ฉายหลักคิด“บี.กริม” คัมภีร์ธุรกิจยืนยาว 140 ปี

ฉายหลักคิด“บี.กริม” คัมภีร์ธุรกิจยืนยาว 140 ปี

เปิดหลักคิดองค์กร 140 ปี บี.กริม กรุ๊ป ธุรกิจครอบครัวส่งต่อทายาทรุ่น  3 บนหลักเคลื่อนธุรกิจด้วยใจโอบอ้อมอารี เกื้อกูลทุกทั้งห่วงโซ่ ร่วมสร้างสรรค์คุณค่าให้กับโลก จึงมีมิตรธุรกิจมากมาย พนักงานอยากร่วมงาน ไม่เป็นปัญหากับสังคม เป็นองค์กรยืนยาว 

นับเป็นเวลา 140 ปีที่ครอบครัวนักธุรกิจจากยุโรปภายใต้ บี.กริม” (B.Grimm)  ขยายอาณาจักรธุรกิจเข้ามาในไทย โดยปัจจุบันธุรกิจถูกส่งต่อมาถึงทายาทรุ่น 3 ของครอบครัวชาวเยอรมัน อดอล์ฟ ลิงค์” เภสัชกรชาวเยอรมัน ปู่ของ ฮาราลด์ ลิงค์ แม่ทัพใหญ่ (ประธานบี.กริม กรุ๊ป) นำพาธุรกิจบี.กริม สยายอาณาจักรธุรกิจหลากหลาย (Conglomerates) จนกลายเป็นกลุ่มธุรกิจสัญชาติเยอรมันที่ใหญ่ที่สุดในไทย

ทว่า ก่อนธุรกิจของ "บี.กริม " จะถูกส่งต่อมายังครอบครัวลิงค์ ธุรกิจเริ่มต้นในปี 2421 โดยเพื่อนคู่ซี้ “แบร์นฮาร์ด กริม" เภสัชกรวิศวกรเยอรมัน และแอร์วิน มุลเลอร์ หุ้นส่วนชาวออสเตรีย ที่เดินทางมายังไทยและก่อตั้งห้างจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมและเคมีภัณฑ์ขึ้นที่ถนนโอเรียนเต็ล ห้างนี้ชื่อว่าสยามดิสเป็นซารี่ ถือเป็นร้านยาในรูปแบบแพทย์สมัยใหม่แห่งแรกในไทย ด้วยความรู้ ความสามารถและความชำนาญในวิชาชีพของบุคคลทั้งสอง จึงทำให้เป็นที่รู้จักและได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เภสัชกรหลวงแห่งราชสำนักไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

ทั้งคู่ยังจ้าง อดอล์ฟ ลิงค์ เป็นผู้จัดการห้างขายยาดังกล่าว ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาและเคมีภัณฑ์ จนถึงเวชภัณฑ์ต่างๆ

กระทั่งกิจการเติบใหญ่ อดอล์ฟ ลิงค์ เลื่อนตำแหน่งมาเป็นผู้จัดการ ก้าวสู่การเป็นผู้ถือหุ้นและช่วยขยายกิจการ และได้ซื้อหุ้นเป็นเจ้าของธุรกิจในวันที่ผู้ก่อตั้งทั้งคู่ เกษียณอายุในปี 2459 

ทำให้ธุรกิจถูกส่งต่อมายัง ตระกูลลิงค์จนสานต่อธุรกิจมายาวนานเป็นร้อยปี

ในยุคของฮาราลด์ ลิงค์ ซีอีโอในวัย 63 ปี จากมีพนักงาน 500 คน เป็น 1,531 คน เพิ่มยอดขายจาก 500 ล้านบาท เป็น 50,000 ล้านบาท ภายในเวลา 40 ปีของการเคลื่อนธุรกิจ

อะไรทำให้ธุรกิจบี.กริม ยืนยาวเป็นร้อยปี ในมุมมองของเขา สิ่งที่ยึดถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ (Norm) มาตลอด คือ Doing business with compassion for development of the civilization in harmony with nature  แปลเป็นภาษาไทยคือ “ทำธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี เพื่อสร้างความศิวิไลซ์ ภายใต้ความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ"

“มนุษย์ทุกคนเกิดมาก็ส่งผลกระทบกับโลก แม้แต่คนที่เดินขบวนต่อต้านธุรกิจ หรือมีความคิดขัดแย้งกัน แต่เราต้องยึดหลักทำธุรกิจแบบตั้งใจทำให้โลกใบนี้เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม เพราะหากโลกอยู่ไม่ได้ เราก็ต้องตาย ธุรกิจก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน เราจึงต้องพัฒนาธุรกิจบนพื้นฐานการสร้างชีวิตให้สังคมและสิ่งแวดล้อม ประเทศดีขึ้น” เขาเล่าถึงหลักคิดที่มองทุกส่วนบนโลกใบนี้อย่างพึ่งพาอาศัยกัน

คัมภีร์ธุรกิจที่บี.กริม ยึดถือนี้ กลายเป็นสร้างความยั่งยืนให้องค์กรธุรกิจผ่าน 3 ห่วงคือ ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (Profit-People-Environment)

ลิงค์ ยังมองว่า งานทางสังคมของธุรกิจ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเดินคู่ขนานกับมิติทางธุรกิจ เศรษฐกิจ ไม่แปลกที่จะเห็นซีอีโอฝรั่งที่พูดไทยชัดถ้อยชัดคำผู้นี้ ไปร่วมในงานทางสังคม งานการกุศลในฐานะผู้อุปถัมภ์ อาทิ งานการศึกษา โดยเฉพาะงานดนตรีคลาสสิก ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิดุริยางค์ซิมโฟนี กรุงเทพ รวมถึงการก่อตั้งโปโลคลับในประเทศไทย ซึ่งเขาเน้น ดนตรีและกีฬาในเยาวชนเป็นหลัก เพราะหากสิ่งเหล่านี้เฟื่องฟู ก็เชิดชูความก้าวหน้า ศิวิไลซ์ ของชาติไทยต่อสายตาชาวโลก

นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นสนับสนุนสิ่งที่ยังไม่ค่อยมีคนทำ เช่น การอนุรักษ์เสือ และการสนับสนุนอุปกรณ์ให้เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ไว้ดูแลรักษาป่า เป็นต้น

“บี.กริม ชอบสนับสนุนสิ่งที่สำคัญเพื่อประเทศ ทำให้ชื่อเสียงประเทศดีขึ้น แม้จะมีผู้สนับสนุนน้อยหรือไม่มีเลย เช่น ดนตรีคลาสสิค ที่มีประโยชน์หากให้แม่มีครรภ์เปิดให้เด็กฟัง จะทำให้เด็กจิตใจดี มีความสุข” นี่คือเหตุผลที่บี.กริม กรุ๊ป ยอมลงทุนมหาศาลเพื่อสร้างหอแสดงดนตรีและศิลปวัฒนธรรม(Music Hall) แห่งใหม่ใจกลางกรุง บนถนนวิทยุ ที่กำลังจะเปิดตัวในเร็วๆ นี้

ประธานบี.กริม กรุ๊ป ยังให้มุมมองของการทำกิจกรรมรับผิดชอบต่อสังคม (CSR-Corporate Social Responsibility) ว่า เป็นคำที่คนใช้กันเยอะ ซึ่งเราไม่ต้องการที่จะใช้คำนี้ เพราะในความจริง CSR เป็นเพียงแค่กิจกรรมหนึ่ง คุณลุง และคุณป้า (อัลม่า ลิงค์ ) ทำงานการกุศลในสังคมไทยมาตลอด นี่จึงทำให้คุณป้าอัลม่า เป็นต่างชาติคนแรกที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็น“คุณหญิง”

“งานด้านสังคมของบี.กริม กรุ๊ป เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจตั้งแต่ยุคก่อตั้ง ทุกสมัย จึงไม่อยากใช้คำว่า CSR เพราะมักคำนี้มักจะถูกตีความว่าธุรกิจทำไม่ดีไว้ เลยต้องทำอะไรคืนให้สังคม แต่บี.กริม กรุ๊ป เราทำเรื่องที่มาตลอด”

นั่นหมายถึงทุกที่ตั้งที่บี.กริม กรุ๊ป เข้าไปปักธงลงทุ จะต้องให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย (Stakeholders) ตั้งแต่ คู่ค้า สังคม พนักงาน จนถึงประเทศชาติ ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในห่วงโซ่สร้างคุณค่า (Share Value) ร่วมกัน จึงจะเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

“ทำธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี ทำให้ทุกคนเกี่ยวข้องกับบี.กริม กรุ๊ป มีความสุข ทั้งพันธมิตร คนขายของ ผู้ร่วมทุน ไม่บีบเขา แต่ต้องเติบโตไปพร้อมกัน”

ด้าน ปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทบี.กริม เพาเวอร์ มือขวาที่ทำงานร่วมกับบี.กริม กรุ๊ป มากว่า 26 ปี และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บี.กริม กรุ๊ป เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 10ปีให้หลัง มองว่า การแปลคำเป็นไทยว่า ทำธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี ฟังดูดราม่า แต่มันคือสิ่งที่บี.กริม กรุ๊ป ยึดถือปฏิบัติมาจริง เพราะเราเป็นบริษัทที่มีพื้นฐานเป็นมิตรกับทุกคน เมื่อถึงวันที่ลำบาก เช่นในยุควิกฤติเศรษฐกิจ (ต้มยำกุ้ง) ปี 2540 จึงทำให้บี.กริม กรุ๊ป รอดพ้นวิกฤติมาได้ ส่วนหนึ่งเพราะได้รับความช่วยเหลือจากพันธมิตรธุรกิจในเยอรมันและที่อื่นๆ เพราะเชื่อมั่นว่าบี.กริม กรุ๊ป จะไม่โคดโกงหรือเอาเปรียบใคร 

“ช่วงวิกฤติเรากำลังสร้างโรงไฟฟ้าโรงแรกในกลุ่ม ซึ่งก็ผ่านมาได้เพราะมีพาร์เนอร์อย่างซีเมนส์ (Siemens) และสถาบันการเงิน เข้ามาสนับสนุน ไม่ทิ้งเราเมื่อยามลำบาก เพราะเชื่อในมิตรภาพของบี.กริม กรุ๊ป 

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้บี.กริม กรุ๊ป อยู่มากว่า 140 ปี เพราะการปรับตัวที่รวดเร็ว ทำธุรกิจสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตั้งแต่วันแรกก็มีบทบาทในการพัฒนาเกษตร ขุดคลอง จนถึงปัจจุบันก็มีส่วนในการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยการสร้างโรงไฟฟ้า

ที่สำคัญ คือ แม้จะเป็นธุรกิจครอบครัว แต่ความเป็นเจ้าของที่ให้เกียรติพนักงาน ให้อิสระ ไม่เข้ามาจู้จี้จุกจิก ทำให้ทุกคนที่เป็นพนักงานรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของธุรกิจร่วมกัน ทำให้ธุรกิจมีความคล่องตัวและทำงานออกมาให้มีประสิทธิภาพ และคุณภาพ สามารถคว้าโปรเจคใหญ่มาครองได้ ด้วยการทำงานเป็นทีม พนักงานรู้สึกสนุกและมีสวนร่วมไปกับการประสบความสำเร็จในทุกโครงการ