จี้รัฐใช้ม.44แก้ธรรมาภิบาลอุดมศึกษา

จี้รัฐใช้ม.44แก้ธรรมาภิบาลอุดมศึกษา

ตัวแทนกลุ่มขับเคลื่อนธรรมาภิบาลฯ บุกพบ “ธีระเกียรติ” ขอเร่งแก้ไขปัญหาธรรมภิบาลในสถาบันอุดมจริงจัง ทั้งม.44 และมาตรการปราบทุจริต ชี้ 2 ปียังไม่เห็นตัวอย่างการลงโทษผู้ที่กระทำผิด

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 61 กลุ่มขับเคลื่อนธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เดินทางเข้าพบ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อยื่นข้อเสนอการแก้ไขธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เพื่อดำเนินการ กรณีการละเว้น หรือไม่จริงจังในการดำเนินการตามคำสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 39/2559 และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้านการป้องกันและปราบปรามทุจริต โดยมี นพ.โสภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. รับเรื่องแทน


นายจอห์นนพดล วศินสนุทร ตัวแทนกลุ่มขับเคลื่อนธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 39/2559 เรื่อง การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา โดยอาศัยอำนาจมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อปฏิรูประบบธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ที่ผ่านมาก็ได้นำไปใช้กับหลายมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกัน ช่วง 2 ปีมานี้ มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่มีพฤติการณ์เข้าข่ายทุจริตคอรัปชันแต่ไม่มีการตรวจสอบ หรือมีหน่วยงานเข้าตรวจสอบชี้มูลชัดเจน แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินใดๆ ไม่มีการนำม.44 เข้ามาควบคุม


“ที่ผ่านมาไม่เห็นตัวอย่างว่า ผู้กระทำความผิดถูกลงโทษ หรือถูกดำเนินการทางวินัย ตอนนี้ผ่านมาเป็นปีๆ กลุ่มประชาคมชาวอุดมศึกษาเห็นว่าคำสั่ง ม.44 อาจจะไร้น้ำยา หรือ ดื้อยา และมาตรการป้องกันและปราบทุจริตในระบบราชการของ คสช. ก็อาจจะไม่เกิดผลจริงจัง ซึ่งตอนนี้ที่จับตามองอยู่คือกรณีของ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ผ่านการกระบวนการตรวจสอบต่างๆมาแล้วอยู่ระหว่างเสนอ รมว.ศึกษาธิการ เสนอขอใช้คำสั่งม.44 ก็รอดูอยู่ว่าจะดำเนินการเช่นไร”นายจอห์นนพดล


พนักงานมหา’ลัยเดือดร้อนเปิดโปงทุจริต


นายจอห์นนภดล กล่าวต่อไปว่า ปัญหาทุจริตคอรัปชันในสถาบันอุดมศึกษาช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นเหตุอีกสาเหตุของปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา กลุ่มพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ที่ออกมาเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลได้รับผลกระทบถูกตั้งกรรมการสอบวินัย แม้ปีนี้จะตรวจสอบพบความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นชัด แต่กลุ่มพนักงานมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้รับการเยียวยา ทั้งที่ตามกฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำหนดว่าต้องดูแลข้าราชการที่ออกมาดูแลผู้ให้ข้อมูลทุจริต แต่เนื่องจากอาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย การดูแลจึงไม่ครอบคลุมทำให้ไม่กล้าออกมาให้ข้อมูลหรือปรากฏตัวเพราะไม่เกรงได้รับผลกระทบ หรือถูกกลั่นแกล้ง

ชง8มาตรการปฏิรูปธรรมาภิบาลในอุดมฯ


อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้กลุ่มขับเคลื่อนธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ได้เสนอมาตรการที่จะช่วยรักษาระบบธรรมาภิบาลในอุดมศึกษา 7 ข้อ ได้แก่ 1.บังคับให้สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งปฏิบัติตามคำสั่ง คสช.ที่ 39/2559 และมาตรการป้องกันและปราบทุจริตของ คสช.อย่างจริงจัง มีการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด 2.การได้มาซึ่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยทุกส่วน ต้องมิให้ดำรงตำแหน่งเกิน2วาระติดต่อกันและให้เว้นห่างการดำรงวาระเมื่อครบ2วาระไปอีก 2 ปี 3.ให้กรรมการสภาที่แต่งตั้งมาจากฝ่ายบริหารไม่มีสิทธิลงคะแนนในที่ประชุม หากอดีตอธิการบดีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาเดิมลงสมัครสรรหาเพราะเป็นประโยชน์ทับซ้อน และให้การเลือกสรรหาอธิการบดี ต้องใช้การหยั่งเสียงและผลคะแนนถือเป็นเสียงกรรมการสภาฯฝ่ายตัวแทนคณาจารย์ทุกประเภท 4.การดำเนินการประชุมสภามหาวิทยาลัยต้องถ่ายทอดสดให้ประชาคมรับทราบ ยกเว้นมติลับตามกฎหมาย


