สุขยาวๆ ‘พังงา’ ยั่งยืน

สุขยาวๆ ‘พังงา’ ยั่งยืน

ไม่มีคำโตๆ แบบ ‘ฮุกกะ’ ปรัชญาชีวิตชาวเดนมาร์ก หรือ ‘ลากอม’ วิถีสุขแห่งสวีเดน ไปจนถึง ‘อิคิไก’ ของคนญี่ปุ่น แต่ความสุขแบบพังงานั้นเรียบง่ายและปักหมุดไว้ที่ความยั่งยืน

ไม่ว่าจะนิยาม ‘ความสุข’ ไว้เช่นไร ใครๆ ก็ปรารถนาชีวิตที่เป็นสุข แต่ถ้าถามคนพังงา เขาว่า “บ้านเรามีแต่หนุกกับหรอย”

หลังจากเคยครองอันดับ 1 ของจังหวัดที่มีความสุขที่สุดในประเทศมาก่อน และตกมาอยู่อันดับ 2 ในการจัดอันดับจังหวัดที่ประชาชนอยู่แล้วมีความสุขในการสำรวจครั้งล่าสุด แต่จากการเก็บข้อมูลช่วงต้นปี 2560 ของ ม.อ.โพล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยืนยันว่า “จังหวัดที่ประชาชนมีความสุขสูงสุดในภาคใต้คือ จังหวัดพังงา”

ผลการสำรวจนี้ครอบคลุมความสุขใน 6 ด้านคือ ความสุขที่เกิดจากความพึงพอใจในชีวิต ความสุขที่เกิดจากการไม่มีทุกข์ ความสุขที่สามารถเผชิญกับปัญหา ความสุขที่เกิดจากการได้ช่วยเหลือผู้อื่น ความสุขที่เกิดจากครอบครัว และความสุขที่เกิดจากสังคม โดยคนพังงามีความสุขที่เกิดจากความพอใจในชีวิต ความสามารถในการเผชิญปัญหา และการได้ช่วยเหลือผู้อื่นมากที่สุด

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ความสุขลอยคว้างอยู่ในอากาศ หาได้จากใต้ท้องทะเล พวกเขาใช้ทุกกระบวนท่าในการรักษาและส่งต่อความสุข...จากรุ่นสู่รุ่น จากพื้นที่หนึ่งสู่อีกพื้นที่ด้วยการช่วยเหลือเกื้อกูลและเป็นแบบอย่างให้กันและกัน

ก้าวกล้า ‘พังงาแห่งความสุข

“หลังจากทำงานพัฒนามาได้ระยะหนึ่ง ประชาสังคมในจังหวัดพังงาก็เห็นร่วมกันว่าเราน่าจะกำหนดอนาคตของพังงา โดยเสนอไอเดียเรื่องพังงาแห่งความสุข มีเหตุผลว่า จังหวัดพังงาเคยเป็นจังหวัดที่มีความสุขที่สุดในประเทศไทย แต่ปีนั้นที่เราคุย ประมาณปี 2555 เราลดลงเป็นที่ 2 เราเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมมันลดลง เราต้องกลับไปทำให้มีความสุขเท่าเดิม” ไมตรี จงไกรจักร ตัวแทนประชาสังคมพังงา ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท เล่าถึงที่มา

เมื่อปลายทางคือ ‘ความสุข’ เส้นทางที่ใช่ก็ถูกค้นหาโดยเริ่มจากคำถามง่ายๆ แต่ตอบยากว่า “ความสุขคืออะไร”

“เราสรุปสุดท้ายว่าจะไม่มีตัวชี้วัดความสุข แต่จะไปหาความสุขจากคนในพังงาว่าเขาอยากมีความสุขแบบไหน แล้วเริ่มจากเรื่องที่ทำอยู่แล้ว เช่น ภัยพิบัติ สวัสดิการ เกษตรกรรม ฯลฯ อันนี้คือความสุขตั้งต้น”

