'รพ.วิภาวดี' ผุด 'ค้าปลีก' เสริมพอร์ตรายได้ ผลักฐานะโต

'รพ.วิภาวดี' ผุด 'ค้าปลีก' เสริมพอร์ตรายได้ ผลักฐานะโต

ได้เวลา 'โรงพยาบาลวิภาวดี' ลุกขึ้นมาเปิดขุมทรัพย์แห่งใหม่ พลิกเกมสู่สร้างรายได้เสริม หลังอุตสาหกรรมแข่งดุ 'ชัยสิทธิ์ วิริยะเมตตากุล' หุ้นใหญ่ ควักเงิน 400-500 ล้านบาท เปิดคอมเพล็กซ์ปลายปีนี้ หรือ ต้นปีหน้า

แม้ว่าผลประกอบการปี 2560 ของ บมจ. โรงพยาบาล วิภาวดี หรือ VIBHA ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนภายใต้ชื่อ 'โรงพยาบาลวิภาวดี' ออกมาเติบโต สะท้อนผ่าน 'กำไรสุทธิ' ที่ปรับตัวเพิ่มมาอยู่ที่ 868.55 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนระดับ 678.64 ล้านบาท สอดคล้องตามภาพรวมของอุตสาหกรรมโรงพยาบาลเอกชนไทยที่มีอัตราการเติบโตเป็น 'ตัวเลขสองหลัก' ทุกปี  

ทว่า หากโรงพยาบาลวิภาวดียังคงยึดติดอยู่กับการดำเนินธุรกิจรูปแบบเดิมๆ โอกาสการเติบโตยั่งยืนย่อมยากขึ้น จึงต้องเดินแผนรักษาฐานที่มั่นในธุรกิจเดิม 'การให้บริการด้านการรักษาพยาบาล' พร้อมไปกับรุกสู่ 'ธุรกิจใหม่' (New Business) เพื่อต้องการเสริมรายได้ธุรกิจหลัก

'ชัยสิทธิ์ วิริยะเมตตากุล' กรรมการผู้จัดการ บมจ.โรงพยาบาลวิภาวดี หรือ VIBHA เผยก่อนจะร่ายยาวถึงแผนธุรกิจปี 2561 ให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังในส่วนของธุรกิจใหม่ว่า

ในปัจจุบันได้เข้าไปลงทุนใน 'ธุรกิจค้าปลีก' รูปแบบลักษณะเป็น 'ศูนย์คอมเพล็กซ์' เงินลงทุน  'ราว400-500ล้านบาท' คาดว่าจะเปิดตัวช่วงปลายปี 2561 หรือ ต้นปี 2562  ซึ่งจะใช้บริเวณพื้นที่เดิมโรงพยาบาลวิภาวดี ล่าสุดบริษัทได้มีการซื้อที่ดินเพิ่มเติม จนปัจจุบันกลายเป็นทำเลทอง เพราะว่าโซนด้านหน้าติดกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมีทางเข้าออกด้านถนนวิภาวดี และติดถนนงามวงศ์วาน ที่สำคัญยังสามารถเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีแดงในอนาคตที่กำลังก่อสร้างอีกด้วย 

สำหรับรูปแบบการลงทุนคอมเพล็กซ์นั้น มีการออกแบบเป็นอาคาร 9 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย  2.2 หมื่นตารางเมตร และมีพื้นที่ขายประมาณ 7,000 ตารางเมตร  โดยแบ่งเป็นชั้น 1-3 จะเป็นศูนย์การค้า ซึ่งมีร้านค้า , ร้านกาแฟ , ศูนย์อาหาร  และสถานที่จัดงาน ส่วนชั้น 4-7 จะเป็นลานจอดรถรองรับได้ถึง 400  คัน ซึ่งจะเป็นระบบจอดรถแบบอัจฉริยะด้วยระบบคอมพิวเตอร์  และชั้น 8-9 เป็นคลินิคความงามกับคลินิคชะลอวัย  

