5 อำเภอยื่นขออย. ขยายพื้นที่ 'ปลูกกัญชง'

5 อำเภอยื่นขออย. ขยายพื้นที่ 'ปลูกกัญชง'

ป.ป.ส. จัดอบรมเทคนิคกำกับดูแลพื้นที่ "ปลูกกัญชง" คุมปริมาณสารเสพติดไม่ให้เกิน 1% ป้องกันนำไปใช้ในทางที่ผิด เผย 5 จังหวัด 5 อำเภอ ยื่นขออย.อนุมัติพื้นที่ปลูกเพิ่ม

เมื่อวันที่ 17 พ.ค.61 นายชลัยสิน โพธิเจริญ รองเลขาธิการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมการปฏิบัติงานควบคุมและกำกับดูแลการปลูกเฮมพ์ (กัญชง) เป็นพืชเศรษฐกิจ เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการควบคุม กำกับดูแลการปลูก และพิจารณาอนุญาตเพื่อให้การเพาะปลูกเฮมพ์ (กัญชง) เป็นพืชเศรษฐกิจเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศอย่างแท้จริง โดยมีผู้เข้ารับการอบรม ประกอบด้วย คณะทำงานควบคุมและกำกับดูแลเฮมพ์ (กัญชง) ระดับจังหวัด จำนวน 8 จังหวัด (เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ตาก แพร่ เพชรบูรณ์ ปทุมธานี และขอนแก่น) ชุดปฏิบัติการตรวจสอบเฮมพ์ จำนวน 14 อำเภอ และ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. รวม 150 คน

ในการอบรมครั้งนี้ จะนำผู้เข้ารับการอบรมลงพื้นที่สถานีเกษตรหลวงปางดะ เพื่อศึกษาการดำเนินงานการวิจัยและการปรับปรุงสายพันธุ์กัญชง การจัดระบบการปลูกเฮมพ์ ภายใต้ระบบควบคุมให้มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนา บินอล (Tetrahydrocannabinol – THC) ต่ำกว่า 0.3 % และวิธีการตรวจสอบหาปริมาณ THC ซึ่งเป็นกลไกการควบคุมและกำกับดูแลการปลูกกัญชงจากภาครัฐ ที่ได้กำหนดการขออนุญาตปลูก พื้นที่ปลูก และให้ใช้ประโยชน์ได้เฉพาะตามที่ได้รับอนุญาต และต้องมีการตรวจวัดปริมาณสาร THC ของกัญชงที่ปลูก ต้องไม่เกิน ร้อยละ 1.0 ต่อน้ำหนักแห้ง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำกัญชงไปใช้ในทางที่ผิด แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชงให้มากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2561 มีพื้นที่ปลูกกัญชงที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)แล้ว จำนวน 4 จังหวัด 8 อำเภอ ได้แก่ สะเมิง ฝาง แม่วาง แม่แจ่ม หางดง จ.เชียงใหม่ ,เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ,สองแคว จ.น่าน และพบพระ จ.ตาก และอยู่ระหว่างยื่นขออนุญาตจาก อย.จนถึงขณะนี้ มีจำนวน 5 จังหวัด 5 อำเภอ ได้แก่ สันทราย จ.เชียงใหม่, อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ,อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ,อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ,และอ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น ทั้งนี้มีพื้นที่อนุญาตมีไว้ครอบครอง จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งจะต้องอบรมชี้แจงทำความเข้าใจกลไกการทำงานในพื้นที่ทั้ง 2 ระดับ ให้มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีการขออนุญาตได้