'ปิดทองหลังพระ' จับมือส่วนราชการดันแผนพัฒนาชุมชนที่เกิดจากชาวบ้านเอง

'ปิดทองหลังพระ' จับมือส่วนราชการดันแผนพัฒนาชุมชนที่เกิดจากชาวบ้านเอง

"ปิดทองหลังพระ" จับมือส่วนราชการดันแผนพัฒนาชุมชนที่เกิดจากชาวบ้านเอง จัดเวทีเสนอแผนยุทธศาสตร์พัฒนาตำบลแก่นมะกรูด จ.อุทัยธานี ตั้งเป้า 5 ปี ดึงรายได้ท่องเที่ยว ลดพืชการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพิ่มรายได้เกษตรกรครัวเรือนละ 5,400 บาท

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี นำส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้ารับฟังการนำเสนอแผนยุทธศาสตร์ที่ชาวบ้านร่วมจัดทำขึ้นตามโครงการพื้นที่ต้นแบบแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ

​แผนยุทธศาสตร์พัฒนาตำบลแก่นมะกรูด ของชาวบ้านประกอบด้วย 6 ด้าน คือ 1) การเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำ ให้มีน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค ตลอดทั้งปี ครอบคลุมพื้นที่ 4 หมู่บ้าน 16,711 ไร่ ผู้รับประโยชน์รวม 465 ครัวเรือน 2) พื้นที่ทำกินครอบคลุม 21,600 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่ได้รับการจัดสรร เพื่อไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่อีกต่อไป 3) ส่งเสริมเกษตรผสมผสาน สร้างรายได้ตลอดปี ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวปีละ 10% และชาวบ้านสามารถปลดหนี้อย่างน้อยปีละ 5% 4) ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้ได้มาตรฐาน มีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นปีละเท่าตัว 5) มีแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมภูมิปัญญา ความรู้ท้องถิ่นแก่เยาวชน และ 6) รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยมีการแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วม

​ทั้งนี้ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ได้เข้าไปบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆในการบริหารพื้นที่ เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี กรมป่าไม้ เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ชลประทานจังหวัด เป็นต้น มาตั้งแต่ปี 2556 มีหลักคิดในการดำเนินงานโครงการเพื่อควบคุม ดูแล รักษาและบำรุงป่าห้วยขาแข้ง และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่นโดยนำองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริ สร้างงานและอาชีพให้กับชาวบ้านกิจกรรมการพัฒนาในพื้นที่ เริ่มโดยกระบวนการสร้างความเข้าใจ เข้าถึงและการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมอาชีพ ฯลฯ ผลจากการพัฒนาตลอดระยะเวลา 5 ปี สามารถเพิ่มพื้นที่รับน้ำ 2,782 ไร่ ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้วยการปลูกพืชผสมผสานทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว จนสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้ถึง 2,700 ไร่ และลดการบุกรุกป่าได้ถึงปีละ 380 ไร่ การส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาว สตรอว์เบอร์รี และการท่องเที่ยว เช่นอาหาร ที่พัก ฯลฯ สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านเฉลี่ยต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 5,400 บาท