การถอดสมการจากชุมชนและเชื่อมร้อยด้วยความแข็งขันของภาคประชาสังคม แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่หากไม่ได้ความร่วมมือจากภาครัฐ เส้นทางสู่ความสุขก็คงเต็มไปด้วยอุปสรรค

“หลังจากที่แนวคิดนี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างได้งบสนับสนุนจากทางจังหวัดปีละ 1 ล้าน 8 แสนบาท เราเริ่มทำเวทีทุกตำบลค้นหาว่าความสุขของคนพังงาคืออะไร ความทุกข์คืออะไร แล้วความกังวลว่าความสุขเขาจะลดลงคืออะไร ถามอยู่ 1 ปี พอปีที่ 2 ก็มาประมวลผลบนเวทีใหญ่ ซึ่งผลที่จะออกมาก็จะเหมือนๆ กันว่า เขากลัวการพัฒนาบางอย่าง กลัวโครงการขนาดใหญ่ ความสุขของเขาคือมีความมั่นคงในทีดิน อาชีพ ลูกหลานมีการศึกษา มีงานทำ เราก็เลยยกร่างว่าถ้าจะทำให้เป็นจริงควรมีใครร่วมกันทำบ้าง ทั้งรัฐและประชาชน มันก็เลยกลายมาเป็นข้อตกลงร่วมไปสู่พังงาแห่งความสุข” ไมตรี อธิบายต่อ

จากข้อตกลงระดับอำเภอขยับไปสู่จังหวัด ยกระดับเป็น ‘ร่างธรรมนูญพังงาแห่งความสุข’สร้างพื้นที่รูปธรรมใน 16 ตำบลนำร่อง ผลิดอกออกผลเป็น 10 ยุทธศาสตร์สู่พังงาแห่งความสุข ประกอบด้วย การเมืองพลเมือง สวัสดิการ การศึกษา เศรษฐกิจ ความมั่นคงที่ทำกิน สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย จารีตประเพณี ยาเสพติด สุขภาพ

“จากนั้นเราก็นำ 10 ยุทธศาสตร์นี้ลงไปรับฟังความเห็นในแต่ละอำเภอ ทั้ง 8 อำเภอ ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง ท้ายเหมือง กะปง ทับปุด เกาะยาว คุระบุรี และอำเภอเมือง ซึ่งในส่วนของเกาะยาวเขาอยากทำเรื่องการจัดการทั้งระบบ หมายถึงว่า การพัฒนาแบบที่กระจายรายได้ โดยยึดหลักว่า ประมง เกษตร ท่องเที่ยว ต้องทำให้รายได้ทั้งสามส่วนนี้บาลานซ์กัน แล้วเขาก็ต้องการกำหนดพื้นที่พัฒนาด้วย เขาไม่อยากให้มันพัฒนาไปทั้งเกาะ อยากให้มีการแบ่งโซน ที่เกาะยาวเราก็เลยมาทำผังการพัฒนา ออกแบบว่าโซนนี้เป็นโซนท่องเที่ยวนะ โซนตลาด โซนเกษตร มีโซนนาด้วย แล้วแต่ละโซนควรห้ามอะไร ก็ทำกติกากัน” ไมตรี ยกตัวอย่างเกาะยาวน้อยซึ่งเป็นหนึ่งในโมเดลต้นแบบ

โมเดลสุข ‘เกาะยาวน้อย

  ไม่ใช่แค่น้ำใสหาดทรายสวยอาหารทะเลสด วิถีสุขของคนเกาะยาวคือแม่เหล็กที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ ทว่า อีกด้านพวกเขาก็กังวลว่าหากไม่มีการจัดการที่ดี ธรรมชาติและวัฒนธรรมที่เคยเอื้อเฟื้อต่อวิถีแบบดั้งเดิมอาจจะเปลี่ยนไป …และนั่นคือเหตุผลที่ต้องสร้างกฎ กติกา มารยาท

