สงครามชิง 'พร็อพ เทค' บนอาณาจักร ‘สมาร์ทโฮม’

สงครามชิง 'พร็อพ เทค' บนอาณาจักร ‘สมาร์ทโฮม’

สมาร์ทโฮมแอสซิสเทนต์ถือเป็นเทคโนโลยีสำหรับผู้บริโภคด้านที่อยู่อาศัยที่เติบโตเร็วที่สุด

การประกาศเปิดตัวของ “กูเกิล แอสซิสเทนต์ (Google Assistant)” เวอร์ชั่นภาษาไทย ส่งผลให้ภาคธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทย มองเห็นประโยชน์ของการนำเอาผู้ช่วยอัจฉริยะของค่ายกูเกิลเข้าไปช่วยตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคดิจิทัล 

เนื่องจากกูเกิลแอสซิสเทนต์ถูกขนานนามว่าเป็นปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) ที่เข้าใจผู้คนมากที่สุด ด้วยพื้นฐานทางการจัดการข้อมูลที่แข็งแกร่ง ผสานไปกับการสั่งสมบิ๊กดาต้าอย่างมหาศาล ทำให้มีคุณสมบัติมากพอที่จะมาเป็นผู้ช่วยที่ทรงประสิทธิภาพซึ่งมีความเข้าใจ พูดคุยได้อย่างเป็นธรรมชาติ และมีความสมเหตุสมผล

ตัวอย่างการนำไปใช้ที่น่าสนใจในตลาดประเทศไทยเอง ล่าสุด บริษัท สิริ เวนเจอร์ส จำกัด(SIRI VENTURE)บริษัทร่วมทุนในรูปแบบคอร์ปอเรท เวนเจอร์ แคปปิตอลในเครือแสนสิริทำการวิจัยและลงทุน เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ด้านProperty Technology (พร็อพ เทค) อย่างเต็มรูปแบบเป็นรายแรกของไทย

ปูทางชิงผู้นำอุตฯอสังหา

จิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี บริษัท สิริ เวนเจอร์ส จำกัด เผยว่า เล็งเห็นถึงศักยภาพของกูเกิล แอสซิสเทนต์ ที่สามารถตอบโจทย์การก้าวขึ้นเป็นผู้นำพร็อพ เทค จึงได้ร่วมมือกับ "ซีดีจีไทยแลนด์( Google Developer Group)" กลุ่มนักพัฒนาที่สนใจเทคโนโลยีของกูเกิลในประเทศไทยพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ บนแพลตฟอร์ม กูเกิล แอสซิสเทนต์

โดยพัฒนาขึ้นมาใช้งานกับสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้าน เช่นลำโพง กูเกิล โฮม (Google Home), แอพพลิเคชั่น กูเกิล แอสซิสเทนต์ ในระบบแอนดรอยด์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัยในทุกแพลตฟอร์มให้กับผู้อยู่อาศัย 

พร้อมกันนี้ เปิดทางให้ผู้อยู่อาศัยในโครงการต่างๆ ของแสนสิริ ใช้ชีวิตได้สะดวกสบายขึ้น โดยมุ่งพัฒนายอดฟังก์ชั่นการสั่งงานภาษาไทย เพื่อการตอบโจทย์ผู้ใช้งานชาวไทยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งนอกจากการร่วมสนับสนุนนักพัฒนาให้สร้างแอพบนแพลตฟอร์มแล้ว ยังมีกิจกรรมเวิร์คช็อป และการแข่งขัน Hackathon ด้วย

ผู้บริหารสิริ เวนเจอร์สขยายความถึงการพัฒนาร่วมกันในครั้งนี้ว่า จะมีการเปิดตัว โฮม เซอร์วิส แอพพลิเคชั่น (Home Service Application) บนแพลตฟอร์มกูเกิล แอสซิสเทนต์ และ กูเกิลโฮม ที่รองรับการสั่งการด้วยเสียงภาษาไทยอย่างเต็มรูปแบบ 

ดีเดย์ให้บริการไตรมาส3

บริษัทตั้งเป้าเปิดให้ใช้กับโครงการของแสนสิริในไตรมาสที่ 3 ของ 2561 ซึ่งนอกเหนือจากฟังก์ชั่นรองรับการสั่งการด้วยเสียงภาษาไทยแล้ว ยังได้ร่วมมือกับซีดีจีประเทศไทยร่วมกันส่งเสริมให้ สตาร์ทอัพสัญชาติไทยเข้ามาร่วมพัฒนาแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ เพิ่มคุณสมบัติการใช้งานกูเกิล แอสซิสเทนต์เวอร์ชั่นภาษาไทยช่วยให้ลูกบ้านใช้ชีวิตสะดวกสบายและตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของคนยุคดิจิทัล 

อาทิ การเช็คข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของโครงการ รวมถึงการส่งพัสดุ การส่งข้อความหานิติบุคคล และการแจ้งซ่อมอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้านฯลฯ ซึ่งการพัฒนาในครั้งนี้จะทำให้สามารถสั่งงานด้วยเสียงได้ รวมไปถึงใช้งานจริงได้กับกูเกิลโฮม ซึ่งถือเป็นการต่อยอดให้เหมาะกับการใช้งานของคนไทยมากขึ้น 

เนื่องจากปัจจุบันไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีดิจิทัลตลอดเวลา ด้านทิศทางของทั่วโลกก็มีการพัฒนาด้านสมาร์ทโฮมและเติบโตอย่างรวดเร็ว ในภาพรวมประเมินขณะนี้ประเทศไทยยังมีการเข้าถึงไม่มากนัก ส่วนหนึ่งคาดว่ามาจากข้อจำกัดในด้านการสื่อสารกับอุปกรณ์สมาร์ทโฮมที่ยังไม่ค่อยรองรับคำสั่งภาษาไทย

สำหรับโรดแมปในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับสมาร์ทโฮมนั้น แบ่งออกเป็นแผนระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นจะเป็นการพัฒนาแอพพลิเคชั่น โฮม เซอร์วิส ให้สามารถสั่งการด้วยเสียงภาษาไทยผ่าน กูเกิลโฮม ได้โดยตรง โดยจะสามารถใช้งานได้จริงภายต้นไตรมาส 3 ปีนี้ และในอนาคตจะพัฒนาเพื่อรองรับระบบอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที) คือการใช้งานอย่างครอบคลุมสามารถสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างสิ่งของกับสิ่งของด้วยกัน ซึ่งจะทำให้เกิดผลดีกับผู้บริโภคอย่างมหาศาล

ชูไอทีเสริมแกร่งธุรกิจ

ปัจจุบัน “สมาร์ท โฮม แอสซิสเทนต์(Smart home assistant)” เช่น ลำโพงสั่งการด้วยเสียงที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และถือว่าเป็นเทคโนโลยีสำหรับผู้บริโภคด้านที่อยู่อาศัยที่เติบโตเร็วที่สุดโดยมีจำนวนผู้ใช้งานเกินกว่า 50 ล้านรายในปี 2561 หรือเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวจากปีก่อนหน้า 

คาดว่าอุปกรณ์เหล่านี้จะมีผลต่อพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรแกรมการสั่งงานด้วยเสียงนั้นจะถูกพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ จากการเก็บข้อมูลการใช้งานจริงจากผู้ใช้งาน กูลเกิลจำนวนมากในประเทศไทยด้วยระบบเอไอส่งผลให้เพิ่มประสิทธิภาพของตัวเครื่องให้ตอบโจทย์ในสิ่งที่ผู้อยู่อาศัยต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ที่ผ่านมา ในต่างประเทศมีการพัฒนาไปจนถึงจุดที่ กูเกิล แอสซิสเทนต์ สามารถทำงานร่วมกับ Third party หรือบริการต่างๆ ที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค ด้วยการสั่งการผ่าน กูเกิล โฮม ได้โดยตรง เช่น การเรียกดูข้อมูลข่าวสารจากซีเอ็นบีซี, การเลือกดูหนังจากเน็ตฟลิกซ์(Netflix), การสั่งอาหาร หรือการเรียกใช้บริการขนส่งสาธารณะออนไลน์ ซึ่งฟังก์ชั่น เหล่านี้ สามารถใช้งานด้วยการสั่งการด้วยเสียงได้ทันที 

ดังนั้นคาดหวังว่าจะมีสตาร์ทอัพไทยรายใหม่ๆ เห็นโอกาสและอยากเข้ามาพัฒนาฟังก์ชั่นนี้ โดยใช้ประโยชนจากการเก็บข้อมูลของ กูลเกิล แอสซิสเทนต์ มาพัฒนาต่อยอด

"การช่วงชิงความได้เปรียบทางธุรกิจในยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น หัวใจสำคัญ คือการนำเทคโนโลยีที่ทรงประสิทธิภาพมาใช้เสริมความแข็งแกร่งในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่จำต้องช่วงชิงมองหาเทคโนโลยีเข้ามาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ให้มีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น" จิรพัฒน์ กล่าว