ราคาน้ำมันดิบลดหลังดีดตัวใกล้ทะลุ 72 ดอลล์

ราคาน้ำมันดิบลดหลังดีดตัวใกล้ทะลุ 72 ดอลล์

สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าเวสต์เท็กซัส ปิดตลาดวันพฤหัสบดี(17พ.ค.)ตามเวลาสหรัฐ ปรับตัวลง หลังจากดีดตัวขึ้นใกล้แตะระดับ 72 ดอลลาร์ ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์แตะระดับ 80 ดอลลาร์ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2557

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือนมิ.ย. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาดไนเม็กซ์ ปิดตลาดไม่เปลี่ยนแปลงจากราคาปิดวันก่อนที่ราคา  71.49 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ปรับตัวลง 9 เซนต์ ปิดตลาดที่ราคา 79.19 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากทะยานขึ้นไปแตะที่ราคา 80.50 ดอลลาร์/บาร์เรลในช่วงเปิดตลาด

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 4 ไตรมาส ซึ่งจะเป็นช่วงขาขึ้นของราคาน้ำมันที่ยาวนานที่สุดในรอบกว่า 10 ปี โดยได้แรงหนุนจากจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งจะปูทางให้สหรัฐทำการคว่ำบาตรอิหร่านครั้งใหม่

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า สหรัฐจะประกาศคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของอิหร่านจำนวน 200,000-1,000,000 บาร์เรล/วัน

ขณะนี้ อิหร่านถือเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก โดยเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) โดยอิหร่านส่งออกน้ำมันมากกว่า 2.6 ล้านบาร์เรล/วัน หลังจากที่มีการลงนามในข้อตกลงในปี 2558 กับกลุ่มประเทศ P5+1 ซึ่งได้แก่ จีน รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐ และเยอรมนี ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้ P5+1 ผ่อนปรนการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน เพื่อแลกกับการที่อิหร่านระงับการพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้แรงหนุนจากการที่สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (อีไอเอ) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐลดลงในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางตัวเลขของสถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (เอพีไอ) 

อีไอเอ เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐลดลง 1.4 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทาง API ที่ระบุว่าสต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 4.9 ล้านบาร์เรล ส่วนสต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 3.8 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าสต็อกน้ำมันลดลง 1.4 ล้านบาร์เรล

ขณะที่ สต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล ร่วงลง 92,000 บาร์เรล เทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าสต็อกน้ำมันลดลง 2.2 ล้านบาร์เรล

ทั้งนี้ โอเปกจะประชุมกันในวันที่ 22 มิ.ย. เพื่อทบทวนนโยบายการผลิตน้ำมัน หลังจากที่มีมติขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 1.8 ล้านบาร์เรล/วันจนถึงสิ้นปีนี้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน