ตีกรอบ 90 วัน รู้ผลโกงเงินคนจนเฟส3

ตีกรอบ 90 วัน รู้ผลโกงเงินคนจนเฟส3

ป.ป.ท.ตั้งอนุไต่สวนอีก 4 จังหวัด "ขรก.-ผู้สนับสนุน" ถูกตั้งข้อกล่าวหาเพิ่มอีก 28 ราย ยอดทะลุ 245 ราย ยันให้ความเป็นธรรมถูกฝ่าย ไม่เหมารวม ส่วนการตรวจสอบเฟส 3 รวม 28 แห่ง ใช้เวลา 90 วัน

เมื่อวันที่ 10 พ.ค.61 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ท. เปิดเผยถึงการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินอุดหนุน ประเภทเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและคนไร้ที่พึ่งว่า วันนี้สำนักงานป.ป.ท.ได้เสนอให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. พิจารณาตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน 9 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท นครนายก ระยอง อุดรธานี อุทัยธานี กาญจบุรี เพชรบุรี สมุทรสาคร และประจวบคีรีขันธ์ ที่มีพฤติกรรมทุจริตเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่ง แต่ไม่นำเงินไปให้ตามรายชื่อ หรือให้ไม่ครบจำนวน โดยในช่วงเช้าที่ประชุมมีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวน 4 จังหวัด คือ ชัยนาท นครนายก ระยอง อุดรธานี อุทัยธานี มีข้าราชการถูกตั้งข้อกล่าวหา 28 ราย จากเดิม จำนวน 217 ราย รวมเป็น 245 ราย ซึ่งมีทั้งระดับผอ.ศูนย์คนไร้ที่พึ่ง, เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ และผู้สนับสนุน

พ.ต.ท.วันนพ กล่าวอีกว่า สำหรับจังหวัดที่เหลือก็จะทยอยนำเข้าที่ประชุมบอร์ด ป.ป.ท.ให้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนเพิ่มเติม ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะในแต่ละสำนวนคณะกรรมการต้องพิจารณาอย่างละเอียด และให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา เนื่องจากทุกรายชื่อที่ตั้งข้อกล่าวหาต้องส่งให้ต้นสังกัดสอบสวนทางวินัย และย้ายพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ ดังนั้น ต้องตรวจสอบให้รอบคอบ รายที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพียงเล็กน้อย หรือเพียงแค่บกพร่องต่อหน้าที่ก็ไม่ควรถูกเหมารวมว่ากระทำทุจริต

พ.ต.ท.วันนพ กล่าวถึงการจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวที่จ.สิงห์บุรี ว่า เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยจะพิจารณาจากประเด็นคุณภาพผ้าห่มเป็นอย่างไร ซื้อในราคาแพงเกินจริงหรือไม่ เปรียบเทียบกับราคากลางที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเคยตั้งงบจัดซื้อไว้ คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์จะทราบผล ส่วนการตรวจสอบนิคมสร้างตนเองและศูนย์พัฒนาราษฎร์บนพื้นที่ราบสูง รวมทั้งหมด 28 แห่ง หรือการขายผลสอบในเฟสที่ 3 ได้กำหนดระยะเวลาการตรวจสอบไว้ภายใน 90 วัน ซึ่งจะสามารถสรุปได้ว่ามีความผิดปกติในการเบิกจ่ายเงินหรือไม่