'มีชัย' ไม่ค้านหากจะเว้น 'ไพรมารี่โหวต'

'มีชัย' ไม่ค้านหากจะเว้น 'ไพรมารี่โหวต'

"มีชัย" ไม่ค้านหากจะเว้น "ไพรมารี่โหวต" บอกขึ้นกับ "คสช.-พรรคการเมือง" ตกลงกัน ย้ำเจตนารมณ์รธน. ให้ปชช. มีส่วนร่วมเลือกผู้สมัคร ส.ส.

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่นักการเมืองตั้งข้อสังเกตว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองเพื่องดเว้นการใช้การเลือกตั้งขั้นต้น (ไพรมารี่โหวต) เพื่อหาผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค เพื่อเอื้อให้กับพรรคการเมืองของ คสช. ว่า ตนไม่ทราบ แต่กรณีการยกเลิกหรือไม่อาจต้องรอฟังผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อคำร้องที่นักการเมืองยื่นให้วินิจฉัยความของคำสั่ง หัวหน้าคสช. ที่ 53/2560 ซึ่งแก้ไขพ.ร.ป.พรรคการเมือง และการพูดคุยกับฝ่ายการเมือง ในวันที่ 1 มิ.ย. นี้ อย่างไรก็ตามการไม่ใช้หรืองดเว้นการใช้ไพรมารี่โหวตนั้นอาจทำให้ไม่ตรงกับที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำหนดและเขียนไว้ในเชิงลึก แต่ส่วนของกรธ. นั้นเขียนเจตนารมณ์ไว้เพียงแค่ให้ประชาชนฐานะสมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมต่อการหาผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคเท่านั้น

นายมีชัย กล่าวด้วยว่า ต่อประเด็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับสถานะสมาชิกพรรคการเมืองหลังพ้นวันที่ 30 เมษายน นั้นอาจจะมีผลกับการทำไพรมารี่โหวต คือ หากศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าความที่ส่งให้วินิจฉัยนั้นใช้ไม่ได้ จะทำให้พรรคต้องหาสมาชิกให้เพียงพอต่อการทำไพรมารี่โฆวต แต่หากคำวินิจฉัยระบุว่าความนั้นขัดเท่ากับว่าฐานะสมาชิกพรรคยังเป็นเหมือนเดิม หรือหลักล้านคน การทำไพรมารี่โหวตต้องมีจำนวนเยอะมากขึ้น ซึ่งกรณีดังกล่าวจะสัมพันธ์กับช่วงเวลาที่ต้องส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วย โดยประเด็น พ.ร.ป.พรรคการเมืองนั้น หากวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ จะเป็นอำนาจของ คสช. ที่ต้องแก้ไข

นายมีชัย ยังกล่าวถึงการวินิจฉัยร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า มีความเป็นไปได้ 3 แนวทางคือ 1. ไม่ขัด จะไม่เป็นปัญหาใด, 2.ขัดแต่ไม่ใช่สาระสำคัญ ยังสามารถใช้ได้ และ 3.ขัดโดยเป็นสาระสำคัญ ร่างกฎหมายต้องตกไปทั้งฉบับและร่างใหม่

"ผมพูดบนความสมมติ ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความขัดกับรัฐธรรมนูญ จะเป็นหน้าที่กรธ. ต้องแก้ไข เพราะยังอยู่ในกระบวนการ แม้รัฐธรรมนูญจะบอกว่าให้กฎหมายตกไปทั้งฉบับ แต่ความจริงไม่ใช่การยกร่างใหม่ทั้งหมด เพียงแค่แก้ไขส่วนที่ขัด แต่ผมตอบไม่ได้ว่าจะใช้เวลากี่วัน เพราะต้องรอดูเนื้อหาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน แต่เมื่อถึงตอนนั้น แม้ผมจะแก่ แต่ผมสามารถทำงานแบบข้ามคืนได้" นายมีชัย กล่าว.