5.ให้บุคลากรในสถาบันที่เป็นผู้ร้องเรียน หรือให้ข้อมูลทุจริต ต้องได้รับการคุ้มครองโดยใช้แนวทางตามกฎหมาย และส่งเรื่องให้หน่วยงานภายนอกตรวจสอบต่อไป 6.กรณีผู้บริหารอยู่ระหว่างการสอบสวนในคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ เมื่อมีมูลเชื่อถือได้ ให้ผู้บังคับบัญชาที่สูงกว่ามีคำสั่งพักงานในตำแหน่งจนกว่าคดีจะแล้วเสร็จ 7.ลงโทษวินัย หรือเรียกละเมิดแก่ฝ่ายบริหารและผู้บังคับบัญชา กรณีการใช้อำนาจหรือคำสั่งทางปกครองไม่เป็นธรรม และ8.ส่งเสริมจัดตั้ง “สหภาพพนักงานมหาวิทยาลัยขึ้นในระดับประเทศ” เพื่อส่งเสริมพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาของรัฐ


อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มขับเคลื่อนฯ จะติดตามข้อเสนอที่ยื่นไว้และจะออกมาเคลื่อนไหวทำกิจกรรมเพื่อเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาในอุดมศึกษามากขึ้น


ด้าน นพ.โสภณ กล่าวว่า ปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา เป็นเรื่องที่ นพ.ธีระเกียรติ ให้ความสำคัญและพยายามแก้ไขปัญหา จากนี้จะนำเรื่องดังกล่าวรายงานให้ รมว.ศึกษาธิการ รับทราบต่อไป


สำหรับมหาวิทยาลัยที่พบมีการร้องเรียนเรื่องธรรมาภิบาลและเสนอให้มีการใช้ ม.44 เข้ามาดำเนินการ ได้แก่ ม.นครพนม มีปัญหาความขัดแย้งภายในรั้วมหาวิทยาลัย มายาวนานกว่า 8 ปี และมีข้อเสนอให้ใช้อำนาจม. 44 ตั้งคณะกรรมการเข้าไปควบคุม มนพ.หลายครั้ง โดยปัญหาที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยนั้น โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2553 จนถึงตอนนี้ โดยเมฆหมอกเริ่มตั้งเค้าเมื่อสภามหาวิทยาลัยนครพนม ซึ่งนายกสภาฯขณะนั้น (ศ.(พิเศษ)ดร.ภาวิช ทองโรจน์) มีคำสั่งให้ รศ.ดร.สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์ พ้นอธิการบดี ซึ่งรศ.ดร.สุวิทย์ ถูกประเมิน กึ่งวาระไม่ผ่าน ฟ้องร้องกันหลายคดี


จากนั้น มีการตั้งนายทัศนา ประสานตรี รักษาการอธิการบดี ทำงานได้แค่ 3 เดือน ก็ลาออก ระหว่างปี 2557-2558 ตั้งนายไพฑูรย์ พลสนะ รักษาการอธิการบดี อยู่ได้ 1 ปี ลาออก จนมา พ.ย. 2558 มีการสรรหาอธิการบดีได้ “รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์” นั่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม ขณะรอโปรดเกล้าฯ สภามหาวิทยาลัยนครพนมได้ตั้ง นายพรหมสวัสดิ์ ทิพย์คงคา รักษาการอธิการบดี 5 เดือนลาออก นอกจากนั้น ยังมีประเด็นอื่นๆ เช่น การแทรกแซงโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยนครพนม การก่อสร้างห้องทดลองวิทยาศาสตร์ ของคณะวิทยาศาสตร์ โดยทุกปัญหา นายกสภาฯ ก็ออกมาชี้แจงทุกเรื่อง


ขณะที่ ม.แม่โจ้ มีบุคลากรในมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้มาร้องเรียน กกอ.ว่าในมหาวิทยาลัยมีปัญหาเรื่องของธรรมาภิบาลหลายเรื่อง ซึ่งทาง กกอ. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อมาศึกษาปัญหาดังกล่าว รวมถึงเชิญผู้เกี่ยวข้องในมหาวิทยาลัยมาชี้แจง และได้สรุปความเห็นต่อ รมว.ศธ. ว่ามีปัญหาธรรมภิบาลเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยแม่โจ้จริง รวมทั้ง กกอ.ยังได้เสนอให้ รมว.ศธ. ใช้ดุลยพินิจ ว่า ควรจะเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ใช้ ม.44 กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้หรือไม่ ซึ่งเสนอรมว.ศธ. เห็นว่าควรที่จะเชิญนายกสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้มาคุยก่อน โดยให้มีการเชิญ ดร.อำนวย ยศสุข นายกสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ มาหารือ ซึ่งนายกสภาฯ ยอมรับว่ามหาวิทยาลัยแม่โจ้มีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลตามที่ร้องเรียนจริง แต่เป็นปัญหาธรรมาภิบาลของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ธรรมาภิบาลของสภามหาวิทยาลัย ปัจจุบัน ได้มีการยื่นเสนอให้ใช้ม.44
มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี มีหนังสือแจ้งพนักงานมหาวิทยาลัยว่า ไม่ต่อสัญญาจ้างในปีงบประมาณ 2560 โดยไม่มีการชี้แจงเหตุผล ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้ให้พนักงานส่งเอกสารหลักฐานเพื่อขอต่อสัญญา และพนักงานก็ได้ส่งเอกไปครบแล้ว การดำเนินการดังกล่าว อธิการบดีได้ใช้อำนาจโดยไม่ได้ผ่านมติของคณะกรรมการบริหารงานบุคคล หรือคณะกรรมการใด ๆ ของมหาวิทยาลัย ซึ่งขัดกับแนวปฏิบัติทางกฎหมายและขัดกับหลักธรรมาภิบาล