นักวิชาการเผยไทยยังไร้เมืองเป็นมิตรกับผู้สูงอายุ

นักวิชาการเผยไทยยังไร้เมืองเป็นมิตรกับผู้สูงอายุ

นักวิชาการเผยไทยยังไร้เมืองเป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ระบุกทม.เกิดยาก เหตุลักษณะต่างคนต่างอยู่ หนุนเมืองเล็กขับเคลื่อน

รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวในงานผู้สูงอายุไทย ก้าวไกลไทยแลนด์4.0 นวัตกรรมเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ(Age-Friendly City)ว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีเมืองที่จัดเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ 541 เมือง ซึ่งเป็นการมุ่งให้ชุมชนเอื้อต่อการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีใครต้องการที่จะย้ายที่อยู่หรือมาอยู่รวมกันในอาคาร จึงจำเป็นต้องปรับชุมชนเดิมให้เอื้อต่อการดำเนินชีวิต ทั้งนี้ประเทศไทยยังไม่มีเมืองที่มีลักษณะดังกล่าว ขณะที่อีก 4 ปีประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยเมืองที่เหมาะสมจะปรับให้เป็นเมืองที่เป็นมิตรจะเป็นเมืองที่ขนาดไม่ใหญ่มาก ส่วนเมือง ใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครจะเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากลักษณะที่อยู่อาศัยจะเป็นบ้านที่มีรั้ว ดังนั้นการจะรวมตัวดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่งร่วมกันเกิดขึ้นได้ยาก หากจะเกิดขึ้นได้ต้องทำในระดับหมู่บ้านที่ถือเป็นชุมชนขนาดเล็กลง เพราะหัวใจสำคัญของการสร้างเมืองที่เป็นมิตรคือการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุและคนในชุมชน


นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า จ.พิจิตรมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปราว 19% ได้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุของภาคส่วนต่างๆถึง 77 ล้านบาทอาจจะมากที่สุดในประเทศ โดยใช้ในการขับเคลื่อนครอบคลุมทั้ง 8 กรอบของการเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ แต่การจะจัดฯงบเช่นนี้ได้จะต้องเกิดขึ้นจากการสะท้อนความต้องการของคนในชุมชน ซึ่งในส่วนของที่อยู่อาศัย ที่จ.พิจิตรมีการบูรณาการการทำงานทำให้สามารถช่วยปรับปรุงซ่อมแซมบ้านให้ผู้สูงอายุได้ในงบประมาณที่ไม่มาก ทำได้ 410 หลังใช้งบประมาณราว 8.8 ล้านบาท การดำเนินคือ ชมรมผู้สูงอายุ และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด(พมจ.)หารือร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคพิจิตร เพื่อให้นักศึกษาที่มีกำลังแรงงานและองค์ความรู้เข้าไปช่วยซ่อมแซมให้ผู้สูงอายุภายใต้การสนับสนุนงบของพมจ.


พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กล่าวว่า ในปี 2564 ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งประเทศ จึงจำเป็นต้องสร้างเมืองหรือชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุและส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเป็น Active Ageing เพื่อให้สามารถเข้าถึงโอกาสด้านสุขภาพ การมีส่วนร่วม และความมั่นคงปลอดภัย ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีและดำเนินชีวิตในชุมชน สังคมได้อย่างปกติสุข ซึ่งองค์การอนามัยโลกนิยามเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ คือ เมืองที่ผู้ให้บริการด้านต่างๆ เจ้าหน้าที่ ผู้นำชุมชน ผู้นำความเชื่อ ศาสนา คนในภาคธุรกิจเอกชน และความเป็นพลเมือง การเห็นคุณค่าในความหลากหลายในกลุ่มวัยผู้สูงอายุ และความสำคัญของสุขภาพของผู้สูงอายุต้องมีการสนับสนุนและสร้างการมีส่วนร่วมและการแบ่งปันของผู้สูงอายุในทุกๆด้านของชีวิตในชุมชน และทางเลือกในวิถีการใช้ชีวิต เป็นต้น

โดยในการสร้างเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ จะมีกรอบการพิจารณา 8 ประเด็น ได้แก่ 1.ที่อยู่อาศัย 2.การเข้าไปมีส่วนร่วมในสังคม 3.การได้รับการยอมรับในสังคม 4.การมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและการจ้างงาน 5.การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 6.การสนับสนุนของชุมชนและการบริการด้านสุขภาพ 7.สภาพพื้นที่ภายนอกและตัวอาคารและ8.ระบบขนส่งมวลชน ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น