จัดการศพไทยในบันทึกต่างชาติ

สมัยก่อนพิธีเผาศพเรียบง่าย จะเผากลางแจ้ง โดยชาวบ้านจะถือฟืนคนละดุ้นมาร่วมงานเผาศพ

.....................................................

วัดเขาวัง(วัดมหาสมณาราม)ที่อยู่ตีนเขาวัง เมืองเพชรบุรีนั้น ในพระอุโบสถมีจิตรกรรมงามสำนักขรัวอินโข่ง สีสันยังสดแจ่ม ทั้งที่ครูช่างเมืองเพชรได้เขียนภาพจาริกธรรมชุดนี้มาตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 4

ภาพหนึ่งที่ดิฉันเวียนดูมาแต่เด็ก คือ ภาพชาวบ้านไทยเกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่วัดเขาวังครูช่างเขียนภาพไว้ตั้งแต่หญิงท้องแก่กำลังถูกหมอตำแยขย่มท้องเอาลูกออก ภาพเลี้ยงเด็กแดงๆ แรกเกิด ภาพเด็กน้อยโตเป็นหนุ่มสาว ภาพออกเรือนแต่งงาน จนแก่เฒ่าป่วยไข้ หามศพลงโลง และยังได้เห็นภาพการเผาคนบนเชิงตะกอน ไฟลุกคึ้กๆ

วิธีเผาศพกลางแจ้งเช่นในจิตรกรรมวัดเขาวังนี้ ดิฉันเคยเห็นของจริงเมื่อร่วมสามสิบกว่าปีก่อน ที่หมู่บ้านกลางทุ่งไกลลิบ จ.ขอนแก่น ครั้งที่ดิฉันยังเรียนปริญญาโทอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรแล้วไปลงพื้นที่เก็บข้อมูลเมืองขอนแก่น จำได้ว่าชาวบ้านจะถือฟืนคนละดุ้นมาร่วมงานเผาศพ พวกเขาไม่ได้ใส่เสื้อดำด้วยซ้ำ แต่งตัวตามมีตามเกิด ใส่เสื้อสีตุ่นๆ มอมๆไม่ฉูดฉาด ศพวางบนกองฟืนกลางลานหญ้าท้ายวัด ระหว่างเผาไฟลุกท่วมคนร่วมงานก็นั่งกระจัดกระจายอยู่ริมลานหญ้า ดูไฟไหม้โลงไหม้ศพ มือหงิกตัวหงิก เห็นชัดตรงหน้า ได้เจริญมรณานุสติกันอย่างไม่ยากเย็นอะไร

นับว่าโชคดีที่ดิฉันเคยเห็นการเผาศพจริงๆ ทำกลางแจ้งตอนบ่ายจัด เห็นชาวบ้านมาร่วมงาน เห็นซากศพกลางดุ้นฟืน จึงพอจะเชื่อมโยงกับจิตรกรรมการเผาศพที่ผนังโบสถ์วัดเขาวัง เมืองเพชรได้ ให้ดูแล้วซาบซึ้งใจในชีวิตวันวานของคนไทยครั้งดั้งเดิมยิ่งนัก

แต่การทำศพแบบโบราณของไทยจบสิ้นไปหลายสิบปีแล้ว ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปแทบไม่เห็นฝุ่น ดุ้นฟืนที่ชาวบ้านเอามาช่วยกันเผาศพ แปรสภาพไปเป็นดอกไม้จันทน์แจกกันก่อนขึ้นเผาหลอก เชิงตะกอนหรือกองฟืนตั้งศพกลายเป็นเมรุก่อปูนแข็งแรง ศพอุจาดที่เคยกระตุกพราดๆหงิกงอให้เห็น ถูกบรรจุปิดหายอยู่ในเตาเผา มาได้เห็นอีกทีตอนเสร็จพิธี เหลือแค่กองเถ้าอังคารกับเศษกระดูกไม่กี่ชิ้น

ครั้นได้ดูภาพทำศพวัดเขาวังแล้ว ดิฉันก็นึกถึงละครทีวีเรื่องบุพเพสันนิวาสอันโด่งดังยิ่งๆอยู่ในช่วงที่ผ่านมา ชัดเจนสุดๆก็คือ บุพเพสันนิวาสสามารถมีอิทธิพลขยับเปลี่ยนสังคมไทย เขย่าอย่างถึงรากให้กลับไปสู่แรงถวิลหาที่จะนำวิถีวันวานให้กลับมามีชีวิตทับซ้อนอยู่ในโลกสยามปัจจุบัน โดยบุพเพสันนิวาสได้จำลองภาพการทำอาหาร กิน ขี้ สีฟัน อาบน้ำ เฆี่ยน โบย เข้านอน แต่งงาน ฯลฯ หลากหลายฉากชีวิตคนไทย แต่ที่ยังไม่เข้าไปเปิดเปลือกแสดงภาพให้ปรากฏ เห็นจะเป็นเรื่องของการทำศพในวันวาน 

