'ดีเอสไอ' ยุติสอบ 'ไอเฟค' ซื้อตึกย่านพระราม 9

'ดีเอสไอ' ยุติสอบ 'ไอเฟค' ซื้อตึกย่านพระราม 9

"ดีเอสไอ" ยุติการสืบสวน IFEC จัดซื้อตึกย่านพระราม 9 ระบุ ก.ล.ต.รับรองทำได้

เมื่อวันที่ 23 พ.ค.61 พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทอินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ขอให้ดีเอสไอรับสอบสวนคดีการทุจริตภายในบริษัท IFEC ว่า หลังจากมีผู้ร้องขอให้ดีเอสไอตรวจสอบทุจริตการบริหารงานของบริษัท กองบริหารคดีพิเศษได้ส่งเรื่องให้กองคดีการเงินการธนาคาร และกองคดีภาษีอากร ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริง. พบว่าในบางประเด็นมีการฟ้องร้องดำเนินคดีไปแล้ว บางเรื่องไม่เป็นความผิดตามกฎหมายคดีพิเศษ และบางประเด็นเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายที่อาจอยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ

ด้านพ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผอ.กองคดีการเงินการธนาคาร กล่าวว่า ประเด็นการซื้ออาคารย่านพระราม 9 ที่ร้องเรียนว่าซื้อในราคาสูงเกินจริงนั้น ได้ตรวจสอบเปรียบเทียบระหว่างราคาประเมินของบริษัทกับกรมที่ดิน พบว่าเป็นการจัดซื้อในราคาที่ต่ำกว่าการประเมินของบริษัท แต่สูงกว่าราคาประเมินของกรมที่ดิน ซึ่งคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รับรองว่าสามารถทำได้ ในประเด็นดังกล่าวจึงสั่งให้ยุติการสืบสวน ส่วนความผิดที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษในประเด็นอื่นๆ ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ

พ.ต.ท.ปกรณ์ กล่าวถึงความคืบหน้าคดีอดีตกรรมการและผู้บริหารบริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือไออีซี. กับพวกรวม 25 ราย ร่วมกันเบียดบังทรัพย์สิน และแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายว่า คดีดังกล่าว ก.ล.ต.เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษขอให้ดีเอสไอรับสอบสวนเป็นคดีพิเศษ ซึ่งขณะนี้ได้เปิดคดีเริ่มต้นการสอบสวนอย่างเป็นทางการไปแล้ว โดยวางแนวทางการสอบสวนให้ส่วนคดีการเงินการธนาคาร 3 เป็นผู้รับผิดชอบ และแยกการสอบสวนออกเป็น 4-5 กลุ่มคดี ซึ่งทุกคดีมีผู้ต้องหาหลักเป็นคนกลุ่มเดียวกันที่ทำผิดในหลายประเด็น คาดว่าประเด็นที่จะสรุปสำนวนสอบสวนได้เร็วที่สุดคือ การสั่งซื้อสินค้าเท็จและการลงบัญชีอันเป็นเท็จ เช่น การนำเงินบริษัทออกไปเพื่อซื้อสินค้า แต่เช็คสต๊อคแล้วไม่มีสินค้าเก็บรักษาไว้ในบริษัท ซึ่งความผิดดังกล่าวค่อนข้างมีหลักฐานชัดเจน หลังจากสรุปสำนวนแล้วจะขยับไปสอบสวนในความผิดประเด็นอื่นๆ ต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ

สำหรับคดีเบียดบังทรัพย์สินของบริษัทไออีซี สืบเนื่องจาก ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบพบพยานหลักฐาน ในช่วงก.ย.57 – ส.ค.59 มีบุคคล 25 ราย ร่วมกันดำเนินการ หรือมีส่วนรู้เห็นยินยอม หรือให้ความช่วยเหลือสนับสนุนกรรมการ ผู้บริหารหรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทไออีซี กระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต เบียดบังทรัพย์สิน และแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ไออีซีเสียหาย นอกจากนี้ ยังได้จัดทำหรือยินยอมให้มีการจัดทำบัญชีของไออีซีไม่ถูกต้อง ไม่ตรงต่อความเป็นจริงเพื่อลวงบุคคลใดๆ เกี่ยวกับการลงทุนซื้อหุ้นบริษัทย่อย การเข้าทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้าง และการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องจักร โดย ก.ล.ต. ได้ดำเนินการกล่าวโทษกลุ่มบุคคลทั้ง 25 รายดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 9 ประเด็น มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นรวมมากกว่า 200 ล้านบาท เข้าข่ายเป็นความผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535