ปรับแพลตฟอร์ม Thaitradeshop ให้รายย่อย-เกษตรกร-SME ขายสินค้าออนไลน์

ปรับแพลตฟอร์ม Thaitradeshop ให้รายย่อย-เกษตรกร-SME ขายสินค้าออนไลน์

"พาณิชย์" ปรับแพลตฟอร์ม Thaitradeshop เพิ่มช่องทางให้รายย่อย-เกษตรกร-SME ขายสินค้าออนไลน์

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้ปรับรูปแบบเว็บไซต์ www.thaitrade.com แพลตฟอร์มค้าออนไลน์ของไทยให้เป็นแพลตฟอร์มค้าออนไลน์ระดับนานาชาติ ซึ่งนอกเหนือจากการขายสินค้าของผู้ประกอบการไทยออกสู่ตลาดต่างประเทศแล้วยังจะปรับโฉมและเปิดตัวเว็บไซต์ Thaitradeshop เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์ม B2C สำหรับการซื้อขายภายในประเทศในวันที่ 7 มิ.ย.61 เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย เกษตรกร และผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ให้มีโอกาสในการขายสินค้าออนไลน์ได้เพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน Thaitrade.com มีสถิติการซื้อขาย 4,960 ล้านบาท มีผู้ประกอบการค้าออนไลน์ 23,886 ราย มีสินค้าที่จำหน่ายกว่า 250,000 รายการ และคาดว่าหลังจากเปิด Thaitradeshop จะทำให้มูลค่าการซื้อขายเพิ่มมากขึ้น และมีจำนวนผู้ประกอบการและรายการสินค้ามาจำหน่ายเพิ่มขึ้น

"การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการมีแพลตฟอร์มกลางให้ผู้ประกอบการของไทยได้มีโอกาสในการขายสินค้าออนไลน์ โดยเฉพาะการปรับโฉม Thaitrade.com ให้รายเล็กๆ เกษตรกร และเอสเอ็มอี มีโอกาสในการค้าขาย ซึ่งจะช่วยให้สินค้าจากผู้ประกอบการเหล่านี้มีช่องทางในการจำหน่ายได้เพิ่มขึ้น และต่อไปยังสามารถขยายส่งออกไปขายต่างประเทศได้ด้วย" นายสนธิรัตน์ กล่าว

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงฯ ยังมีแผนจะโปรโมตเว็บไซต์ Thaitrade.com ให้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่เป็นกลุ่มเป้าหมายให้เข้ามาเยี่ยมชมและซื้อสินค้าในเว็บไซต์ เช่น  จีน อินเดีย เกาหลีใต้ สหรัฐฯ ไต้หวัน มาเลเซีย เวียดนาม สหราชอาณาจักร ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย โดยผู้เข้าเยี่ยมชมเหล่านี้ได้ลงทะเบียนเป็นผู้ซื้อแล้ว 164,460 ราย

ทั้งนี้ กระทรวงฯ จะเพิ่มการสื่อสารไปยังกลุ่มลูกค้าชาวจีนที่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผ่านการทำการตลาดออนไลน์บน Search Engine อย่าง Baidu และยังปรับเว็บไซต์ Thaitrade.com ให้สามารถแสดงผลเป็นภาษาจีนเพื่อรองรับการเข้าชมที่มากขึ้นจากกลุ่มผู้ซื้อจากประเทศจีน ซึ่งจะทำให้มีลูกค้าชาวจีนเข้ามาซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันจะเชื่อมโยงความร่วมมือกับแพลตฟอร์มค้าออนไลน์ระดับโลก เพื่อผลักดันให้สินค้าไทยเข้าไปจำหน่ายในเว็บไซต์ เช่น Amazon สำหรับตลาดสหรัฐฯ และยุโรป, Tmall สำหรับตลาดจีน , eBay ตลาดสหรัฐฯ , Bagantrade ตลาดเมียนมา , Shop JJ ตลาดสิงคโปร์ และ Gosoko ตลาดแอฟริกา รวมถึงกลุ่มตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ได้แก่ Coupang ตลาดเกาหลี, PayTM ตลาดอินเดีย เป็นต้น