ซึ่งปัจจุบันพอจะมีหลักฐานเหลือค้างให้เห็นได้บ้างก็จากจิตรกรรมฝาผนังตามโบสถ์วิหารต่างๆ และภาพถ่ายจำนวนน้อยมากๆ ที่คนต่างชาติได้บันทึกไว้ แต่ช่างภาพไทยยุคแรกๆไม่ค่อยสนใจ เพราะเป็นเรื่องธรรมดามากของชีวิต

และนั่นก็เป็นเหตุให้ดิฉันกลับมาเปิดค้นดูในหนังสือจดหมายเหตุ-บันทึกการเดินทางของฝรั่งหลายๆคนที่เคยเข้ามาในแผ่นดินสยามเมื่อสามสี่ร้อยปีก่อน จนกระทั่งในยุคต้นรัตนโกสินทร์นี้ว่ามีการจดจารไว้บ้างไหม ว่าฝรั่งเหล่านั้นเคยเข้าไปเสาะหา ค้นดูเรื่องผี-เรื่องศพในเมืองสยามกันไว้อย่างไร?

ในสมัยอยุธยา มร. เดอะ ลาลูแบร์ ทูตฝรั่งเศสผู้เข้ามาเมืองไทยช่วงปลายแผ่นดินพระนารายณ์ ยุคสมัยเดียวกับ “ออเจ้า” แม่การะเกดแห่งบุพเพสันนิวาสนั้นแหละ ลาลูแบร์ได้บันทึกถึงเรื่อง “การปลงศพของชาวสยาม”  ไว้ในจดหมายเหตุของตนว่า

“เมื่อบุคคลถึงแก่ความตายลง เขาก็เก็บศพผู้ตายลงไว้ในโลงไม้ ซึ่งเขาทายางรักทางด้านนอก และลางทีก็ปิดทองด้วย แต่โดยที่น้ำยางรักของสยามไม่ค่อยดีเท่าของประเทศจีน และไม่อาจป้องกันกลิ่นเหม็นของศพมิให้รั่วระเหยออกมาตามแนวโลงที่ครากไว้เสมอไป เจ้าศพจึงพยายามอย่างน้อยที่สุดก็ทำลายไส้ของผู้ตายเสียด้วยปรอท ซึ่งเขากรอกเข้าไปในปากศพ และกล่าวกันว่ากลับไหลออกมาได้ทางทวารหนัก”

  ลาลูแบร์ยังบันทึกไว้อีกว่า ชาวสยามที่เขาได้พบเห็นจะเก็บศพไว้ในบ้านเรือนตน แต่ละคืนจะมีพระมาสวดศพในลักษณะที่ “ท่านนั่งเรียงกันไปตามแนวฝาห้อง เจ้าศพก็จะรับรองเลี้ยงดูและถวายปัจจัยบ้าง มนตร์ที่ท่านสวดนั้นเป็นธรรมะว่าด้วยความตาย พร้อมกับบอกทางสวรรค์”

  สำหรับการเผาศพนั้น ลาลูแบร์เล่าว่า ชาวบ้านอยุธยาจะจัดการด้วยวิธี

“ในระหว่างที่ตั้งศพไว้นั้น ญาติเจ้าของศพก็เลือกสถานที่แห่งหนึ่งในท้องนาสำหรับจะชักศพไปเผาที่นั่น สถานที่นั้นตามปกติมักจะเป็นที่ใกล้วัด....

  เมื่อถึงปัญหาที่จะชักศพไปสู่เมรุ(ซึ่งธรรมดาจะกระทำกันในตอนเช้า) ญาติพี่น้องและมิตรสหายเป็นผู้ยก(หีบ)ศพ มีประโคมด้วยเครื่องดนตรีนานาชนิด หีบศพนั้นหามออกนำหน้า ถัดจากนั้นก็ถึงบุคคลในครอบครัวของผู้ตายทั้งชายและหญิงล้วนแต่งขาว ศีรษะของคนตามศพคลุมด้วยผ้าสีขาว และร้องไห้คร่ำครวญเป็นอันมาก ต่อจากนั้นก็ถึงขบวนมิตรสหายและญาติของผู้ตาย ถ้าขบวนแห่นั้นสามารถกระทำโดยทางน้ำได้จนถึงที่เผา เขาก็กระทำกัน...