'หุ้นใหญ่' บอกต่อว่า การลงทุนในธุรกิจค้าปลีกในครานี้ เป็นการมองเห็นโอกาสจากการมีจำนวนผู้ใช้บริการของโรงพยาบาลมาก และไม่ใช่เพียงแค่ผู้ป่วยเท่านั้น แต่ว่ายังรวมไปถึงครอบครัวของผู้ป่วย , ญาติ , เพื่อน และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลอีกด้วย สะท้อนผ่านจำนวนพื้นทีใช้สอยในปัจจุบันคับแคบไปทันที ปัจจุบันช่วงเวลาปกติมีจำนวนคนเข้ามาใช้บริการราว 8,000 คนต่อวัน 

'ฉะนั้น หากบริษัทสามารถทำให้ผู้ป่วยและญาติเวลามาโรงพยาบาลมีกิจกรรมอะไรทำระหว่างรอรับการรักษาประกอบกับทำเลค่อนข้างได้เปรียบและหาไม่ได้อีกแล้วที่จะได้พื้นที่เชื่อมกับมหาวิทยาลัย และรถไฟฟ้า จึงมองโครงการนี้น่าจะต่อยอดขยายธุรกิจได้'  

นอกจากนี้ ยังมี 'ธุรกิจคลินิกความงานและชะลอวัย' โดยบริษัทร่วมทุนถือหุ้นกับพันธมิตรถือหุ้น 50% ภายใต้ชื่อ 'วีดีไซต์' ซึ่งได้เปิดดำเนินการเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันสามารถทำกำไรได้แล้ว และมีการขยายพื้นที่เพิ่มในตึกใหม่แต่ยังไม่เพียงพอ ซึ่งคาดว่าอาคารใหม่จะมีการเพิ่มแผนกดูแลเส้นผมแยกต่างหากอีกด้วย ซึ่งจะมีการลงทุนเพิ่มเติมประมาณ 20-30 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม มีเป้าหมายเมื่อเปิดให้บริการจะมีคนสนใจเข้ามารับบริการไม่ต่ำกว่าวันละ 10,000 คน ซึ่งจะทำให้รายได้และกำไรเติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของรายได้จากค่าเช่าและบริการ ที่จะมีอัตราการเพิ่มขึ้น แต่จะมีผลต่อรายได้ค่ารักษาพยาบาลปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดประมาณ 90% 

เขา ยังระบุถึงขาธุรกิจหลักว่า แม้ว่าภาพธุรกิจทางการแพทย์และสุขภาพเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สี่ของชีวิตมนุษย์ทำให้มีผู้ป่วยใช้บริการอย่างต่อเนื่อง หากแต่การ “แข่งขัน” ก็ไม่ได้ง่าย เมื่อทุนรายใหญ่ทุนหนาใช้วิธีเน้นซื้อกิจการเพื่อให้มี 'ขนาดประหยัดต่อต้นทุนดีขึ้น' (Economy Of scale )

โดยโรงพยาบาลวิภาวดีถือว่าเป็นโรงพยาบาลขนาดกลางด้วยจำนวนเตียง 250 เตียง ซึ่งเน้นผู้ป่วยประกันสังคม หากเป็นบริษัทที่ลงทุนในโรงพยาบาลอื่นเพื่อสร้างเครือข่าย ปัจจุบันบริหารเองอยู่ 18   แห่ง มีจำนวน 1,800 เตียง และคาดว่าปีนี้มากกว่า 2,000 เตียง จากการขยายพื้นที่ของโรงพยาบาลวิภาวดี และโรงพยาบาลวิภาราม ถือว่าเป็นโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 

ทั้งนี้ หากแผนธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา บริษัทจะเน้นการเข้าไปลงทุนถือหุ้นใน 'ธุรกิจเฮลท์แคร์' เป็นหลัก เพื่อสร้างเครือข่ายให้กับกลุ่ม จนทำให้ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่เข้าไปลงทุนถึง 16 แห่ง อย่างไรก็ตาม ส่วนของธุรกิจโรงพยาบาลยังมีพื้นที่เหลือรองรับขยายได้อีก ซึ่งเตรียมแผนที่จะเพิ่มจำนวนเตียงกลับไปอยู่ที่ 320 เตียง และยังมีการขยายศูนย์สมอง , ศูนย์ทางเดินอาหาร , ศูนย์หัวใจ เข้ามาซึ่งรับรู้รายได้เข้ามาในครึ่งปีหลังเพิ่มขึ้น 