“จากการที่เราทำประชาคม คนเกาะยาวไม่ได้ต้องการความเจริญมากนัก เราไม่ทำไฟแดง เราไม่มีถังขยะ นอกจากให้ใส่ถุงดำเตรียมไว้ก่อนเวลาที่รถจะมารับไปเท่านั้นเอง แล้วในส่วนของวัฒนธรรมประเพณี อยากให้มันคงเดิมอยู่ เป็นสังคมเครือญาติ ความสุขที่เรามีก็คืออยากให้เกาะยาวเป็นเหมือนที่่ผ่านมา” เสรี เริงสมุทร พูดในฐานะคนที่ใช้ชีวิตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเกาะแห่งนี้มาร่วม 60 ปี

“ที่นี่มีข้อบัญญัติว่าด้วยเรื่องของการจัดผังการพัฒนา จัดโซนนิ่ง เช่น การท่องเที่ยวจะอยู่แถวหมู่ 5 หมู่ 7 ริมทะเล ส่วนหมู่ 3 เป็นพื้นที่เกษตรกรรม คนที่มาเกาะยาว ถ้าจะมาทำธุรกิจท่องเที่ยวจะมาซื้อที่ดินในแปลงนาไม่ได้ เพราะมันถูกจัดการด้วยผังรวมของตำบลหมดแล้ว” ชาตรี มูลสาร เลขาสมาคมประชาสังคมพังงาแห่งความสุข กล่าว เสริมด้วยความเห็นของลุงเสรีว่า ถ้าเป็นโซนที่นาห้ามเรื่องการก่อสร้าง โซนในตลาดห้ามใส่ชุดว่ายน้ำ ต้องแต่งตัวสุภาพ

“เรามีการประชุมกับสถานประกอบการ เกี่ยวกับการนุ่งสั้น นุ่งน้อยห่มน้อย เพราะเราเป็นชุมชนมุสลิม เราอยากรักษาประเพณี รักษาความเป็นชุมชนเป็นชนบท มากกว่าให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเหมือนกับหลายๆ ที่ที่มีปัญหาอยู่”

ถึงอย่างนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นบนเกาะยาวน้อยกำลังท้าทายพลังชุมชนในการปกป้องทรัพยากรทั้งบนบกและในท้องทะเล ซึ่งหนึ่งในปัญหาที่หลายคนกังวลก็คือ ‘ขยะ’

“ที่ผ่านมาเราเริ่มมีปัญหาเรื่องขยะ เมื่อก่อนกองทิ้งกันหลังอำเภอเลย แล้วแรกๆ เราก็ยังหาพื้นที่กำจัดขยะไม่ได้ เพราะไปหมู่บ้านไหนเขาก็รังเกียจ ขนาดผู้ว่าฯ ลงมาทำประชาคมเราก็ยังหากันไม่ได้ จนหมู่ที่ 4 เริ่มทำท่องเที่ยวโดยชุมชน เขาก็หาที่กัน โดยให้ทางอบต.ซื้อ ตอนแรกจะใช้เตาเผาแบบไร้ควัน แต่ต่อมาเราก็ประชุมกัน ทั้งรณรงค์ ทำหลายอย่าง จนทางกระทรวงพลังงานให้โรงคัดแยกขยะมาที่เกาะยาว

ขยะที่ได้มาจะคัดแยก พลาสติก กระป๋อง เศษเหล็ก ออกให้เหลือถุงพลาสติกกับขยะเปียก แล้วจะใช้เครื่องปั่นปั่นจนแห้ง ส่วนหนึ่งได้เป็นปุ๋ยแห้ง อีกส่วนเป็นพลาสติก เอาพลาสติกไปกลั่นเป็นน้ำมัน ส่วนผงปุ๋ย ทางกลุ่มปุ๋ยชีวภาพเห็นว่าการนำปุ๋ยไปใช้ใส่พืชค่อนข้างลำบากเพราะมันเป็นฝุ่น ก็เลยนำไปเพิ่มคุณภาพโดยเพิ่มน้ำหมักและโดนาไมท์แล้วปั่นเป็นเม็ด สามารถนำไปใช้ในสวนยาง นาข้าวได้ผลผลิตดี ทำให้ชาวบ้านหันมาปลูกข้าวอินทรีย์เยอะตอนนี้”

