10 ชาติอาเซียน ร่วมหารือพัฒนาภาคการประมงในภูมิภาคให้ยั่งยืน

10 ชาติอาเซียน ร่วมหารือพัฒนาภาคการประมงในภูมิภาคให้ยั่งยืน

10 ชาติสมาชิกอาเซียน ร่วมหารือนโยบายพัฒนาด้านการประมงของภูมิภาค เพื่อพัฒนาการประมงให้เกิดความยั่งยืนและเกิดความมั่นคงทางด้านอาหาร

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมระหว่างประเทศ The 26th Meeting of the ASEAN Sectoral Working Group on Fisheries (26th ASWGFi) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 - 12 พฤษภาคม 2561 ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ สุขุมวิทซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมประมง เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม The 26th Meeting of the ASEAN Sectoral Working Group on Fisheries (26thASWGFi) โดยมี 10 ชาติสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย เพื่อร่วมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพิจารณานโยบายพัฒนาด้านการประมงของภูมิภาคอาเซียน โดยมีประเทศและองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการพัฒนาการประมงในอาเซียนเข้าร่วมหารือเพื่อร่วมกันพัฒนาการประมงในภูมิภาคอาเซียนให้เกิดความยั่งยืนและมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งประเทศสมาชิกจะมีการรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานในกิจกรรมที่ประเทศสมาชิกรับผิดชอบ รวมทั้งหารือการดำเนินกิจกรรมและผลักดันให้เกิดโครงการต่าง ๆ ที่จะเกิดประโยชน์กับประเทศสมาชิก พร้อมกำหนดทิศทางกรอบการดำเนินงานที่จะให้ภูมิภาคอาเซียนมีความร่วมมือ ด้านการประมงที่มีความเข้มแข็ง ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่ความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียนในการพัฒนาภาคการประมงในภูมิภาคมากขึ้นเป็นลำดับ และเกิดนโยบายประมงร่วมอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม อันจะนำไปสู่การใช้ทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืนภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มีความชัดเจนมากขึ้น

ด้าน นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดประชุมดังกล่าว มีคณะทำงานซึ่งเป็นระดับอธิบดี และระดับผู้ตัดสินใจเชิงนโยบายสูงสุด ในการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อพัฒนาการประมงของภูมิภาค ที่อยู่ภายใต้การประชุมของระดับรัฐมนตรีเกษตรและป่าไม้อาเซียน (AMAF) จะได้ติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการกิจกรรม /โครงการ ต่าง ๆ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์/ แผนงานความร่วมมือด้านการประมงของอาเซียน อาทิ โครงการด้านความมั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความปลอดภัยด้านอาหาร และความร่วมมือภายใต้มาตรการต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ จะมีการรายงานความก้าวหน้าโครงการ/กิจกรรมภายใต้ความร่วมมือด้านการประมงระหว่างอาเซียนกับองค์กรระหว่างประเทศ และประเทศผู้สนับสนุน ได้แก่ SEAFDEC, UNEP/GEF, Islamic Development Bank (IDB) , สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย ด้วย

“ประเทศไทยจะผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนในประเด็นที่มีความสำคัญ และเป็นปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการพัฒนาความร่วมมือด้านการประมงที่ประเทศไทยมีบทบาทนำ โดยจะนำมาหารือเพื่อเป็นกรอบแนวทางในบริหารจัดการประมงในภูมิภาคที่เอื้อต่อการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืน ประกอบด้วย 1) การพัฒนานโยบายประมงร่วมอาเซียน (ASEAN Common Fisheries Policy) 2) การผลักดันความปลอดภัยทางอาหารของอาเซียน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและประเทศคู่ค้า โดยยกระดับมาตรฐานตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงจนถึงส่งออก3) การบริหารจัดการด้านโรคสัตว์น้ำข้ามแดนระหว่างประเทศอาเซียน และ 4) การป้องกันยับยั้งและขจัดการทาประมง IUU” นายนายอดิศร กล่าว