เตรียมรับมือเทคโนโลยีป่วนโลก

เตรียมรับมือเทคโนโลยีป่วนโลก

อีก 20 ปีข้างหน้า เพราะความปั่นป่วนของเทคโนโลยีหากรัฐลงมือทำบางอย่างหรือไม่ทำอะไรเลย จะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย

ในอนาคตจะมีเทคโนโลยีที่ยากจะคาดเดาเกิดขึ้นในโลกอีกมากมาย แค่รถยนต์ไร้คนขับที่เกิดแล้วในต่างประเทศ หุ่นยนต์ที่คาดการณ์ว่าจะเก่งพอๆ กับมนุษย์ รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงแอพพลิเคชั่น แพลตฟอร์มออนไลน์ใหม่ๆ ที่รองรับการเติบโตทางการเงิน การธนาคาร การขนส่ง ฯลฯ มีทั้งที่เกิดขึ้นแล้ว และกำลังพัฒนา

สิ่งเหล่านี้ ทำให้โลกเปลี่ยนอย่างแน่นอนแล้วคนไทยจะปรับตัวอย่างไร

ในงาน“ปรับทิศทางเศรษฐกิจไทยให้พร้อมสู่ยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี” นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute: TDRI)ตั้งคำถามชวนคิดมากมาย ทั้งเรื่องอนาคตประเทศไทยในยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี และอีก 20 ปีข้างหน้า หากเศรษฐกิจไทยถูกปั่นป่วน จากผู้ประกอบการต่างประเทศ หากรัฐไม่ปรับตัว จะเกิดอะไรขึ้น

ในอนาคตหลายประเทศจะทดแทนแรงงานราคาถูกในโรงงานด้วยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI-Artificial Intelligenceถ้าถึงตอนนั้นอุตสาหกรรมการผลิต อาจย้ายฐานไปสู่ประเทศที่ใช้หุ่นยนต์ก็เป็นได้รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติิที่มีระบบรับจ่ายเงินของตัวเองไม่ผ่านระบบธนาคาร และอะไรอีกมากมายที่่จะเกิดขึ้น

-1-

สิ่งที่เห็นชัดๆ ตอนนี้ ก็คือ เงินโฆษณากว่า 95 เปอร์เซ็นต์ในออนไลน์ไหลไปอยู่ในกระเป๋าผู้ประกอบการต่างชาติ ทั้งในเฟซบุ๊ค,ยูทูป,กูเกิล ฯลฯ

ในสาขาการขนส่ง รถอูเบอร์ และแอพเรียกรถ ได้เข้ามาเป็นคู่แข่งที่เหนือกว่าแท็กซี่ไทยลองจินตนาการดูว่า ในอนาคตอันใกล้ หากแรงงานไร้ฝีมือถูกแย่งงานโดยหุ่นยนต์ และรถยนต์ไร้คนขับเกิดขึ้นจริงในเมืองไทย อะไรจะเกิดขึ้น

“ผมรู้จักหลายคนในอเมริกาที่ไปทำงานแล้วปล่อยให้รถขับด้วยตัวเอง ในยุโรปเกิดกรณีที่มีรถบรรทุกวิ่งเป็นคาราวานตามกันไป โดยไม่มีคนขับและการวิ่งตามกันไปเป็นระยะทำให้ประหยัดพลังงาน เพราะลดแรงต้านทานของอากาศ นี่คือสิ่งที่กำลังทดลองในยุโรป”ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute: TDRI)กล่าว ซึ่งมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ ในแง่ข้อมูลการเปรียบเทียบ และการวิเคราะห์ เพื่อให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไร

ในแง่อุตสาหกรรม ดร.สมเกียรติ วิเคราะห์ว่า ถ้าเทคโนโลยีเหล่านี้เกิดขึ้นจริง เวลาเราเรียกรถ ก็เปิดแอพ แล้วรถยนต์ไร้คนขับก็วิ่งมาหาเรา ถ้าเป็นอย่างนั้น ครอบครัวหนึ่งก็ไม่ต้องซื้อรถหลายคันส่วนบริษัทที่ทำชิ้นส่วนรถยนต์บางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องประดิษฐ์ออกมา ยกตัวอย่าง บริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่งที่ผลิตกระจกมองหลัง มองข้าง มีความเชี่ยวชาญเรื่องผลิตกระจกให้มีแสงรบกวนน้อยที่สุด เปิดมากว่าร้อยปี ก็ต้องปรับตัว

“หากรถยนต์ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง กระจกมองข้างและมองหลังก็ไม่จำเป็น บริษัทญี่ปุ่นดังกล่าวคงหันไปทำเซนเซอร์ในรถยนต์แต่ถ้าให้ผมแนะนำ ก็ควรหันไปทำกระจกให้สุภาพสตรีแต่งหน้าในรถ เพราะไม่ว่ารถยนต์จะขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองหรือไม่ สุภาพสตรีก็ต้องสวยเสมอ เมื่อลงจากรถ”

 นี่คือสิ่งที่อุตสาหกรรมรถยนต์จะถูกเขย่าอย่างแรง โดยผู้วิจัย วาดภาพให้เห็นว่า หากรถยนต์ไร้คนขับกลายเป็นเรื่องธรรมดาในโลกใบนี้ การวางผังเมือง และการใช้ชีวิตก็ต้องเปลี่ยน

ดร. สมเกียรติ เปรียบเปรยให้เห็นว่า เมื่อก่อนใครจะขับแท็กซี่ในเมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นเรื่องยากมาก ลงทุนสูงต้องมีใบอนุญาติเพื่อเป็นเจ้าของรถแท็กซี่ ซึ่งราคาประมูลสูงขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมาจุดสูงสุดเคยมีราคา 1. 2 ล้านดอลล่าร์ แต่ปัจจุบันราคาของใบอนุญาติก็ตกลงอย่างรวดเร็ว เพราะคนขับแท็กซี่อูเบอร์ไม่ต้องซื้อใบอนุญาติ

“การเป็นแท็กซี่ลอนดอนนอกจากต้องซื้อรถแล้ว ยังต้องประมูลใบอนุญาติ เมื่อได้มาก็จะทำให้คนขับแท็กซี่มีรายได้ดีจนเกิดรถอูเบอร์และแอพบอกเส้นทาง คนก็ไม่ต้องจดจำเส้นทางเยอะๆ อีกแล้ว นอกจากแอพป่วนโลกอูเบอร์จะกระทบต่อแรงงาน ยังทำลายทักษะต่างๆ ทำลายกำไรส่วนเกินที่ทุนต่างๆ ได้มาและกำลังสร้างเศรษฐกิจใหม่ในรูปแบบแชร์ริ่ง เปิดโอกาสให้คนจำนวนมากเอาทรัพย์สินต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้อย่างเต็มที่มาทำมาหากินได้”

-2-

ว่ากันว่า เทคโนโลยีทั้งที่เกิดขึ้นแล้ว และกำลังค้นคว้าทดลอง จะมาป่วนโลกอีกมากมาย และมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม ที่เห็นได้ชัดวงการสื่อถูกกระทบอย่างมาก เมื่อคนหันไปเสพข่าวทางออนไลน์ดร.สมเกียรติ ตั้งคำถามว่า อีก 20 ปีข้างหน้า เพราะความปั่นป่วนของเทคโนโลยีหากรัฐลงมือทำบางอย่างหรือไม่ทำอะไรเลย จะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย โดยยกตัวอย่างสาขาสื่อ และสาขาการเงิน

“ในอนาคตถ้าคนดูสื่อออนไลน์มากขึ้น ดูทีวีและหนังสือพิมพ์ลดลง รายได้โฆษณาตอนนั้น ถ้ารัฐไม่ทำอะไรเลย ผมจินตนาการว่า คงเหลือแค่การโฆษณาทางป้ายตามถนนเท่านั้น ส่วนด้านการเงิน ถ้าไม่ปรับตัว ตอนนี้แพลตฟอร์มอาลีบาบาเข้ามาแย่งค่าธรรมเนียมโอนเงินแล้ว ส่วนด้านอุตสาหกรรมการผลิต ถ้าประเทศไทยไม่ใช้หุ่นยนต์ในโรงงาน จีนและอเมริกาใช้ การจ้างแรงงานก็จะไปอยู่ที่นั่น