บัญญัติ ศรีสมุทร กำนัน ต.เกาะยาวน้อย อธิบายแนวทางการจัดการขยะ ซึ่งได้ผลลัพธ์เกินคาด เพราะใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี พื้นที่เพาะปลูกที่เคยใช้เคมีเป็นหลักก็หันมาทำเกษตรอินทรีย์เกือบหมด ซึ่งทุกวันนี้การจัดการขยะเพื่อสร้างระบบเกษตรอินทรีย์ กลายเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ขององค์กรและภาคประชาชนต่างๆ ภายใต้สโลแกนว่า “พลิกกองขยะไร้ค่าสู่การทำนาออร์แกนิค”

ซึ่งไม่ใช่แค่การนำขยะมาเป็นปุ๋ยชีวภาพเท่านั้น แต่แนวทางการจัดการขยะของคนเกาะยาวยังย้อนไปถึงต้นทาง “ทำอย่างไรให้มีขยะน้อยที่สุด” นั่นคือการรณรงค์ให้ทุกบ้านคัดแยกขยะ ซึ่งก็ได้ผลเป็นอย่างดี ที่เหลือคือการสร้างจิตสำนึกให้กับผู้ประกอบการและประชากรแฝง ซึ่งมีอยู่ในน้อยบนเกาะแห่งนี้

“เราอยู่บ้านก็แยกขยะ แยกขวด กระป๋อง พลาสติก เวลาเอาไปทำลายหรือรีโซเคิลก็ง่าย ทุกบ้านก็จะทำกัน เทศบาลมาเก็บทุกวัน ไม่มีตกค้าง ส่วนขยะเปียกก็จะให้เป็ดให้ไก่กิน พอถึงทุกวันที่15 ของเดือนจะมีบิ๊กคลีนนิ่ง ช่วยกันทำความสะอาดทุกที่รวมถึงชายหาดด้วย” อารอฟะห์ -ระเบียบ บุญรอด สาวชาวเกาะยาววัย 39 ปี บอกพร้อมรอยยิ้ม

หลักสูตรแห่ง ‘ความสุข

สุขแค่ไหนไม่รู้ รู้แต่มีความสุขที่ได้อยู่บ้าน อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับวิถีแบบเดิมๆ ...นี่คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังรอยยิ้มของอารอฟะห์

เธอเล่าว่าตอนเรียนหนังสือก็เคยไปอยู่ที่อื่นแต่รู้สึกเบื่อกับความวุ่นวายในเมืองและการจราจร เมื่อมีโอกาสเลยกลับมาอยู่ที่เกาะยาวน้อยและตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาทรัพยากรต้นทุนชีวิตของคนที่นี่

“เกาะเรายังเป็นธรรมชาติ อากาศดี น้ำดี สบาย แทบไม่ต้องใช้ตังค์ งานก็มีให้ทำ ได้อยู่กับครอบครัว โจรขโมยก็ไม่ค่อยมี จอดรถกุญแจก็ไม่ต้องเอาออก อยากให้อยู่แบบเดิมๆ อย่างนี้ไปตลอด ไม่อยากเยอะ แค่เซเว่นก็ได้แล้ว ไม่ต้องมีห้าง ของเราอาหารก็ธรรมชาติ ไม่อด แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว”

ไม่ใช่แค่อารอฟะห์ ลุงเสรี คนขับรถสองแถว แม่ค้าในตลาด... ทุกคนต่างมีรอยยิ้มที่แบ่งปันให้คนต่างถิ่นได้เสมอ และแม้จะไม่สามารถถอดสมการออกมาเป็นสูตรสำเร็จได้ แต่การสร้างสุขในแบบฉบับคนเกาะยาวน้อยก็กลายเป็นรูปธรรมที่หลายภาคส่วนพยายามเข้ามาหนุนเสริม

