เปิดบ้านงานวิจัยปี61 สนองรัฐ 'ตลาดนำ วิชาการเกษตรทำได้'

เปิดบ้านงานวิจัยปี61 สนองรัฐ 'ตลาดนำ วิชาการเกษตรทำได้'

กรมวิชาการเกษตรเตรียมจัดใหญ่ เปิดบ้านงานวิจัยปี61 สนองรัฐ “ตลาดนำ วิชาการเกษตรทำได้” หวังยกระดับภาคเกษตรกรไทยสู่มาตรฐานสากล

นายอุทัย นพคุณวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะประธานโครงการจัดงาน“เปิดบ้านงานวิจัยประจำปี 2561”เปิดเผยว่าในระหว่างวันที่ 25-28 พฤษภาคม 2561 นี้ กรมวิชาการเกษตรได้กำหนดจัดงาน “เปิดบ้านงานวิจัย” ประจำปี 2561 ภายใต้สโลแกน“ตลาดนำ... วิชาการเกษตรทำได้” ณ บริเวณกรมวิชาการเกษตรและสวนเฉลิมพระเกียรติ 55 พรรษาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จตุจักร กรุงเทพฯ เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรที่สำเร็จแล้วสู่สายตาประชาชนมีทั้งผลงานวิจัยและพัฒนาด้านพืช เครื่องจักรกลการเกษตร เทคโนโลยีใหม่ รวมถึงการให้บริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตร ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตและเป็นช่องทางสร้างรายได้เพิ่มขึ้นและนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้

รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเผยต่อว่ากรมวิชาการเกษตรมีภารกิจหลักเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาพืช เครื่องจักกลการเกษตรและปัจจัยการผลิตเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสู่กลุ่มเป้าหมายทั้งภาครัฐ เอกชนและเกษตรกร ให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ ตรวจสอบรับรองมาตรฐานสินค้าพืช รวมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับดิน น้ำ ปุ๋ย พืช วัสดุการเกษตร ผลผลิตและผลิภัณฑ์พืชเพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตพืชให้มีคุณภาพและความปลอดภัยสู่ผู้บริโภคตามมาตรฐานสากลและเพื่อให้บริการการส่งออกสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรมีผลงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง นำไปต่อยอดเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งงานบริการที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบและได้มีการเผยแพร่เพื่อสร้างการรับรู้ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

“เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้แก่กลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง กรมวิชาการเกษตร จึงได้กำหนดจัดงานเปิดบ้านงานวิจัยกรมวิชาการเกษตรอีกครั้ง หลังหยุดจัดไป 2 ปีคือปี 2559และ2560 เนื่องจากเป็นช่วงงานพระราชพิธีพระบรมศพในหลวงร.9 ปีนี้เราจัดภายใต้ธีม“ตลาดนำ.. วิชาการเกษตรทำได้”เพื่อสนองนโยบายไทยแลนด์4.0 ของรัฐบาล และที่สำคัญเป็นการนำผลงานวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยีการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำจากศูนย์วิจัยในสังกัดกรมวิชาการฯทั่วประเทศ มาจัดแสดงให้กับผู้สนใจได้ชมกัน”

นายอุทัยกล่าวอีกว่าสำหรับพืชเศรษฐกิจ 5 ชนิดหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลังและยางพาราแล้วยังมีผลไม้ยอดฮิตอย่างทุเรียน ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคโดยเฉพาะชาวจีน โดยมีอาลีบาบาเข้ามาส่งเสริมการตลาดนั้น ก็จะมีการจัดแสดงกระบวนการผลิตทุเรียนคุณภาพตั้งแต่การปรับปรุงพันธุ์ การดูแลรักษา วิธีการป้องกันโรคและแมลง การบรรจุรับรองทุเรียนอย่างละเอียดในทุกขั้นตอนเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาดด้วย

“เราจะนำพืชที่ต้องการมาจัดแสดงโชว์ในกระบวนการผลิตอย่างละเอียดในทุกขั้นตอน อย่างเช่นข้าวไทยที่มีสิ่งปลอมปนเราก็มีนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาตรวจหาสิ่งเหล่านี้ หรือทุเรียนปลูกอย่างไรให้ผลผลิตมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด เราก็จะเริ่มกันตั้งแต่การปรับปรุงพันธุ์ การดูแลรักษาต้นทุเรียน วิธีการป้องกันโรคและแมลง เทคนิคการดูทุเรียนอ่อน แก่ รวมถึงวิธีการบรรจุหีบห่อเพื่อส่งออก เรานำมาจัดแสดงโชว์ให้ดูทั้งหมด หรือการปลูกพืชตระกูลถั่วหลังนาเสริมรายได้ให้กับเกษตรกร เราก็มีนักวิชาการคอยแนะนำอย่างละเอียดถึงขั้นตอนต่าง ๆ”

รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรย้ำด้วยว่าสำหรับงานเปิดบ้านงานวิจัยครั้งนี้มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมายที่ประชาชนสามารถเรียนรู้และนำไปต่อยอดปรับใช้ได้ ตลอดจนผู้ประกอบการภาคเอกชนที่สนใจ อาทิการจัดแสดงผลงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ การคุ้มครองพันธุ์พืช เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม เครื่องจักรกลการเกษตร รวมถึงวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตผลเกษตร ตลอดจนเทคโนโลยีการผลิตอาหารปลอดภัย กระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชสวนและพืชไร่ การจัดแสดงเมล็ดพันธุ์พืชไร่ พืชสวน ท่อนพันธุ์ปลอดโรค การจัดแสดงพันธุ์ปาล์มน้ำมัน เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม โรคและแมลงและการป้องกันกำจัด การแปรรูปและการนำไปใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีโซนอารักพืชจัดแสดงการควบคุมแมลงศัตรูมะพร้าวแบบผสมผสาน การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี การป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้เพื่อการส่งออก การจัดแสดงลักษณะอาการของโรคพืชในผักและผลไม้ พร้อมวิธีป้องกันกำจัด และพิพิธภัณฑ์แมลง ซึ่งเหมะสำหรับเด็ก ๆ ได้เข้ามาเรียนรู้

นอกจากนี้ยังมีการสาธิตกระบวนการการผลิตกาแฟ มะพร้าว และชาครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาพันธุ์ เทคโนโลยีการผลิต การเก็บเกี่ยวและการแปรรูป การผลิตไม้ผลนอกฤดู สมุนไพรเพื่อสุขภาพและความงาม เป็นต้น ในส่วนของสวนเฉลิมพระเกียรติ 55 พรรษาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งผู้เข้าชมจะได้สัมผัสบรรยากาศการทำเกษตรทฤษฎีใหม่และพรรณพืชหายาก ซึ่งรวบรวมไว้ในพื้นที่ 17 ไร่ และยังมีการแจกพันธุ์ไม้ผลพันธุ์ดี เช่น มะม่วง ส้มโอ ชมพู่ มะนาว ต้นกล้าพืชผัก ให้ผู้ที่ต้องการนำไปปลูกด้วย

“ภายในงานยังมีกิจกรรมสันทนาการและการอบรมสาธิตฝึกอาชีพระยะสั้น อาทิ สาธิตการชงชา สาธิตการทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น พล่าเต้าเจี้ยวทรงเครื่อง การปลูกไม้อวบน้ำด้วยวิธีต่อยอด การทำน้ำเต้าหู้จากถัวลิสง การคั่วกาแฟ การแปรรูปขมิ้นชัน และการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารอีกหลายชนิด ซึ่งอบรมให้ฟรี และยังมี จำหน่ายสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ฝีมือชาวบ้าน และมีการออกร้านจำหน่ายพันธุ์พืชผักและผลไม้ จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมชมงานเปิดบ้านงานวิจัยในระหว่างวันที่ 25-28 พฤษภาคมนี้ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น”รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวเชิญชวน

“ฟิล์มห่อขนม-ปุ๋ยอินทรีย์" ผลงานวิจัยเด่น

นภัสสร เลียบวัน นักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ กลุ่มวิจัยและพัฒนาการแปรรูปผลิตผลเกษตร กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร นักวิจัยฟิล์มห่อขนม ซึ่งจะนำมาโชวืในงานเปิดบ้านงานวิจัยในปีนี้ด้วย โดยเธอเล่าว่าผลงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการนำพืชที่มีสารเพคตินสูงมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ฟิล์ม โดยนำแครอทมาบดให้ละเอียดจากนั้นมาอบด้วยอุณหภูมิที่ 70 องศาเซลเซียสแล้วเติมสารบางอย่างลงไปเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น ใช้ไม้คนประมาณ 30 นาที ก่อนนำมาขึ้นรูป โดยเทลงบนเพลทที่เตรียมไว้ จากนั้นนำไปอบด้วยอุณหภูมิ 70 องศา นาน 18 ชั่วโมงก็จะได้เป็นแผ่นฟิล์มสำหรับการห่อขนมเพื่อรับประทาน

"แทนที่เราจะทานผลแคลอท เราก็สามารถทานฟิล์มจากแคลอทแทนก็ได้ เพียงแค่การเปลี่ยนรูปไปจากเดิมเท่านั้น แต่คุณค่าทางโภชนาการยังเหมือนเดิม มีเบต้าแคโรทีนและกากใยสูงเหมาะสำหรับคนรักสุขภาพ ผู้มาเทีย่วงานสามารถมาลองทานดูได้ค่ะ"นักวิจัยคนเดิมกล่าว

สุปราณี มั่นหมาย นักวิจัยกลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตรเจ้าของผลงานวิจัยปุ๋ยอินทรีย์หากหลายชนิดที่ใช้สำหรับพืชสวนและพืชไร่ ซึ่งจะนำมาแจกให้กับผู้สนใจภายในงานด้วย เธอบอกว่าปุ๋ยอินทรีย์ที่นำมาจัดแสดงในงานนั้นมีหลายประเภท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของพืชที่จะนำไปใช้สำหรับการปลูกพืชในระบบอินทรีย์เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้ผลิตเพื่อจำหน่ายให้กับเกษตร สนนราคาถุงละ 20-30 บาทต่อครึ่งกิโลกรัม

“ปุ๋ยอินทรีย์ที่เราผลิตมีหลากหลายเช่นใช้สำหรับพืชตระกูลถั่ว ไม้ผล พืชผักสมุนไพร พืชแต่ละชนิดจะต้งอการธาตุอาหารที่แตกต่างกันไปเราก็ผลิตให้เหมาะกับพืชชนิดนั้น ๆ วันงานจะมีตัวอย่างให้ชมและแจกฟรีสำหรับผู้ที่ร่วมกิจกรรมด้วย” นักวิจัยคนเดิมกล่าวย้ำ