โคเวิร์คกิ้งสเปซไทยอาร์แอนด์ดี ก้าวสู่‘เทคชอป’

โคเวิร์คกิ้งสเปซไทยอาร์แอนด์ดี ก้าวสู่‘เทคชอป’

“เทคชอป” ระดับต้นแบบของเอเชีย ทำหน้าที่ปั้นกำลังคนป้อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เป็นหนึ่งในเป้าหมายของไทยอาร์แอนด์ดี

“เทคชอป” ระดับต้นแบบของเอเชีย ทำหน้าที่ปั้นกำลังคนป้อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เป็นหนึ่งในเป้าหมายของผู้ประกอบการซ่อมบำรุงเครื่องจักรกล ดึงสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมสนับสนุนทั้งเม็ดเงินและหลักสูตรความรู้

สมศักดิ์ แสงสว่างศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยอาร์แอนด์ดี โซลูชั่นส์ จำกัด กล่าวว่า เป้าหมายดังกล่าวไม่ไกลเกินจริงและมีความเป็นไปได้สูง เพราะบริษัทมีต้นทุนความรู้พร้อมทั้งอุปกรณ์เครื่องจักรที่จะใช้ในการอบรมจากธุรกิจเดิมที่ซ่อมบำรุงและฟื้นสภาพเครื่องจักรมือสอง และที่สำคัญยังตอบโจทย์อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

เทคโนโลยีคืนชีพหุ่นยนต์

แรงผลักดันในการยกระดับการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ ส่งผลให้เกิดความต้องการจากโรงงานอุตสาหกรรมที่จะใช้หุ่นยนต์มาช่วยในสายการผลิตมีมากขึ้น แต่ยังพบข้อจำกัดเรื่องจำนวนผู้เชี่ยวชาญและ System Integrator (SI) หรือผู้ติดตั้งดูแลระบบที่ยังมีน้อย ในขณะที่งานปรับปรุงสายการผลิตส่วนใหญ่มีความซับซ้อนและเฉพาะเจาะจงในแต่ละสถานประกอบการ ดังนั้น การเพิ่มจำนวนและพัฒนาทักษะด้านอุตสาหกรรมให้กับเอสไอ จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน

การบริการที่เปิดพื้นที่ในลักษณะเมกเกอร์สเปซและหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะด้านการฟื้นฟูสภาพหุ่นยนต์ ให้แก่ผู้ที่ต้องการเป็นเอสไอ โดยร่วมกับโปรแกรมโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ไอแทป) ของ สวทช. และภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดหลักสูตรอบรมให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมที่สนใจรวมถึงสถาบันการศึกษา เพื่อผลิตบุคลากรกลุ่มนี้ออกมา โดยไทยอาร์แอนด์ดีฯ ทำหน้าเป็นตัวกลางรับงานและรับรองคุณภาพแก่ผู้ว่าจ้างเพื่อเกิดความมั่นใจ คาดว่าภายใน 3 ปี รายได้ 50 ล้านบาทและกลายเป็นต้นแบบ “เทคชอป” ในเอเชีย

สำหรับกลุ่มเป้าหมายคือ เอสเอ็มอีใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 1.อาหารแปรรูป 2. ยานยนต์และชิ้นส่วน 3. เหล็ก 4. พลาสติก และ5.ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ที่มีแนวโน้มเกิดการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากอาศัยแรงงานต่างชาติ และแรงงานในประเทศลดลง เพราะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การใช้เครื่องจักรและหุ่นยนต์ แต่ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณ ทำให้การฟื้นฟูสภาพ (ซาก) หุ่นยนต์จึงเป็นคำตอบเหมาะสมที่สุด

“หุ่นยนต์หยิบยกสิ่งของที่หนัก 150 กิโลกรัม ราคา 1.6-1.8 ล้านบาท อายุการทำงาน 10 ปี แต่ถ้าเป็นหุ่นยนต์ที่ทำการฟื้นฟูสภาพจะเหลือราคาเพียง 6-8 แสนบาท อายุการใช้งานมากกว่า 5 ปี”

