ลดความเลื่อมล้ำด้วยโซเชียลอินโนเวชั่น

ลดความเลื่อมล้ำด้วยโซเชียลอินโนเวชั่น

“เทคโนโลยีแปรรูปเศษอาหารให้กลายเป็นดินคุณภาพ” “ระบบเชื่อมโยงบริการผู้สูงอายุให้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและพึ่งพาตัวเองได้” ตัวอย่างความสำเร็จจากการผลักดันแพลตฟอร์มนวัตกรรมเพื่อสังคม มุ่งลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชน

“เทคโนโลยีแปรรูปเศษอาหารให้กลายเป็นดินคุณภาพ” “ระบบเชื่อมโยงบริการผู้สูงอายุให้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและพึ่งพาตัวเองได้” ตัวอย่างความสำเร็จจากการผลักดันแพลตฟอร์มนวัตกรรมเพื่อสังคม มุ่งลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชน

ปีที่ผ่านมา สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ ได้สนับสนุนโครงการนวัตกรรมด้านสังคมกว่า 90 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการสนับสนุนรวมกว่า 70 ล้านบาท และก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 580 ล้านบาท

แก้ปัญหาสังคมคลุมทุกมิติ

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมฯ กล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแพลตฟอร์มธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม เพราะเป็นกลยุทธ์ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและช่วยแก้ปัญหาสังคมในหลายภาคส่วนได้อย่างยั่งยืน

ขอบข่ายการสนับสนุนของเอ็นไอเอครอบคลุม 9 ด้าน ได้แก่ 1. การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 2.ความเชื่อมโยงระหว่าง อาหาร น้ำและพลังงาน 3. ภาครัฐและการศึกษา 4. การเงิน การจ้างงานและสวัสดิการสังคม 5. เกษตรกรรมยั่งยืน 6. ความเป็นเมือง 7. สุขภาพ 8. การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม และ 9. การจัดการภัยพิบัติ โดยมีกลไกการสนับสนุนร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในรูปแบบต่างๆ

ยกตัวอย่างความสำเร็จ เช่น อินโนเวสท์ (Inno Waste) เครื่องแปรรูปขยะเศษอาหารให้กลายเป็นดินคุณภาพได้ภายใน 30 นาที ดินที่ได้มีค่าเฉลี่ยของไนโตรเจน โปแตสเซียมและฟอสฟอรัส สูงกว่าค่าเฉลี่ยดินการค้าทั่วไป ในแง่ผลกระทบเชิงธุรกิจ สามารถช่วยรัฐบาลลดค่าจัดการและกำจัดขยะสูงสุดกว่า 1,890 ล้านบาทต่อปี (คิดที่ 1 หมื่นเครื่อง) รายได้จากการจำหน่ายดิน 9,720 ล้านบาทต่อปี (เทียบกับดินก้ามปูในตลาดราคากิโลกรัมละ 10-20 บาท คิดที่ 1 หมื่นเครื่อง)

ผลกระทบต่อชุมชน คือลดปัญหาความสกปรกและแมลงพาหะต่างๆ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชน ส่วนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็สามารถลดขยะวันละ 180 กิโลกรัมต่อเครื่อง ลดปริมาณคาร์บอนฟุตปริ้นต์จากการกำจัดขยะ 164 ตันคาร์บอนต่อปีต่อเครื่อง

อีกหนึ่งตัวอย่างคือ “ยังแฮปปี้” ระบบเชื่อมโยงบริการผู้สูงอายุให้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและพึ่งพาตัวเองได้ โดยระบบมีการจับคู่และติดต่อกับบริการต่างๆ ได้ เช่น การโทรเรียกรถฉุกเฉิน ระบบสามารถทราบถึงตำแหน่งและประวัติผู้ใช้บริการ

อีกทั้งการพัฒนาอยู่บนพื้นฐานของความตั้งใจที่จะเป็นเสมือนลูกหลานให้กับผู้สูงอายุด้วยการสร้างระบบคอลเซ็นเตอร์ ที่สามารถให้คำปรึกษาช่วยเหลือและให้บริการได้หลากหลาย เช่น การซ่อมบำรุงสิ่งของในบ้านที่ชำรุด การซื้อของที่ซูเปอร์มาเก็ต เรียกแท็กซี่ โทรแจ้งเตือนในนัดสำคัญ แจ้งนัดตรวจสุขภาพ แจ้งนัดพบคุณหมอ เป็นต้น

ระบบนี้สามาถสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุ 1.5 คนในระยะเวลา 5 ปี และลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล 30 ล้านบาท นับเป็นความสำเร็จในการสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมเพื่อสังคมไทยรับมือกับการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย

3 ปีลุ้นฮับในซีแอลเอ็มวี

ในปีนี้ เอ็นไอเอได้เดินหน้าขยายแพลตฟอร์มนวัตกรรมเพื่อสังคมให้สามารถตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในวงกว้าง โดยลงนามความร่วมมือกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาในหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นรูปธรรมร่วมกัน ใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.การสร้างเครือข่ายในภาคส่วนต่างๆ 2.การสร้างนวัตกรรมในภาครัฐ โดยผลักดันให้กลุ่มเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพและเยาวชนได้มีส่วนร่วมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาบริการสาธารณะต่างๆ จากภาครัฐ ให้มีความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

และ 3. การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเครือข่ายและการแลกเปลี่ยนกิจกรรมหรือองค์ความรู้เพื่อพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมในระดับประเทศและภูมิภาค โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม

กิจกรรมแรกหลังการลงนามบันทึกความร่วมมือคือ โครงการสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อสังคมในระดับเยาวชน หรือ Youth Co:Lab เช่น สนับสนุนการสร้างผลงานต้นแบบ การฝึกอบรม การจัดประกวดมอบรางวัล พร้อมด้วยการจัดกิจกรรมให้ความรู้โดยผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานเครือข่ายของ UNDP เพื่อพัฒนาไปสู่ขั้นตอนต่อไปให้ประสบความสำเร็จ

ส่วนในอนาคตยังได้เตรียมพัฒนาฐานข้อมูลผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมทั่วประเทศผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้หลากหลายผลงานเป็นที่รู้จักและสะดวกต่อการค้นหาโซลูชั่นที่จะช่วยตอบโจทย์ปัญหาสังคม