ในด้านเกษตรมีเทคโนโลยีแทรกเตอร์อัจฉริยะ วิ่งไปตามไร่นา เก็บข้อมูลได้ละเอียด คำนวณการใส่ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงได้แม่นยำ หรือการปลูกมันหวานในญี่ปุ่น ก่อนจะส่งมาประเทศไทย ต้องผ่านการตรวจเซ็นเซอร์แสง เพื่อดูว่า เนื้อแน่นเพียงพอหรือไม่ “

นี่เป็นส่วนเล็กๆ ที่กล่าวถึงเทคโนโลยีป่วนโลก แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีงานอีกหลายสาขาที่ AI ไม่สามารถยึดครองได้คือ เรื่องความปราณีต ความละเอียด และงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงงานที่ใช้ความฉลาดทางสังคม ซึ่งหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ทำไม่ได้ จึงเป็นความหวังสำหรับคนไทย

 “ไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย งานดูแลผู้สูงอายุ หากคนดูแลเหล่านี้มีทักษะด้านพยาบาลด้วย ในอนาคต ถ้าจะมีเงินเดือนห้าหมื่นบาท ไม่ใช่เรื่องยาก ผมเคยไปดูธุรกิจหนึ่งในขอนแก่น ซึ่งเป็นจังหวัดไม่มีดินแดนติดทะเลแต่บริษัทขอนแก่นแหอวน เป็นแหล่งทำแหอวนใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งจับปลาน้ำจืดและปลาน้ำเค็ม ส่งออกหลายร้อยประเทศ ไปถึงอเมริกาใต้ นี่คือความเก่งของคนไทย พวกเขามีสินค้ามหาศาล แล้วเขาบริหารคลังสินค้ายังไงตอนนี้พวกเขาลดคนไปทำส่วนอื่น แล้วทำคลังสินค้าอัตโนมัติ นี่คือส่วนที่ผมคิดว่าจะเกิดขึ้นเร็วที่สุดในประเทศไทย” ดร.สมเกียรติ กล่าว

ในส่วนของเศรษฐกิจปราณีตที่ผสมผสานความคิดสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่จะอยู่กับโลกอีกยาวไกล เพราะมนุษย์ยังต้องการความสุขในการใช้ชีวิตที่ละเมียดละไม

“อีก 20 ปีข้างหน้า เราไม่พ้นกับดักรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศแบบปานกลาง นี่มองแง่ดีแล้ว เพราะเทคโนโลยีที่มาป่วนโลก มีแพลตฟอร์มมากมาย ทำให้สินค้าผลิตออกมาเยอะถ้ามสร้างความแตกต่างไม่ได้ ก็ขายไม่ได้ ดังนั้นจากฝีมือธรรมดาต้องพัฒนาสู่หัตถเทพ ก็คือเศรษฐกิจปราณีต

ยกตัวอย่างทุเรียนชั้นเยี่ยม ต้องซื้อในประเทศไทยเท่านั้น เฟอร์นิเจอร์ราคาเป็นแสนที่มีความแตกต่างจากเฟอร์นิเจอร์ทั่วไปกรอบแว่นตาไม้จากญี่ปุ่น ชิ้นละ 3-4 หมื่น ,คราฟเบียร์แต่ละประเทศ ที่ผมเองเวลาไปต่างประเทศก็หาดื่ม,jiro sushi ในญี่ปุ่น ทำไมต้องจองล่วงหน้า 2-3 เดือน และกินครั้งหนึ่ง 2-3 หมื่นบาท หรือเนื้อวากิว ญี่ปุ่น แพงแค่ไหนคนก็กิน เพราะคัดเกรดอย่างดี ผู้ผลิตทำตั้งแต่เก็บประวัติแม่วัวและเลือกพ่อวัวที่จะผสมพันธุ์ เพื่อให้ได้เนื้อที่ดี นี่คือการพัฒนาสินค้าปราณีต”