“โดยรวมคนที่ร่วมรับผิดชอบสังคมเข้าใจเรื่องนี้แล้ว สำหรับประชาชนทั่วไปเราก็กำลังทำเรื่องรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ และคิดว่าเป็นไปได้มั้ยที่จะยกระดับสิ่้งที่เราทำ กระบวนการทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาก็คือให้นักศึกษา หน่วยงานราชการเข้ามาดูงาน ฟังเราบรรยาย แต่มันไม่สัมผัสความจริงที่เขาควรเห็น พอมีมีโครงการผู้นำแห่งอนาคตเข้ามาเติมเต็มในส่วนนี้ ก็ทำให้เราเข้าใจระบบการจัดการ ระบบความคิด และรู้ว่าจะยกระดับคุณค่าทั้งหมดในพื้นที่ให้มีมูลค่าได้อย่างไร”

สำหรับโครงการผู้นำแห่งอนาคต ดำเนินงานภายใต้คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เข้ามาทำงานร่วมกับชาวบ้านในชุมชน โดยมีนักเปลี่ยนแปลงสังคม Intrapreneur และนักวิจัยร่วมกันจัดการองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายหลัก ‘พังงาแห่งความสุข’ อย่างยั่งยืน

“โครงการในปีนี้เราทำงานสัมพันธ์กับ 4 พื้นที่หลักคือ มูลนิธิครูน้ำ เชียงราย, โคกสลุง ลพบุรี, ขอนแก่นสปิริต และพังงาแห่งความสุข... โมเดลในการทำงานของเรา โครงการผู้นำแห่งอนาคตทำหน้าที่เหมือนเป็นแพลตฟอร์มในการทำให้พื้นที่พัฒนาและเติบโต สิ่งที่เราคิดว่าเป็นโอกาสของการพัฒนาให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เราวิเคราะห์กันในเรื่องของการมีมุมมองทางธุรกิจเชิงสังคมที่มีความชัดเจนมากขึ้น มีโมเดลที่มีความรอบด้านมากขึ้น” รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ผู้อำนวยการโครงการผู้นำแห่งอนาคต กล่าว

หลังจากดำเนินงานมากว่า 6 เดือนโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดพังงา ผลลัพธ์ที่ได้คือการพัฒนาหลักสูตรการท่องเที่ยวเรียนรู้ 5 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรการจัดการเครือข่ายเพื่อการพัฒนาภาคประชาสังคม อ.เมือง จ.พังงา, หลักสูตรการรับมือภัยพิบัติและความปลอดภัยในชุมชน อ.ตะกั่วป่า, หลักสูตรการส่งเสริมสุขภาพชุมชนและคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ หลักสูตรการจัดการการเงินชุมชนและสวัสดิการชุมชน อ.ทับปุด

หลักสูตรการจัดการทุนชุมชนและสวัสดิการชุมชนเพื่อความยั่งยืน อ.กะปง และหลักสูตรการจัดการขยะเพื่อสร้างระบบเกษตรอินทรีย์ อ.เกาะยาว ซึ่งทั้งหมดนี้มีเป้าหมายสำคัญคือสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ที่มาท่องเที่ยวได้นำความรู้กลับไปต่อยอดสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนของตนเอง

แน่นอนว่า...สำหรับคนเกาะยาวน้อย สุขทุกข์คงยังไม่จบแค่นี้ มีอีกหลายเรื่องให้ต้องดูแลมีอีกหลายปัญหาให้ต้องแก้ไข แต่ด้วยความเชื่อที่ว่าไม่มีใครสามารถจัดการได้ดีไปกว่าคนในชุมชน การบริหารสุขทุกข์จึงเป็นโจทย์ร่วมที่ไม่มีวันจบ

และถึงตอนนี้ ถ้าถามว่าความสุขแบบพังงาคืออะไร คนที่นี่บอกว่า... ตอบไม่ได้ ต้องมาสัมผัสด้วยตัวเอง