จี้ผู้บริหาร 'ไอเฟค' ปมซื้อโรงไฟฟ้าเขมร 535 ล้าน

จี้ผู้บริหาร 'ไอเฟค' ปมซื้อโรงไฟฟ้าเขมร 535 ล้าน

ผู้ถือหุ้นไอเฟคจี้ "ผู้บริหาร" แจงปมโรงไฟฟ้าที่กัมพูชา 535 ล้านบาท กรณีซื้อที่แพง-ติดตั้งแผงโซลาร์ แค่10%

นางสาวเยาวลักษณ์ ฤทธิ์สมจิตต์ ในฐานะตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ได้รับความเดือดร้อนจากการลงทุนในหุ้น บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC เปิดเผยว่า "ภายหลังจากที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยและผู้ถือหุ้นกู้ออกมาเคลื่อนไหว เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม หลังจากได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการลงทุน IFEC และเรียกร้องให้กรรมการของบริษัทฯจัดประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ ให้เป็นไปตามกฎหมาย หลังจากที่ผ่านได้ร้องเรียนให้บริษัทมีการจัดประชุมฯ และได้สอบถามไปยังนายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร IFEC ในวันที่ 26 เมษายน 2561 ในการแถลงข่าวของนายศุภนันท์ ที่ได้ชี้แจงว่ากระบวนการอยู่ที่ศาล ซึ่งจากที่ผ่านมา1ปี5เดือนได้รับคำชี้แจง ว่าไม่สามารถดำเนินการได้โดยตลอดแต่ก็ยังไม่ได้มีความคืบหน้าใดๆ

ล่าสุด หลังจากผู้ถือหุ้นรายย่อยและผู้ถือหุ้นกู้ ได้ตามอ่านข้อมูลจากเฟสบุ๊คและสื่อโซเชี่ยลมีเดียจากเพจ "กลุ่มผู้เดือดร้อนจากการลงทุน IFEC และเพจพิชิตความสกปรก" ที่ออกมาเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นใน IFEC

จากข้อมูลวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ต่างเกิดข้อสงสัยโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าในเขมร ซึ่งพบว่ามีความผิดปกติ อาจมีการปกปิดข้อมูลการซื้อที่ดินรวมไปถึงการติดแผงโซล่า ที่มีมูลค่าสูงถึง 535 ล้านบาท แต่จนถึงขณะนี้โครงการดังกล่าวก็ยังสร้างไม่เสร็จ

“จากข้อมูลที่ผู้ถือหุ้นได้ รวบรวมมาจากสื่อ โซเชียลมีเดีย ซึ่งนำเสนอภาพถ่ายโรงไฟฟ้าที่กัมพูชา ก็ได้ทราบว่ามีอดีตกรรมการชื่อดังรายหนึ่ง และกรรมการปัจจุบันท่านหนึ่งร่วมลงนามอนุมัติซื้อที่ดินในราคาสูงถึง 206.97 ล้านบาท ขณะที่ราคาประเมินในเขมรอยู่ที่ 97 ล้านบาท เท่านั้น ซ้ำยังพบว่า ผู้ที่เป็นคนกลางหรือนายหน้าในครั้งนี้ ซื้อที่ดินโรงไฟฟ้ามาในราคาเพียงแค่ 18 ล้านบาท เท่านั้น”

นอกจากนี้ ยังพบความไม่ชอบมาพากล เกี่ยวกับการจัดซื้อแผงโซลาร์เซล ที่ใช้ในการติดตั้งโรงไฟฟ้าเขมร ซึ่งปัจจุบันติดตั้งได้เพียง 10% หรือประมาณจำนวน 6,000 แผง จากโครงการที่ต้องทำทั้งหมดต้องติดตั้ง 60,000 แผง

"ประเด็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการลงทุนโรงฟ้าเขมรมีมูลค่ากว่า 535 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นรายย่อยและผู้ถือหุ้นกู้จึงอยากเรียกร้องให้นายศุภนันท์ ต้องออกมาชี้แจงให้ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะทำให้บริษัทฯได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง"

ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นรายย่อยและผู้ถือหุ้นกู้ เตรียมนำข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติมกรณีทุจริตโรงไฟฟ้าเขมร ไปมอบให้กับสำนักงานก.ล.ต. เพิ่มเติม และเตรียมเข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กองบังคับการสอบสวนสืบสวนคดีเศรษฐกิจ (สศก.) ต่อไป