-3-

ส่วนความสำเร็จสินค้าบันเทิง ในเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดร.สมเกียรติ ยกตัวอย่าง ละครบุพเพสันนิวาสเป็นงานบันเทิงที่มีการเล่าเรื่องได้อย่างมีชีวิตชีวา มีการวิจัยอิงประวัตศาสตร์ทำให้คนดูตั้งคำถามในหลายเรื่องและวงBNK 48 เป็นงานบันเทิงที่สร้างสัมพันธ์กับแฟนเพลงอย่างดีแฟนคลับสามารถเข้าไปดูไอดอลของพวกเขาในออนไลน์ว่า แต่ละวันสมาชิกในวงทำอะไรบ้าง รวมถึงมีสถานที่ให้แฟนคลับดูการซ้อมได้สัปดาห์ละสามครั้ง และแฟนคลับสามารถโหวตได้ว่า จะให้สมาชิกในวงอยู่ตำแหน่งไหน และใครควรเป็นหัวหน้าวง เมื่อไม่นาน มีกิจกรรมสมาชิกวงและแฟนคลับจับมือให้กำลังใจกัน 8 วินาที เหล่านี้คือ ตัวอย่างการทำศิลปะบันเทิงแบบใหม่ที่เข้าถึงคนได้

“หากเราจะสร้างเศรษฐกิจใหม่ในอนาคต จะใช้สมองซีกซ้ายเฉพาะการศึกษาด้าน STEM (วิทยาศาสตร์,เทคโนโลยี,วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีสมองซีกขวาด้านศิลปะด้วย และคนไทยไม่ควรมาถกเถียงกันว่า ควรเน้น STEM แต่เราต้องมีการศึกษาที่มีคุณภาพผสมผสานกัน และมีตัวอย่างคนที่ไม่ได้เรียน STEM แต่ทำสตาร์ทอัพ ประสบความสำเร็จได้ อย่างแจ๊คม่า"

ส่วนเรืื่องการปรับตัวในโลกอนาคต ธนา เธียรอัจฉริยะ Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ เล่าว่า ในโลกยุคใหม่มีแต่คนแช่งธนาคารว่าไปไม่รอด ระบบธนาคารจึงต้องปรับเปลี่ยนอีกเยอะ เพราะไม่ว่าลาซาด้า เฟซบุ๊ค กูเกิล ต่างทำระบบคล้ายๆ ธนาคาร เพราะกำไรดี

"สิบปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคถูกสปอย ทำอะไรก็ต้องทำให้ได้ทันทีธนาคารก็กำลังจะถูกแย่งธุรกิจ เพราะผู้บริโภคก็ไม่อยากไปธนาคาร เข้าไปก็ถูกขายประกัน แต่ธนาคารก็ปรับตัวช้า และคนก็ไม่ค่อยอยากไปห้างสรรพสินค้า เพราะไม่เข้ากับสิ่งที่พวกเขาอยากได้เร็วๆ

ช่องว่างที่เกิิด ทำให้การปรับตัวยากมาก เพราะคู่แข่งต้นทุนถูกมากมีการใช้เรื่อง AI มาลดต้นทุน ถ้าธนาคารยังมีรูปแบบแบบนี้ มีสาขาเยอะๆ เราไม่มีทางสู้แนวทางใหม่ๆ ได้เลย เพราะตอนนี้ลูกค้ารอไม่ได้ ดังนั้นอย่างแรกที่ควรทำคือ สำรวจลูกค้า"

ถ้าถามว่าการปรับตัวของประเทศไทยเป็นอย่างไร

ธนามองว่า ปรับตัวช้า และอนาคตของโลกจะอยู่ที่เมืองจีน อย่างสตาร์ทอัพไทย 5-6 ปีที่ผ่านมามีประมาณ 700-800 บริษัท ที่เมืองจีนมีสตาร์ทอัพเกิดขึ้นวันละ12,000 ราย

"ผมเพิ่งคุยกับผู้บริหารแอพอุ๊คบี ตอนนี้มีคนเขียนนิยายแบบแชท เหมือนบทละครต้องพลิกอ่านไปเรื่อยๆ ตอนแรกเปิดให้อ่านฟรี ตอนนี้มีคนไทยอยู่ในระบบ 5-6 ล้านคน  คนอ่านมีหลายล้าน คนเขียนนิยายออนไลน์มีหลักหมื่น คนเขียนอันดับหนึ่งมีรายได้เดือนละล้านบาท เมื่อเทียบกับพิมพ์หนังสือครั้งละสามพันเล่ม คนละเรื่อง และผู้บริหารอุ๊คบีเริ่มเอาแพลตฟอร์มนี้ไปใช้ที่อินโดนีเซีย และพม่า

ผมว่าคนไทยมีความสามารถเรื่องครีเอทีฟ เรื่องคราฟ เรื่องธุรกิจที่ใช้ความใส่ใจ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ผมว่าน้อยไป และช้าไป"