'พิเชฐ' เยือนโรงเรียนมีชัย จ.บุรีรัมย์ ต้นแบบห้องเรียนออนไลน์

'พิเชฐ' เยือนโรงเรียนมีชัย จ.บุรีรัมย์ ต้นแบบห้องเรียนออนไลน์

“พิเชฐ” เยือนโรงเรียนมีชัยพัฒนา จ.บุรีรัมย์ ต้นแบบห้องเรียนออนไลน์ Coding Thailand แห่งแรกของไทย จุดประกายเด็กเข้าสู่โลกดิจิทัลตั้งแต่ประถมวัย หนุนต่อยอดพัฒนาเด็กรุ่นใหม่รู้เท่าทันเทคโนโลยี เตรียมพร้อมนำไปใช้พัฒนาประเทศในทุกมิติ

ในโอกาสการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.บุรีรัมย์ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้เดินทางไปยังโรงเรียนมีชัยพัฒนา ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ โดยการบริหารงานของ ดร.มีชัย วีระไวทยะ เพื่อเยี่ยมชมการเรียนการสอนที่เน้นให้เด็กคิดนอกกรอบ ใช้นวัตกรรมเป็นและเห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ กระทรวงดีอี โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ได้มีความร่วมมือกับ code.org สหรัฐอเมริกาและไมโครซอฟท์ นำโครงการ Coding Thailand หรือ ห้องเรียนออนไลน์เพื่อการเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ มาใช้เป็นครั้งแรกของประเทศไทย และจะนำมาสนับสนุนการเรียนการสอนของโรงเรียนมีชัยพัฒนา ขยายการเรียนการสอนที่ดีอยู่แล้วเชื่อมโยงกับ code.org ภาครัฐ และภาคเอกชนต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเด็กไทยให้เข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างแท้จริง โดยมอบให้ดีป้าดำเนินการพัฒนาระบบการพัฒนากำลังคนระดับประถมและมัธยม ในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเรียนผ่าน Coding Thailand เพื่อการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลคาดหวังคือ อยากเห็นประเทศไทยปรับตัวโดยการนำดิจิทัลมาใช้ในการเรียนการสอนมากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องการมากไปกว่าเด็กไทยมีความรู้เรื่องเทคโนโลยี คือ 1.การรู้เท่าทันโลกดิจิทัล 2. การนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ เนื่องจากเวลานี้มีแนวโน้มว่าผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมีอายุน้อยลง นั่นหมายความว่าดิจิทัลเข้ามามีบทบาททำให้คนพัฒนาตัวเองได้อย่างก้าวกระโดด ในอนาคตอันใกล้ การทำงานในลักษณะใช้ทักษะซ้ำ ๆ จะถูกลดความสำคัญลง และสุดท้ายคือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสู่การเรียนรู้อย่างเหมาะสม

ด้าน ดร.มีชัย ให้รายละเอียดเกี่ยวกับโรงเรียนว่า โรงเรียนมีชัยพัฒนา มีอีกชื่อหนึ่งว่าโรงเรียนไม้ไผ่ เป็นโรงเรียนอยู่ประจำในระดับมัธยม เด็กทุกคนจ่ายค่าเทอมเป็นการทำความดี 400 ชั่วโมง และปลูกต้นไม้ 400 ต้น ต่อปีการศึกษา แม้โรงเรียนจะรับเฉพาะเด็ก มัธยมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็ตาม แต่จะเปิดโอกาสให้เด็กระดับประถมในพื้นที่ต่าง ๆ เข้ามาเรียนรู้ด้วยเป็นระยะ เพื่อจุดประกายให้เด็กสนใจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ที่บทบาทสำคัญมากในปัจจุบัน การที่กระทรวงดีอี โดย ดีป้าและไมโครซอฟท์นำโครงการ Coding Thailand มาสนับสนุนการเรียนการสอนในครั้งนี้ จึงถือเป็นโอกาสที่ดีของเด็กไทยที่จะได้เข้าถึง เรียนรู้ และอัพเดทเทรนด์ด้านดิจิทัล ได้เท่าเทียมกับเด็กทั่วโลก พร้อมกันนี้ยังได้เรียกร้องไปยังรัฐบาลว่า อยากให้สนับสนุนทุนเพื่อให้เด็กได้พัฒนาสิ่งใหม่ ๆ อย่างในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม โรงเรียนก็จะเน้นสอนให้เด็กเรียนรู้เรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเกษตร เพื่อเข้าสู่การเป็น สมาร์ทฟาร์มมิ่ง เด็กที่จบออกไปหากสามารถคิด ประดิษฐ์ นวัตกรรมอะไรใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาเครื่องมือหรือเทคโนโลยีสนับสนุนการเกษตร ก็ควรจะให้เขาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวต่อว่า ดีป้าจะพัฒนาแพลตฟอร์ม Thaicode.org รูปแบบภาษาไทยพร้อมจัดชุดเนื้อหาให้เหมาะสมกับเด็กไทย และมีการนำฮาร์ดแวร์ชั้นนำของโลกมาประกอบการเรียนการสอนให้เด็ก ๆ ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์พัฒนาสู่การทำงานต่อไป โดยจะนำร่องที่โรงเรียนมีชัยพัฒนาและต่อยอดไปทั่วประเทศภายในปีนี้ เราเชื่อว่า Coding Thailand จะกลายเป็นเรื่องมือสำคัญในการพัฒนากำลังคนและบุคลากรด้านดิจิทัล โดยการกระตุ้นความสนใจในวิชาวิทยากรคอมพิวเตอร์ สำหรับเยาวชนและบุคคลทั่วไป เพื่อช่วยพัฒนาทักษะพื้นฐาน ในการวิเคราะห์ แก้ปัญหา และใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในทุกอาชีพ และมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต สามารถต่อยอดไปถึงการพัฒนาทักษะดิจิทัลในระดับสูง ถือเป็นการเตรียมความพร้อมในการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม การศึกษา และสังคม เข้าสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนเศษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลต่อไป