  เขาไม่เผาโลงด้วย แต่เขานำเอาศพออกวางบนกองฟืน และพระภิกษุในวัดที่อยู่ใกล้ที่ทำเมรุเผาศพก็มาสวดมนต์อยู่ราวสักเสี้ยวชั่วโมง ครั้นแล้วก็ถอยจากไปไม่กลับมาอีก บัดนั้นก็เริ่มการมหรสพมีโขนและระบำ ซึ่งเขาจัดให้แสดงพร้อมๆกันตลอดทั้งวัน แต่ต่างโรงกัน หาใช่บนเวทีเดียวกันไม่ พระภิกษุสงฆ์เห็นไม่สมควรที่จะอยู่ที่นั่น ด้วยเกรงได้บาปเป็นอาบัติ...

  พอได้เวลาเที่ยงวัน ตาปะขาวหรือคนรับใช้ของพระภิกษุสงฆ์ก็จุดเพลิงที่กองฟืน ซึ่งตามปกติมักจะเผาลุกอยู่ราว 2 ชั่วโมง ไฟไม่เคยเผาศพให้มอดไหม้หมดไปเลย ชั่วแต่ย่างเท่านั้น และมักจะไม่ค่อยเกรียมเสียด้วย แต่ถือกันว่าเพื่อเกียรติของผู้ตาย ศพนั้นจะต้องได้รับการเผาให้มอดไหม้ไปหมดสิ้นบนเนินสูง จนที่สุดเหลือแต่อังคารเท่านั้น...

  ธรรมเนียมในงานปลงศพของชาวสยาม มีที่จะกล่าวแถมก็คือ เขาทำให้งานศพสวยงามขึ้นด้วยการจุดดอกไม้ไฟเป็นอันมาก และถ้าเป็นงานปลงศพบุคคลที่มีวาสนาบารมีมากแล้ว ก็จะมีการจุดดอกไม้ไฟติดต่อกันไปตลอดทั้ง 3 วัน 3 คืน...

  เมื่อศพของชาวสยามได้รับการเผาดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมานี้แล้ว งานมหรสพทั้งปวงก็เป็นอันยุติ เจ้าของศพเก็บส่วนที่เหลือของร่างกายคืออัฐิกับอังคารเข้าไว้ในโลงโดยไม่มีพิธีรีตองอะไรทั้งนั้น และนำสิ่งเหล่านี้ไปฝังไว้ใต้พีรามิดองค์หนึ่ง ซึ่งมีอยู่รายรอบพระอุโบสถ ลางทีก็ฝังอัญมณีและสิ่งมีค่าอื่นๆลงไปไว้ปนกับอัฐิด้วย เพราะถือกันว่าได้ฝังไว้ในสถานที่ซึ่งพระศาสนาช่วยป้องกันไว้มิให้ผู้ใดละเมิดได้”

  พีรามิดใช้บรรจุกระดูกผู้ตายและของมีค่าต่างๆ ที่ลาลูแบร์กล่าวถึงไว้ตั้งแต่ 300กว่าปีก่อนนี้ ก็คือเจดีย์เรียงรายอยู่รอบพระอุโบสถ ที่กระทั่งปัจจุบัน ขุนนาง ข้าราชการ ชาวบ้านไทยทุกระดับชนชั้น ยังคงใช้ “บรรจุกระดูก” ผู้ตายสืบต่อกันตลอดมา ดังเช่นที่วัดเพชรพลี เมืองเพชรบุรีนี้ ก็มีเจดีย์บรรจุกระดูกของพันโทพโยม จุลานนท์ อดีตผู้นำทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ท่านเป็นบิดาของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ของบ้านเมืองเรา

ในสมัยอยุธยา ยุคพระนารายณ์มหาราช ทูตฝรั่งเศสอย่างลาลูแบร์ได้บันทึกเรื่องราวการทำศพของคนสยามเอาไว้ให้เราได้เห็นภาพค่อนข้างแจ่มชัด แต่ยังมีการทำศพที่ชวนขนลุก เสียวสยองยิ่งกว่านี้ ที่เชื้อพระวงศ์ชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งผู้เข้ามาเมืองไทยสมัยปลายรัชกาลที่ 4 ได้เขียนบันทึกการทำศพของคนไทยยุคนั้นไว้อย่างละเอียด 

ซึ่งดิฉันจะนำมาเล่าให้ฟังต่อไปในครั้งหน้า อันเป็นการบอกเล่าถึงเรื่องราวการทำศพของคนไทยยุคสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

...............................................................