คลายวิตกขัดแย้งการค้าหนุนราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น

คลายวิตกขัดแย้งการค้าหนุนราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า สหรัฐจะประกาศคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของอิหร่านจำนวน 200,000-1,000,000 บาร์เรล/วัน

สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าเวสต์เท็กซัส ปิดตลาดวันจันทร์ (21พ.ค.)ปรับตัวขึ้น โดยได้ปัจจัยบวกจากการที่นักลงทุนคลายวิตกเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน นอกจากนี้

นักลงทุนยังจับตารัฐมนตรีน้ำมันของซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งแสดงความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของราคาน้ำมันในช่วงนี้ และมีแผนที่จะหารือกับรัฐมนตรีน้ำมันของรัสเซียในปลายสัปดาห์นี้ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือนมิ.ย. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาดไนเม็กซ์  เพิ่มขึ้น 87 เซนต์ หรือ 1.2%  ปิดที่ราคา 72.15 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ เพิ่มขึ้น 57 เซนต์ ปิดที่ราคา 79.08 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ เปิดเผยว่า สหรัฐและจีนได้ตกลงที่จะระงับการทำสงครามการค้าชั่วคราว นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการกำหนดกรอบการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาดุลการค้าในอนาคต

ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันยังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง แนวโน้มที่สหรัฐจะคว่ำบาตรอิหร่าน การผลิตน้ำมันที่ลดลงในเวเนซุเอลา และไนจีเรีย โดยราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 4 ไตรมาส ซึ่งจะเป็นช่วงขาขึ้นของราคาน้ำมันที่ยาวนานที่สุดในรอบกว่า 10 ปี เพราะได้แรงหนุนจากจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งจะปูทางให้สหรัฐทำการคว่ำบาตรอิหร่านครั้งใหม่

ขณะนี้ อิหร่าน ถือเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก โดยเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) โดยอิหร่านส่งออกน้ำมันมากกว่า 2.6 ล้านบาร์เรล/วัน หลังจากที่มีการลงนามในข้อตกลงในปี 2558 กับกลุ่มประเทศ P5+1 ซึ่งได้แก่ จีน รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐ และเยอรมนี ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้ P5+1 ผ่อนปรนการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน เพื่อแลกกับการที่อิหร่านระงับการพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์

รายงานของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ระบุว่า สต็อกน้ำมันของกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ลดลงต่ำกว่าระดับเฉลี่ยในรอบ 5 ปี

ทั้งนี้ โอเปกจะประชุมกันในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ เพื่อทบทวนนโยบายการผลิตน้ำมัน หลังจากที่มีมติขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 1.8 ล้านบาร์เรล/วันจนถึงสิ้นปีนี้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน