เรือเรนโบว์ร่วมขบวน ประมงพื้นบ้านตือโละปาตานี หวังหยุดรง.ไฟฟ้าถ่านหิน

เรือเรนโบว์ร่วมขบวน ประมงพื้นบ้านตือโละปาตานี หวังหยุดรง.ไฟฟ้าถ่านหิน

เรือกรีนพีซ "เรนโบว์ วอร์ริเออร์" เข้าร่วมขบวนเรือประมงพื้นบ้านในตือโละปาตานี ประกาศเจตนารมย์หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน


วันนี้เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ซึ่งเป็นเรือสัญลักษณ์ของกรีนพีซ เดินทางมาถึงตือโละปาตานี เพื่อเข้าร่วมกับเรือประมงราว 100 ลำ จากชุมชนสะกอม เทพา และสวนกง ในจังหวัดสงขลา ซึ่งจัดวางภาพวาดบนผืนผ้าขนาด 30 x 30 เมตรในทะเลบริเวณใกล้เกาะขาม โดยเป็นภาพตัวละครในหนังตะลุงพร้อมข้อความ "ควน ป่า นา เล ควรหวงแหน" (หมายถึง "ปกป้องภูเขา ป่าไม้ ทุ่งนาและทะเล") เพื่อแสดงเจตนารมย์คัดค้านถ่านหิน(no coal) และเทใจให้ทะเล(Heart for Sea)

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.เทพา จ.สงขลา จะสร้างอยู่บนพื้นที่กว่า 2 พันไร่ ครอบคลุมที่อยู่อาศัยของประชากร มัสยิด โรงเรียนปอเนาะ กุโบร์ และพื้นที่ทำกินของชาวบ้านทั้งบนบกและในทะเล ในรายงาน EHIA ระบุว่า โดยจะมีครัวเรือนที่ถูกโยกย้ายทั้งหมดจำนวน 152 ครัวเรือน

  2_1

"พวกเราผูกพันกับทะเลและผืนดินที่นี่ ถ้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเดินหน้าต่อไป เราอาจสูญเสียทุกอย่าง ทั้งบ้าน วิถีชีวิต และวัฒนธรรม การถูกบังคับให้ย้ายออกจากแผ่นดินเกิดที่ได้มาจากบรรพบุรุษ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ย้ายถิ่นฐานเท่านั้น แต่เป็นการทำลายเอกลักษณ์ของชุมชน" นายดอเลาะ อาแว ตัวแทนชุมชนตันหยงเปาว์ เครือข่ายตือโละปาตานีกล่าว

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.เทพา จ.สงขลาช้ากว่ากำหนดเดิมไปสามปี โดยสถานการณ์ความขัดแย้งทางสังคมขยายตัว เพิ่มมากขึ้น  ในเดือนกรกฎาคม 2558 ชุมชนที่คัดค้านโครงการถูกกันไม่ให้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อทบทวนร่างรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโดยมีการวางกำลังเจ้าหน้าที่ป้องกันกว่า 1,500 นาย ไม่กี่วันหลังจากนั้น มีการประกาศว่าขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนได้เสร็จสมบูรณ์และริเริ่มกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ต่อจากนั้น บริษัทที่ปรึกษาของโครงการซึ่งว่าจ้างโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จะรวบรวมรายงาน EHIA และส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) เพื่อพิจารณา

ในเดือนสิงหาคม 2560 เครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินนั่งประท้วงหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพมหานคร หลังจากที่รายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินได้รับการอนุมัติ สามเดือนหลังจากนั้น เครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินทำการเดิน "เทใจให้เทพา" เป็นระยะทาง 75 กิโลเมตร เพื่อยื่นจดหมายต่อนายกรัฐมนตรีให้ยกเลิกโครงการ ท้ายที่สุด ผู้ร่วมเดิน "เทใจให้เทพา" ถูกจับกุม 16 คน

  4_1

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ชุมชนจากพื้นที่ตือโละปาตานีและกระบี่ในนามเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพาได้อดอาหารประท้วงเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ จากการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandam of Understading) นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สั่งยกเลิกรายงาน EHIA ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและกระบี่ และตกลงที่จะให้กระทรวงพลังงานจัดทำรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อศึกษาว่าพื้นที่จังหวัดกระบี่ และอำเภอเทพา มีความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ โดยจะต้องจัดทำด้วยนักวิชาการที่มีความเป็นกลางที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับร่วมกัน และหากการศึกษาชี้การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินว่าไม่เหมาะสม กฟผ. ต้องยุติการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสองพื้นที่ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 9 เดือน

แต่การดำเนินการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์( the strategic environmental assessment) ได้กลายเป็นประเด็นขัดแย้งอีกครั้งเนื่องจากรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานลงนามแต่งตั้งคณะศึกษา SEA ใหม่โดยมีองค์ประกอบทั้งหมดเป็นผู้สนับสนุนให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้น การพิจารณาให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้จึงกลับมาอีกครั้ง

กิจกรรมในวันนี้ยังรวมถึงการนำเสนอรายงานซึ่งจัดทำขึ้นโดยเครือข่ายตือโละปาตานี ชื่อว่า "ตือโละปาตานี วิถีการพัฒนาอย่างยั่งยืน: การประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชนกรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา" ซึ่งใช้วิธีการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) ที่มาจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลในชุมชนถึงสิทธิ และความเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และช่วยประกอบการตัดสินใจในชุมชน

  3_1

"กรีนพีซร่วมยืนหยัดกับชุมชนในการส่งเสียงของชุมชนที่เป็นห่วงต่อผลกระทบด้านสุขภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อมในชุมชน สิทธิและเสียงของชุมชนไม่ควรถูกละเลย การพัฒนาอย่างยั่งยืนจะต้องมุ่งไปที่ชุมชน ความต้องการของชุมชนและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่" จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงาน กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว

 

หมายเหตุ:

[1] ตือโละปาตานี คือ พื้นที่ของระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกันจากอำเภอเทพา จังหวัดสงขลาถึงแหลมตาชี จังหวัดปัตตานี

[2] https://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=2325:eia-ehia&catid=15&Itemid=112

[2] https://www.sourcewatch.org/index.php/Thepha_power_station

[3] http://www.boell-southeastasia.org/en/2018/05/11/coal-situation-thailand-and-strategic-environmental-assessment

[4] รายงานตือโละปาตานี วิถีการพัฒนาอย่างยั่งยืน: การประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชนกรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/Teluk-Patani-Sustainable-Livelihood-and-CHIA