วท.สร้างระบบนิเวศ ติดจรวดสตาร์ทอัพไทย

วท.สร้างระบบนิเวศ ติดจรวดสตาร์ทอัพไทย

พ.ร.บ.สตาร์ทอัพ-แซนด์บอกซ์และบัญชีสตาร์ทอัพไทยตามรอยบัญชีสินค้านวัตกรรม ที่เป็นช่องทางเข้าถึงระบบจัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงานรัฐ เป็นความพยายามของ “สุวิทย์ เมษินทรีย์” ในการเดินหน้าสร้างระบบนิเวศควบคู่กับการปลดล็อคข้อจำกัด

มุ่งสร้างความแข็งแกร่งให้นักรบเศรษฐกิจพันธุ์ใหม่ ทั้งหวังดึงเม็ดเงินลงทุนไทย-เทศ 4.4 หมื่นล้านบาท

“2 ปีของการสร้างนักรบเศรษฐกิจใหม่ก่อให้เกิดกระแสตื่นตัวเรื่องสตาร์ทอัพในประเทศเกิดภาพ Thailand startup universe ที่เป็นความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ได้ขยายสู่วงกว้างและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ“กรุงเทพฯ” ถูกยกให้เป็นเมืองที่ดีที่สุดสำหรับสตาร์ทอัพอันดับ 1 ในเอเชีย และอันดับ 7 ของโลก” สุวิทย์ กล่าว

สุวิทย์ กล่าวระหว่างการแถลงจัดงาน “สตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ 2018” ว่า ผลสำเร็จ 2 ปีที่ผ่านมาของสตาร์ทอัพไทยแลนด์สามารถสร้างสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพดีเยี่ยม และสตาร์ทอัพดาวรุ่งรวมมากกว่า 30 ราย, เกิดยูนิคอร์นรายแรก, เกิดสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพและดำเนินธุรกิจจริง 1,500 ราย และยังมีอีก 8,500 รายที่ยังไม่ได้จดทะเบียนดำเนินธุรกิจ รวมถึงก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่มากกว่า 15,000 อัตรา รวมทั้งดึงเม็ดเงินจากนักลงทุนภายในและต่างประเทศทั้งเอกชนและภาครัฐรวม 4.4 หมื่นล้านบาท

“หลังจากนี้จะมุ่งสนับสนุนให้สตาร์ทอัพโตอย่างมีคุณภาพ การสนับสนุนจากภาครัฐจะมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการปลดล็อคด้านกฎหมาย ทั้ง พ.ร.บ.สตาร์ทอัพที่แยกออกมาจาก พ.ร.บ. เอสเอ็มอี เพื่อลดอุปสรรคในการทำธุรกิจทั้งของไทยและต่างชาติ มีเงินสนับสนุนและบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์สตาร์ทอัพ เร่งการเติบโตและเชื่อมสตาร์ทอัพกับตลาดโลก ตามมาด้วย พ.ร.บ.แซนด์บ็อกซ์ ที่เอื้อให้การทดลองทดสอบเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับสตาร์ทอัพทำได้สะดวกขึ้น ซึ่งทั้ง 2 พ.ร.บ.นี้จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด” สุวิทย์ กล่าว

ส่วนการสนับสนุนในเชิงการตลาดนั้น ระบบจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐจะเป็นตลาดแรกสำหรับสตาร์ทอัพ เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถเข้าถึง โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งเป้าสนับสนุนให้เกิดเป็นรูปธรรมใน 3 เดือน ปัจจุบันเริ่มหารือกับกรมบัญชีกลาง โดยมีสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. รับผิดชอบดูแล จะนำร่องที่เทคโนโลยีบริการของรัฐ (Govt Tech) เทคโนโลยีการเกษตร (Agri Tech) และเทคโนโลยีเพื่อสขภาพ (Health Tech)

ทั้งยังเปิดโอกาสให้บรรดาสตาร์ทอัพสามารถรวมกลุ่มเป็นนิติบุคคล เพื่อเข้าร่วมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐในโครงการ การจัดซื้อจัดจ้างเชิงวิจัยและพัฒนาของภาครัฐ ที่สุวิทย์ชี้ว่า อยู่ระหว่างการยื่นเรื่องเข้า ครม.

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของสมาร์ท วีซ่า สำหรับสตาร์ทอัพต่างชาติที่เริ่มต้น 1 ปีแรก และหากมีการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ก็สามารถต่อวีซ่าได้อีก 2 ปี, เบโดลแอค (Bayh-Dole Act) ระบบจัดการทรัพย์สินทางปัญญาที่เอื้อให้เจ้าของผลงานวิจัยเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา และย่านนวัตกรรมจะเกิดที่ถนนโยธีเป็นเมดิโคโพลิส และย่านปุณณวิถีที่จะเป็น ทรู ดิจิทัล พาร์ค ปลายปี 2561