จี้ออกกฎหมายห้ามขายน้ำเมาออนไลน์

จี้ออกกฎหมายห้ามขายน้ำเมาออนไลน์

เอ็นจีโอยื่นรมว.สธ. จี้ออกกฎหมายลูก คุมขายน้ำเมาออนไลน์ ระบุเป็นวิธีการขายใหม่ที่กฎหมายต้องตามให้ทัน ฟันเด็ดขาดเพจโฆษณาเบียร์ยี่ห้อดัง ระบุเลี่ยงช่องทางจากทีวีที่กฎหมายห้าม เล็งเอาผิดตามพ.ร.บ.คอมฯด้วย เตือนคนโพสต์-แชร์ต่อเข้าข่ายส่งเสริม มีความผิด

        เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา นำโดยนายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ เดินทางมายื่นหนังสือถึงศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) เพื่อขอให้มีการพิจารณาเอาผิด 4 เพจดัง ที่รับรีวิวโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีการเชื่อมโยงกับบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยักษ์ใหญ่ เข้าข่ายผิดเรื่องการโฆษณาตามมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 รวมถึง ทบทวนปรับปรุงกฎหมายลูกของพ.ร.บ.นี้ให้ครอบคลุมความผิดในเรื่องการขายออนไลน์ โดยมีนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)รับหนังสือแทน

นายคำรณ กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่ามีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านทางออนไลน์ ซึ่งยังมีความคลุมเครือว่าจะเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯหรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการตีความว่าวิธีการขายเช่นนี้ผิดกฎหมายหรือไม่ เหมือนเช่นกรณีการตีความการขายเบียร์ผ่านเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติในร้านสะดวกซื้อที่ อนุกรรมการพิจารณาการกระทำความผิดตามพรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เคยตีความว่าจะเข้าข่ายความผิดขายโดยวิธีต้องห้ามตามมาตรา30 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ซึ่งจะต้องมีพิจารณาอย่างเร่งด่วนและออกเป็นกฎหมายลูกกำหนดการขายออนไลน์เป็นวิธีต้องห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อไม่ให้มีการใช้ช่องว่างของกฎหมาย

นายคำรณ กล่าวอีกว่า จากการเฝ้าระวังติดตามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะนี้พบว่ามีการใช้ช่องทางสื่อออนไลน์โฆษณาเพิ่มมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายที่ห้ามโฆษณาทางโทรทัศน์ ล่าสุด พบว่า บริษัทเบียร์ยักษ์ใหญ่ ได้จัดทำโฆษณาเบียร์ที่เห็นทั้งขวด ทั้งยี่ห้อ มีการแจกของพรีเมี่ยม ของรางวัลต่างๆ และเผยแพร่ทางเพจ “ขี้เมาล่าเรื่อง” ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 3 แสนคน และในเพจ “แดกเหล้า เมาเบียร์ เพลียไวน์” มีผู้ติดตาม 1.8 แสนคน โดยพบว่าหลังมีการเผยแพร่โฆษณาดังกล่าวมีคนกดถูกใจ และแชร์ข้อมูลโฆษณาต่อจำนวนมาก จากพฤติการณ์นี้ทางเครือข่ายมองว่าเป็นทำผิดมาตรา 32 เรื่องการโฆษณาอย่างชัดเจน และผิดมาตรา 30 (5) เรื่องการส่งเสริมการขายด้วย จึงขอเรียกร้องให้สธ. เร่งพิจารณาเอาผิดบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดังกล่าว ขอให้แจ้งเตือนประชาชนให้ทราบว่าการกดแชร์ กดถูกใจ อาจจะเข้าข่ายส่งเสริมการขายและโฆษณาด้วย

“จะเห็นว่าที่ผ่านมาขนาดกลุ่มศิลปินดาราคาที่เคยโพสต์ขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของอีกยี่ห้อหนึ่งลงในอินสตราแกรมส่วนตัวยังมีความผิด ส่วนอันใหม่นี้ยิ่งกว่าอีกเพราะเป็นรูปแบบของการโฆษณาอย่างชัดเจน 100% เพราะมีการโชว์ขวด โชว์ถ้อยคำเชิญชวนชัดเจนซึ่ งกฎหมายบอกว่าแบบนี้ทำไม่ได้ แต่เป็นการเลี่ยงโดยเปลี่ยนจากการโฆษณาทางทีวีที่กฎหมายห้ามมาเป็นการโฆษณาทางออนไลน์แทน และเป็นกระทำที่เข้าข่ายความผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560ด้วย เพราะเอาข้อมูลที่ผิดกฎหมายมาโฆษณา และเพจที่เอามาลงนั้น ก็คิดว่าน่าจะเป็นเพจของบริษัทเองหรือไม่ เพราะพบว่ามีลิ้งค์เชื่อมโยงฃไปที่เว็บไซต์ของบริษัทโดยตรง ขอให้แก้กฎหมายคุมทั้งการโฆษณาออนไลน์ และการขายแบบออนไลฯ” นายคำรณ กล่าว

       ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า รับเรื่องนี้เพื่อส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป ทั้งเรื่องการโฆษณา การปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ส่วนกรณีประชาชนกดไลค์ กดแชร์ อาจจะเป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็ต้องดูเจตนาของการกระทำ แต่อยากเตือนประชาชนว่าต้องชัวร์ก่อนแชร์ และหากไม่มั่นใจข้อมูลที่อยู่ในโซเชียลมีเดียถูกต้องหรือไม่ โดยเฉพาะข้อมูลที่อาจจะเป็นคุณเป็นโทษต่อสังคมก็ไม่ควรแชร์ต่อ

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรา 30 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 30 ที่กำหนดวิธีการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ไม่ได้ระบุถึงการห้ามขายผ่านออนไลน์ แต่มีการกำหนดถึงวิธีหรือลักษณะที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด จึงต้องมีการพิจารณาทบทวนเพื่อให้มีการประกาศกำหนดห้ามขายวิธีออนไลน์

          สำหรับวิธีการต้องห้ามตามกฎหมายในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ ใช้เครื่องขายอัตโนมัติ การเร่ขาย การลดราคาเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย ให้หรือเสนอให้สิทธิในการเข้าชมการแข่งขัน การแสดง การให้บริการ การชิงโชค การชิงรางวัล หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดเป็นการตอบแทนแก่ผู้ซื้อ การแจก แถม ให้หรือแลกเปลี่ยนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และวิธีหรือลักษณะอื่นใดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด