‘ออมสิน’ผนึก40มหาลัยฝึกอาชีพผู้มีรายได้น้อย

‘ออมสิน’ผนึก40มหาลัยฝึกอาชีพผู้มีรายได้น้อย

“ออมสิน” จับมือมหาวิทยาลัยกว่า 40 แห่งร่วมฝึกอาชีพคนจน ตั้งเป้าปีแรก 2 หมื่นราย เชื่อหลังฝึกอาชีพ จะช่วยคนจนมีรายได้เกินกว่า 1 แสนบาทต่อปี โดยจะใช้งบในการฝึกอบรมราว 50 ล้านบาทต่อปี

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายที่จะฝึกอบรมผู้ลงทะเบียนรับสวัสดิการภาครัฐที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปีให้ได้จำนวน 2 หมื่นราย จากนั้น จะทยอยฝึกอบรมให้ครบตามที่ผู้มีรายได้น้อยมาลงทะเบียนเข้ารับการฝึกอบรมไว้จำนวนกว่า 3 ล้านราย คาดว่า จะใช้งบประมาณปีละ 50 ล้านบาท

ทั้งนี้ การอบรมการฝึกอาชีพแก่ผู้มีรายได้น้อยดังกล่าว ธนาคารได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศกว่า 40 แห่ง โดยการฝึกอาชีพนั้น ทางธนาคารจะมีหลักสูตรกำหนดให้จำนวน 14 หลักสูตร เช่น การทำอาหาร ฝีมือช่าง การปฐมพยาบาลเบื้องต้น นวดแผนไทย เป็นต้น

เขากล่าวว่า เมื่อผู้มีรายได้น้อยสามารถฝึกอาชีพจนสามารถประกอบอาชีพได้แล้ว เชื่อว่า ผู้มีรายได้น้อยจะมีรายได้เกินกว่า 1 แสนบาทต่อปี ถือว่า พ้นเส้นความยากจน โดยเมื่อผู้มีรายได้น้อยสามารถมีอาชีพและมีรายได้ยั่งยืน เขาก็จะสามารถยื่นขอกู้เงินต่อธนาคารเพื่อการลงทุนได้ โดยที่มหาวิทยาลัยที่ฝึกอาชีพจะออกใบประกาศผ่านการฝึกอบรมให้

“ความร่วมมือระหว่างออมสินกับมหาวิทยาลัยนี้ เราตั้งเป้าหมายที่จะฝึกอาชีพให้ได้ 1.8 -2 หมื่นคน โดยแต่ละมหาลัยจะสามารถรับฝึกอบรมได้ครั้งละ 200-300 คน ถ้าเพิ่มได้เป็น 500 คน ก็จะสามารถฝึกอบรมได้ราว 2 หมื่นคนต่อปี แต่หากมีมหาลัยเข้าร่วมเพิ่มอีก เราก็จะสามารถฝึกอาชีพได้เพิ่มอีก”

นอกจากความร่วมมือในการฝึกอาชีพกับมหาวิทยาลัยแล้ว ทางธนาคารออมสินยังร่วมมือในด้านการสนับสนุนนักศึกษาให้คิดโครงการผลิตสินค้าใหม่ ซึ่งจะถือว่า เป็นหนึ่งในการผลิตนักลงทุนสตาร์ทอัพด้วย โดยเมื่อนักศึกษาคิดสินค้าใหม่ขึ้นมาได้ จะถือเป็นต้นแบบสินค้าเพื่อนำไปขายและสามารถส่งเข้าประกวดเป็นเอสเอ็มอีสตาร์ทอัพได้

“เรามีแผนที่จะเข้าร่วมทุนกับเอสเอ็มอีสตาร์ทอัพ ดังนั้น เราจึงส่งเสริมที่จะให้นักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆคิดค้นโครงการผลิตสินค้าที่มีนวัตรกรรมขึ้นมา ทั้งนี้ ปัจจุบัน เราได้เข้าร่วมทุนในกองทุนVenture แล้วประมาณ10 ราย เป็นวงเงิน 280-290 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติอีก 6 ราย และ อยู่ในกรอบการพิจารณาอีก 14 ราย หากสามารถอนุมัติได้ทั้งหมด จะมีวงเงินลงทุนรวม 1.2 พันล้านบาท”

สำหรับวงเงินสินเชื่อที่เราตั้งเป้าจะปล่อยให้แก่เอสเอ็มอีสตาร์ทอัพจะอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท ในปีหน้าตั้งเป้าจะปล่อยให้ได้ 8 หมื่นล้านบาท โดยขณะนี้ ธนาคารได้จัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกสินเชื่อสตาร์ทอัพเพิ่มขึ้นทั่วประเทศเป็น 82 แห่ง ดังนั้น ศูนย์นี้จะมีหน้าที่ขับเคลื่อนเอสเอ็มอีสตาร์ทอัพอีกทางหนึ่ง