รวมทั้งในปีนี้ บริษัทยังรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในโรงพยาบาลอื่นอีก 11 แห่ง เช่นโรงพยาบาล นวมินทร์ ลงทุน 300-400 ล้านบาท จำนวน 59 เตียง คาดว่าจะเปิดให้บริการปลายปีนี้ มีการปรับปรุงโรงพยาบาลมเหศักดิ์ ซึ่งเพิ่งซื้อเข้ามาประมาณ 300 ล้านบาท  และต้องปรับปรุงเสร็จเรียบร้อยเมื่อไตรมาส 1/61 ซึ่งสามารถรองรับจำนวนได้ถึง 160 เตียง เงินลงทุนอยู่ที่ 50-80 ล้านบาท ซึ่งสามารถรองรับตลาดกลางและกลุ่มประกันสังคม จากพื้นที่โรงพยาบาลอยู่ในโซนออฟฟิคบริเวณถนนชิดลม   

สำหรับ ปีนี้ตั้งเป้ารายได้ 'โต 10-15%' จากปีก่อนที่มีรายได้ 6,432.21 ล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มธุรกิจโรงพยาบาลมีทิศทางดีขึ้นจากจำนวนผู้เข้าใช้บริการมากขึ้น และบริษัทในเครือหลายแห่งมีผลขาดทุนลดลงทั้งนี้ แนวโน้มไตรมาสแรกรายได้จะดีกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีไวรัสโรต้าแพร่ระบาด ทำให้มีผู้ป่วยเข้าใช้บริการจำนวนมาก ขณะเดียวกันบริษัทได้มีการขายหุ้นโรงพยาบาลในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ให้กับ บมจ.โรงพยาบาลราชธานี หรือ RJH ไปในช่วงก่อนหน้านี้ คาดว่าจะสามารถบันทึกกำไรราว 100 ล้านบาท เข้ามาในช่วงไตรมาส 1/61 อีกด้วย 

ท้ายสุด 'ชัยสิทธิ์' ทิ้งท้ายไว้ว่า แนวโน้มว่าผู้ป่วยนอกและในจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนม.ค.เป็นต้นไป เนื่องจากจากฝนฟ้าและอากาศที่ผิดปกติซึ่งเป็นแบบนี้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้คาดว่าผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 5% จากปีที่ผ่านมา ดังนั้น โรงพยาบาลจึงมีการเตรียมพื้นที่รองรับไว้ ไม่เช่นนั้นจะเสียโอกาสได้  

'พิจิตต์' ลูกไม้ใต้ต้นรพ.วิภาวดี

'ต๊ะ-พิจิตต์ วิริยะเมตตากุล' รองกรรมการผู้จัดการ บมจ. โรงพยาบาล วิภาวดี หรือ VIBHA และหนึ่งในทายาทของ 'ชัยสิทธิ์ วิริยะเมตตากุล' ที่กำลังก้าวเข้ามารับบทบาทเตรียมนำทัพธุรกิจเฮลท์แคร์ในอนาคต หลังจากจบปริญญาตรี คณะวิศกรรมการสื่อสาร มหาวิทยาลัยชินวัตร และไปต่อปริญญาโท ด้านการค้าระหว่างประเทศ ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน  และยังได้ปริญญาโทด้านกฎหมายธุรกิจ มหาวิทยาลัยราคำแหง 

สำหรับ ภารกิจที่เรียกว่า 'ท้าท้าย' ความสามารถของ 'หนุ่มต๊ะ' นั่นคือ 'การปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่' จากปัจจุบันเน้นการลงทุนในธุรกิจที่โรงพยาบาลด้วยกัน ทำให้มีการถือหุ้นกันไปมาระหว่างบริษัท เช่น รพ.วิภารามถือหุ้นในรพ.วิภาวดี และ รพ.วิภาวดีถือหุ้นในรพ.วิภาราม ซึ่งเป็นปัญหาในการเติบโตหากจะมีผู้ร่วมลงทุนเข้ามาใหม่เข้ามา 