ทั้งนี้ โครงการความร่วมมือดังกล่าวเกิดจากการที่บริษัท แมชีนเนอรี่เอ็มโปเรียม (1995) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการด้านเครื่องจักรอุตสาหกรรมและพัฒนาหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรม ขอรับการสนับสนุนจากโปรแกรมไอแทปมากกว่า 10 โครงการในระยะเวลากว่า 10 ปี โดยทางไอแทปให้การสนับสนุนในส่วนของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนานวัตกรรมเครื่องจักรกลอุตสาหกรรม เช่น โครงการการฟื้นฟูสภาพ (Retrofitting) ของหุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรมเคลื่อนที่อิสระ 6 แกน

โครงการการฟื้นฟูสภาพของเครื่องตัดแผ่นโลหะด้วยแสงเลเซอร์แบบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการติดตั้งระบบควบคุมซีเอ็นซีและไฟเบอร์เลเซอร์ จนได้เครื่องตัดโลหะด้วยแสงเลเซอร์ที่ได้รับการฟื้นฟูสภาพ และองค์ความรู้ในการดัดแปลง ปรับปรุง ฟื้นฟูสภาพเครื่องตัดด้วยแสงเลเซอร์ เป็นต้น

เมื่อบ่มเพาะองค์ความรู้ด้านเครื่องจักรอุตสาหกรรมมาระดับหนึ่ง จึงได้ร่วมมือกับไทยอาร์แอนด์ดีฯ ในลักษณะของการสนับสนุนจัดหาเครื่องจักรอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนกิจกรรมเมกเกอร์สเปซนี้

ปั้น SI ป้อนอุตฯเป้าหมาย

ผศ.ชนะ รักษ์ศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ กล่าวว่า หลักสูตรการอบรมจะมุ่งเนื้อหาเกี่ยวกับองค์ประกอบทางกล เช่น ระบบเกียร์ ระบบต่อเชื่อมข้อต่อ องค์ประกอบทางไฟฟ้า เช่น เซอร์โวมอเตอร์ การต่อเชื่อมสัญญาณทางไฟฟ้า ขั้นตอนการฟื้นฟูหุ่นยนต์ทางกล เช่น การถอดประกอบเซอร์โวมอเตอร์ การถอดประกอบระบบถ่วงสมดุลของแกนหมุน และขั้นตอนการฟื้นฟูหุ่นยนต์ทางไฟฟ้า เช่น การปรับตั้งระบบควบคุมแขนหุ่นยนต์ การทดสอบการทำงานของหุ่นยนต์

รวมถึงยังมีภาคปฏิบัติแก่ผู้เข้าอบรม ประกอบด้วย การถอดประกอบเซอร์โวมอเตอร์ การซ่อมบำรุงระบบถ่วงสมดุลของแกนหมุน การถอดและติดตั้งระบบป้อนกลับตำแหน่ง การปรับตั้งระบบป้อนกลับตำแหน่งกับชุดขับมอเตอร์ การปรับตั้งระบบควบคุมแขนหุ่นยนต์ และการทดสอบการทำงานของแขนหุ่นยนต์ เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาทักษะเอสไอด้านการฟื้นฟูสภาพหุ่นยนต์ ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนระบบหุ่นยนต์ของผู้ประกอบการ

รวมทั้งเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้มีความพร้อมใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรม และดูแลรักษาซ่อมบำรุงเบื้องต้นได้ รวมถึงเป็นการเพิ่มจำนวนเอสไอที่เป็นผู้ติดตั้งดูแลระบบ รองรับความต้องการและกระตุ้นการใช้หุ่นยนต์ให้มากขึ้นในอนาคต แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานคน และยกระดับคุณภาพการผลิตของอุตสาหกรรมไทย