'ไอเฟค' ทางสว่าง 'กฤษฎีกา' ชี้จัดประชุมผู้ถือหุ้นได้

'ไอเฟค' ทางสว่าง 'กฤษฎีกา' ชี้จัดประชุมผู้ถือหุ้นได้

"กฤษฎีกา" วินิฉัยชัดเจน กรรมการมีอำนาจเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเลือกตั้งกรรมการแทนที่ว่างได้ รายย่อย “ไอเฟ็ค” เดินหน้าทวงคำตอบกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พร้อมส่งเรื่องพึ่งก.ล.ต.ช่วยอีกแรง

นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา แจ้งบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ 839/2561 เรื่องการเรียกประชุมคณะกรรมการในกรณีที่ไม่มีประธานกรรมการ หรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ และการดำเนินการในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการว่างลงจนไม่ครบองค์ประชุม ตามพ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 ตามที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าสอบถามความเห็นมาตามหนังสือเลขที่ พณ 0817/415 ลงวันที่ 19 ก.พ.2561

คณะกรรมการกฤษฎีกา วินิจฉัยในตอนหนึ่งว่า กรรมการที่เหลืออยู่นั้น มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อเลือกตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างทั้งหมดโดยเร็ว นอกจากนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบและกำกับดูแลการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดโดยตรง การทำหน้าที่ในการวินิจฉัยปัญหาข้อขัดข้องในการดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวให้ได้ข้อยุติที่ชัดเจน

ขณะที่วันนี้ (15 พ.ค.) กลุ่มผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ไอเฟค เดินทางไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเพื่อยื่นหนังสือขอความชัดเจนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในการจัดประชุมผู้ถือหุ้นไอเฟคเพื่อแต่งตั้งกรรมการของบริษัท โดยอ้างถึงบันทึกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่วินิจฉัยให้กรรมการที่เหลืออยู่เรียกประชุมผู้ถือหุ้นได้ พร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ช่วยดำเนินการและสนับสนุนให้เกิดการจัดประชุมผู้ถือหุ้นตามกรอบของกฎหมาย และจะยื่นเรื่องขอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ละตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) สั่งให้กรรมการบริษัทที่เหลืออยู่ดำเนินการเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นต่อไป

นายสำรวย แดงด้วง รองอธิบดี กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้รับแฟ็กซ์จากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องนี้แล้ว แต่ยังไม่ได้รับหนังสือตอบกลับอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของข้อกฎหมาย ซึ่งเวลาการแก้ปัญหาก็ต้องหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา, ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงสมาคมบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้ทิศทางปฎิบัติเป็นไปตามแนวทางเดียวกัน

"เราไม่อยากแก้ปัญหาเฉพาะรายใดรายหนึ่งเท่านั้น แต่อยากทำให้เป็นรูปแบบและกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ในการดำเนินการ หลังจากนี้กรมฯจะทำเป็นประกาศแนวทางในการดำเนินการที่ถูกต้องว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้หากเกิดกรณีแบบนี้เกิดขึ้นจะได้มีต้นแบบและแนวทางในการดำเนินการในอนาคต"