'จากการที่เรามีคอนเน็กชั่นในจีนทำให้มีกองทุนหลายรายสนใจจะเข้ามาร่วมลงทุนไม่น้อย แต่มักจะติดปัญหา โครงสร้างของบริษัทมีการถือลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลไขว้กันไปมา ทำให้ไม่ง่ายหากจะลงทุน'

ทั้งนี้ หลังได้มีโอกาสสัมผัสตลาดคนจีน เขายอมรับว่า เป็นตลาดที่มีความต้องการ (ดีมานด์) ให้บริการธุรกิจเฮลท์แคร์ภาคเอกชนมาก และเป็นตลาดที่ใหญ่จากจำนวนประชากรระดับ 'พันล้านคน' ยิ่งล่าสุดรัฐบาลประเทศจีนมีนโยบายที่ให้มีลูกได้ครอบครัวละ 2 คน ทำให้ผู้หญิงที่มีอายุมากยากจะมีลูกเพิ่มอีก ทำให้สนใจเข้ามาให้บริการ

สะท้อนผ่านมีทุนจากจีนอยากจะเข้ามาร่วมลงทุนด้วย แต่ว่าการจะออกไปลงทุนก็ไม่ง่ายๆ ด้วยกฎเกณฑ์ที่ยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะข้อจำกัดของบุคคลากร อย่าง หมอจะทำงานได้แค่ไหน สามารถตรวจคนไข้ได้ไหม เพราะอาชีพแพทย์ยังสงวนให้เฉพาะคนไทยเท่านั้น    

รวมไปถึงการสอบใบวิชาชีพซึ่งภาครัฐยอมรับได้ไหม ทั้งในเรื่องของภาษา และเรื่องการควบคุมราคาและเงินกำไรจะเอาออกมาได้ไหม เพราะว่าจีนในบางพื้นที่มีนโยบายให้ลงทุนต่อ แต่บริษัทเป็นมหาชนทำแบบนั้นไม่ได้  ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นข้อจำกัด ที่จะเข้าไปลงทุนในจีนนอกจาก ภารกิจหลักในฐานะทายาทที่เข้ามามีบทบาทในการบริหารธุรกิจของครอบครัวแล้ว ในขณะที่พี่น้องคนอื่นๆ หันไปทำธุรกิจส่วนตัว ซึ่งตนเองมองว่าไม่ได้เป็นการกดดันอะไรหากเป็นสิ่งที่ถนัดด้วยซ้ำไป 

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองธุรกิจโรงพยาบาลในสายตา 'หนุ่มต๊ะ' วิเคราะห์ว่า เป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เข้ามายาก หรือ หากลงทุนคนเดียวยิ่งอันตรายด้วยกฎเกณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเข้ามาแข่งขันด้วยยาก เช่นออกกฎใหม่การโฆษณา ต้องเสียค่าตรวจสอบ ใบละ 2,000 บาท หรือ คลิปออกสื่อค่าตรวจวินาทีละ 100 บาท เป็นค่าใช้จ่ายที่สูง ดังนั้น รายใหม่เข้ามาจะสร้างแบนด์และชื่อเสียงมีต้นทุนที่สูงมาก จึงทำให้แบนด์ใหม่ที่จะเข้ามาแล้วจะประสบความสำเร็จได้ยากมากขึ้น  

ส่วนกลุ่มที่อยู่ในตลาดอยู่แล้ว หากอยู่เดี่ยวๆ จะอยู่ยาก เพราะส่วนใหญ่การเป็นเครือข่ายที่เอื้อประโยชน์มากกว่า เช่น การตั้งศูนย์มะเร็ง ถ้าเป็นโรงพยาบาลเดี่ยวๆ โอกาสทำเป็นศูนย์ยากเพราะลงทุนสูงไม่คุ้มกับจำนวนคนไข้ที่เข้ามารักษาหากเป็นเครือข่ายสามารถรวมคนไข้ได้เลยประหยัดต่อต้นทุนได้ทันที