กสิกรไทย-ไทยพาณิชย์ คาดจีดีพีปีนี้โตเกิน 4%

กสิกรไทย-ไทยพาณิชย์ คาดจีดีพีปีนี้โตเกิน 4%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย และไทยพาณิชย์ คาดจีดีพีปีนี้โตเกิน 4% หลังไตรมาสแรกขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ปีรับแรงหนุนส่งออก-ท่องเที่ยว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2561 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ปี ที่ 4.8% (YoY) โดยยังได้แรงหนุนจากการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวในระดับสูง ขณะที่การใช้จ่ายครัวเรือนเริ่มเห็นสัญญาณการเติบโตที่ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า นอกจากนี้ผลผลิตภาคเกษตรที่ขยายตัวเร่งขึ้นอย่างมากก็เป็นตัวหนุนจีดีพีที่สำคัญในไตรมาสนี้

การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/2561 น่าจะเป็นระดับที่สูงที่สุดของปี 2561 โดยในช่วงที่เหลือของปีจีดีพีน่าจะยังคงรักษาระดับการเติบโตที่สูงกว่า 4.0% ต่อปีในแต่ละไตรมาสไว้ได้ โดยตัวขับเคลื่อนหลักยังคงมาจากการส่งออก และรายได้จากการท่องเที่ยว ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศ ทั้งการใช้จ่ายครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชนจะทยอยปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ว่ามีความเป็นไปได้สูงขึ้นที่จะขยายตัวเข้าใกล้กรอบบนของประมาณการเศรษฐกิจที่ 3.5-4.5% (ค่ากลางที่ 4.0%)

ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยมีโอกาสสูงที่จีดีพีทั้งปีจะโตมากกว่า 4.0% ช่วงที่เหลือของปีเศรษฐกิจไทยจะได้รับแรงส่งต่อเนื่องจากหลายปัจจัย นำโดยกำลังซื้อจากต่างประเทศทั้งการส่งออกสินค้าและการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีโมเมนตัมการขยายตัวที่แข็งแรงมาตั้งแต่ช่วงต้นปี ทั้งนี้ แรงส่งจากต่างประเทศที่ดีต่อเนื่อง ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐที่เริ่มฟื้นตัวจะมีส่วนช่วยทำให้การลงทุนภาคเอกชนสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของการบริโภคภาคเอกชนคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะขยายตัวได้ดีกว่าปีที่แล้วจากการใช้จ่ายด้านสินค้าคงทนที่ยังเติบโตดี ประกอบกับการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว ทั้งนี้ ประมาณการการเติบโตเดิมของ SCB EIC ที่ 4.0% มีโอกาสสูงที่จะปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางการขยายตัวดีกว่าที่คาด
ในช่วงที่ผ่านมาการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตด้วยสินค้าคงทนที่ขยายตัวสูง ขณะที่สินค้าไม่คงทนขยายตัวต่ำสะท้อนให้เห็นถึงการกระจุกตัวของการใช้จ่ายครัวเรือนที่มีการพึ่งพากลุ่มผู้มีรายได้สูงมาโดยตลอด สาเหตุมาจากรายได้ของครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยถึงปานกลางได้รับผลกระทบจากรายได้ภาคเกษตรที่ลดลงและอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลจีดีพีที่ประกาศออกมา การกระจุกตัวดังกล่าวเริ่มคลี่คลายลงบ้าง หลังการใช้จ่ายทั้งในหมวดสินค้ากึ่งคงทนและไม่คงทนเร่งตัวขึ้น นอกจากนี้ ข้อมูลล่าสุดยังสะท้อนถึงสัญญาณบวกจากรายได้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นจากช่วงก่อนหน้า เช่น รายได้ภาคเกษตรที่เริ่มกลับมาขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.9%YOY ในเดือน เม.ย. หลังจากหดตัวมา 9 เดือนติดต่อกัน

อัตราการว่างงานเดือน เม.ย. ที่ลดลงมาอยู่ที่ 1.1% จากต้นปีที่อยู่ที่ 1.3% จากจำนวนการจ้างงานที่ปรับเพิ่มขึ้น 0.5%YOY ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน อีกทั้งค่าจ้างเฉลี่ยนอกภาคเกษตรของลูกจ้างคนไทยแบบปรับฤดูกาลก็ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นทุกเดือนเฉลี่ย 3.9%YOY ในไตรมาสแรก นำโดยสาขาธุรกิจที่มีการจ้างงานจำนวนมากอย่าง ภาคอุตสาหกรรม ค้าส่งค้าปลีก และโรงแรมและร้านอาหาร โดยทั้ง 3 สาขาจ้างงานรวมกันราว 15 ล้านคน

อย่างไรก็ดี แม้ในฝั่งรายได้จะเริ่มเห็นสัญญาณบวก แต่ครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยและปานกลางยังคงมีปัญหาภาระหนี้ จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ในปี 2560 พบว่า ภาระหนี้ต่อรายได้ของครัวเรือนยังคงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยและปานกลาง ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดที่ทำให้การกลับมาเพิ่มการใช้จ่ายของครัวเรือนกลุ่มดังกล่าวในระยะต่อไปเกิดขึ้นได้ไม่เร็วนัก
SCB EIC ประเมินความเสี่ยงจากภายนอกที่สำคัญ 3 ประการ อันประกอบไปด้วย การแข็งค่าของเงินบาท นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และความผันผวนทางการเงินอันเป็นผลมาจากนโยบายการเงินโลกที่ตึงตัว พบว่า ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงในช่วงที่ผ่านมายังมีจำกัด

สำหรับประเด็นการแข็งค่าของเงินบาทส่งผลกระทบต่อรายได้ในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปี แต่ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาเงินบาทเริ่มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องทำให้แรงกดดันในส่วนนี้คลี่คลายลงบ้าง

ขณะที่ผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อไทยยังมีไม่มาก เพราะสินค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น เครื่องซักผ้า ผลิตภัณฑ์เหล็ก ยังสามารถกระจายความเสี่ยงไปส่งออกตลาดอื่นๆ ได้ ในส่วนของทิศทางอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศที่สูงขึ้น ทำให้ภาวะการเงินของไทยตึงตัวขึ้นบ้างแต่ไม่กระทบภาคเศรษฐกิจจริงมากนัก เนื่องจากสภาพคล่องในประเทศยังมีอยู่มากและพื้นฐานเศรษฐกิจที่ยังเข้มแข็ง

อย่างไรก็ดี SCB EIC มองว่าความเสี่ยงดังกล่าวยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะยังมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในภาคการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีได้ ทั้งนี้ ต้องจับตาดูความคืบหน้าประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ หลังจากมีการชะลอการขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างสองประเทศไว้ชั่วคราวและทั้งสองประเทศจะมีการเจรจาการค้าต่อไปในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ รวมถึงความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินโลกและทิศทางค่าเงินบาทที่ยังมีความผันผวนสูง