนแล้ว

นายวิษณุกล่าวอีกว่า ในส่วนเรื่องของโมเดลมาตรการกรควบคุมดังกล่าว ได้มีการมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ไปศึกษาและส่งข้อมูลเข้ามา จนในที่สุดนำไปสู่การจัดทำเป็นกฎหมาย โดยให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ยกร่าง ซึ่งเดิมคิดว่าจะทำเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แต่ต้องใช้เวลานาน 1 ปี

ทั้งนี้ ได้มีผู้เสนอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แต่ตนคัดค้าน เพราะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องใหม่ ถ้าใช้มาตรา 44 แม้จะทำได้เร็วไป แต่ถ้าพลาดจะเกิดความเสียหาย และอาจขาดความเชื่อมโยงกับรัฐสภา ดังนั้นได้เลือกใช้การทำเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ที่เป็นช่องทางที่ เป็นวิธีที่ไม่เร็วและไม่ช้าจนเกินไป ใช้ได้ตามระบอบประชาธิปไตย โดยเมื่อครม.มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.ก.แล้ว สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย โดยไม่ต้องส่งให้สภาพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แต่เมื่อเริ่มประกาศใช้แล้ว ต้องส่งไปให้สนช.เห็นชอบรับรอง ซึ่งถ้าสนช.ไม่เห็นชอบ กฎหมายนั้นก็จะคงตกไป แต่ตอนนี้สนช.รับรองแล้ว แต่มีให้ข้อสังเกต และหลังจากพ.ร.ก.ดังกล่าวออกมาใช้แล้ว ก.ล.ต.จะออกกฎหมายลูกตามมา

นายวิษณุ กล่าวต่ออีกว่า รัฐบาลมองว่าคริปโตเคอร์เรนซี่ ฟินเทค และสินทรัพย์ดิจิทัลมีทั้งประโยชน์และโทษ ซึ่งประโยชน์คือมีส่วนช่วยผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ (สตาร์ทอัพ) และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ถ้าใช้อย่างระมัดระวัง รัฐบาลมีกลไกดูแล แต่ไม่คัดค้านการเล่นคริปโตเคอร์เรนซี่และสินทรัพย์ดิจิทัล เพียงขอให้รู้ทันกัน ทั้งนี้เมื่อถึงจุดหนึ่ง กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ทั้งพ.ร.ก.การประกอบธุรกิจทรัพย์สินดิจิทัล และพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2561 เพื่อการจัดเก็บภาษีรายได้ และเงินปันผลที่เกิดจากการลงทุนเงินสกุลดิจิทัล ต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้ทันสถานการณ์ และไม่เป็นอุปสรรคกับเทคโนโลยีชนิดนี้ซึ่งไม่มีทางที่ใครจะสกัดหรือห้ามปราม แต่ต้องมีการควบคุม และมีบทลงโทษผู้กระทำผิด อีกทั้งจะต้องนำกฎหมายเหล่านี้จัดทำเป็น พ.ร.บ.เพื่อให้ได้กฎหมายเหล่านี้มีความสมบูรณ์มากขึ้น สำหรับสิ่งที่รัฐบาลทำได้ตอนนี้คือให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ก่อน โดยกรมบังคับคดีเตรียมการจัดอบรมเรื่องการเข้ายึดบิตคอยน์ ขณะที่ธปท.และก.ล.ต.ขับเคลื่อนการเตรียมการแล้ว ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าทางตำรวจเตรียมพร้อมแล้วหรือไม่ เราต้องทำให้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวมีความสมบูรณ์

จากนั้น นายวิษณุ ให้สัมภาษณ์ภายหลัง ถึงกรณีที่ระบุว่าต่างประเทศแจ้งเตือนทางการไทยให้ระวังเรื่องการใช้เงินดิจิทัลเพื่อการฟอกเงิน ว่า เขาเตือนมาเป็นภาพรวม เช่นการฟอกเงินเรื่องการก่อการร้าย การฟอกเงินเพื่อการค้ามนุษย์ การซื้อขายยาเสพติด และการฟอกเงินเพื่อใช้ในทางการเมือง ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ถึงเวลาเข้าไปตรวจสอบในเชิงลึก สำหรับกฎหมายที่รัฐบาลเพิ่งออกมา จะทำให้คนที่คิดจะกระโดดลงไปลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเกิดความตื่นตัว เพราะมีกฎหมายเข้าไปควบคุม และสามารถตรวจสอบได้ว่าบริษัทนั้นได้ซื้อขายถูกจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ โดยรัฐจะเป็นผู้ควบคุม และเกิดการเรียนรู้มากกว่าที่จะไปไล่จับเรื่องพวกนี้ที่ไม่ใช่เรื่องง่าย

เมื่อถามว่าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเงินดิจิทัล อย่างเช่นการทำเหมืองขุดเงินดิจิทัล จะต้องควบคุมด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ต้องตามดูกันต่อไป ถ้ากฎหมายไม่พอ เราก็ต้องออกกฎหมายเพิ่ม เมื่อถามต่อว่าแต่การจดทะเบียนธุรกิจกลุ่มธุรกิจเงินดิจิทัลยังจดทะเบียนด้วยกฎหมายเดิมอยู่ รองนายกฯ กล่าววว่า เรื่องนี้อาจไม่จำเป็นต้องออกฎหมายเพิ่ม แต่อาจจะใช้กฎหมายปกติ เช่น ออกประกาศหรือกฎกระทรวงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พอ