แพมบาแชร์เวย์ส แอพฯแชร์รถบ้าน-แท็กซี่

แพมบาแชร์เวย์ส แอพฯแชร์รถบ้าน-แท็กซี่

“แพมบาแชร์เวย์ส”แอพพลิเคชั่นเสนอที่นั่งว่างในรถส่วนบุคคลแก่ผู้ร่วมเดินทางที่มองหายานพาหนะนำไปสู่จุดหมายในราคาประหยัด

“แพมบาแชร์เวย์ส” (Pamba Shareways) แอพพลิเคชั่นเสนอที่นั่งว่างในรถส่วนบุคคลแก่ผู้ร่วมเดินทางที่มองหายานพาหนะนำไปสู่จุดหมายในราคาประหยัด สะอาดและปลอดภัย หรือแอพฯ จับคู่การเดินทางร่วมกันแบบอัตโนมัติทางรถยนต์ส่วนบุคคลและรถแท็กซี่ ช่วยแก้ปัญหาการจราจร ลดการสร้างมลภาวะและการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อนและทำลายสุขภาพ

ผลงานวิจัยร่วมระหว่าง “สุริยพงศ์ ทับทิมแท้” ภาคธุรกิจเอกชน กับ ผศ.นพพร ลีปรีชานนท์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ) ได้รับรางวัลโล่เกียรติยศจากนครเมืองเจนีวา ซึ่งเป็นรางวัลระดับสูงสุดที่ประเทศไทยได้รับ และรางวัลเหรียญทองจากเวทีการประกวดนวัตกรรมนานาชาติครั้งที่ 46 ที่สวิตเซอร์แลนด์

“ออร์แกนิค”คาร์แชริ่ง

สุริยพงศ์ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Pamba กล่าวว่า ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานของระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ ที่มีจำนวนรถไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้มีรถยนต์สะสมอยู่มากกว่า 6 ล้านคัน แต่ละคันมี 4-6 ที่นั่งแต่ใช้จริง 2 ที่นั่งเท่านั้น จึงเป็นที่มาของโมเดลธุรกิจแบบ Car Sharing ภายใต้แนวคิด “ไปทางเดียวกัน รถคันเดียวกัน แชร์ค่าน้ำมัน ได้พบผู้คน”

“เราเน้นการเติบโตที่ยั่งยืนในรูปแบบของ “เทค เอสเอ็มอี” เน้นสร้างเครือข่ายกับมหาวิทยาลัย หน่วยงานราชการ แหล่งท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น และเติบโตแบบออร์แกนิคที่มีพื้นฐานจากความเป็นจริง ต่างจากสตาร์ทอัพที่เน้นระดมทุนหรือดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุน มีการทำโปรโมชั่น มุ่งตัวเลขการเติบโตแบบก้าวกระโดดและไม่เป็นมิตรกับธุรกิจรอบข้าง””

หลักการทำงานของแพมบาแชร์เวย์ส คือ ระบบจะค้นหาและจับคู่ผู้ที่ต้องการเดินทางไปในทางเดียวกันโดยรถยนต์ส่วนตัวหรือรถสาธารณะ อาทิ แท็กซี่ กับรถยนต์ที่มีพื้นที่ว่างในรถ ส่วนเจ้าของรถก็จะได้ค่าตอบแทนจากการแบ่งปันพื้นที่ให้ร่วมเดินทาง ในอีกมุมหนึ่งผู้ที่ร่วมเดินทางจะสามารถไปถึงจุดหมายปลายทางได้โดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง ช่วยลดปริมาณรถยนต์ ลดการสร้างมลภาวะและการใช้พลังงานเชื้อเพลิง

นอกจากนี้มีฟังก์ชันตรวจสอบข้อมูลเพื่อนร่วมทาง ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเข้าไปอ่านข้อมูลของผู้ใช้คนอื่นๆ ที่ลงทะเบียนไว้ ก่อนตัดสินใจร่วมสัญจร ทั้งยังมีห้องแชทอำนวยความสะดวกในการติดต่อเพื่อหาข้อมูลของผู้ร่วมเดินทางเพิ่มเติม หรือหากมีการเปลี่ยนแปลงแผนการเดินทาง โดยสามารถดาวน์โหลด pamba shareaways ได้ฟรี ทั้งในระบบแอนดรอยด์และไอโอเอส

ตอบโจทย์สังคมแบ่งปัน

“แพมบา แชร์เวย์สเป็นแอพฯฟรีในรูปแบบโซเชียลเอนเตอร์ไพรส์ ปีนี้นำร่องมุ่งให้บริการบนเส้นทางที่ไม่ค่อยมีรถโดยสารสาธารณะให้บริการ ในอนาคตอาจของบสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน เพื่อให้เติบโตได้มากขึ้นใน 3 ช่องทาง เริ่มจาก 1.เครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืน 24 แห่ง 2.หน่วยงานราชการ และ3. แหล่งท่องเที่ยว” นายสุริยพงศ์ กล่าว

กรณีช่องทางแหล่งท่องเที่ยวมีโครงการที่จะร่วมกับสมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทย เพื่อร่วมส่งเสริมและสนับสนุนการเที่ยวเมืองรอง เนื่องจากยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ชุมชน หรืออีกหลากหลายสถานที่ ที่รถโดยสารสาธารณะเข้าไม่ถึง ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการไปปักหมุดใน Destination เดียวกัน ก็สามารถที่จะเข้ามาจับคู่ร่วมเดินทางไปด้วยกัน ผ่านแพลตฟอร์มการให้บริการของแพมบาแชร์

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดให้ทดลองใช้โดยเน้นกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์-รังสิต) ที่มีกว่า 4 หมื่นคนเพื่อเป็นทางเลือก เพราะรถสาธารณะทั้งรถตู้และรถเมล์มีให้บริการไม่เพียงพอ หลังจากเปิดตัว 3-4 เดือน มีผู้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก4,000 คน ความถี่การใช้บริการ 10-20 ครั้งต่อวัน ซึ่งยังน้อยอยู่เนื่องจากอยู่ในช่วงปิดเทอม

“เราเซ็นเอ็มโอยูเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมากับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อการเข้าไปเติมเต็มการร่วมเดินทางให้กับกลุ่มนักศึกษา หรือบุคลากรของทางมหาวิทยาลัย หลังการทดสอบระบบจากศูนย์รังสิตมาท่าพระจันทร์ ระยะทางราว 50-60 กิโลเมตรนั้น ผู้โดยสารที่ใช้บริการคาร์แชริ่งเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 80-90 บาทเท่านั้น”

ทั้งนี้ แพมบาแชร์กำหนดเรทการช่วยกันแชร์ค่าเดินทาง ค่าทางด่วน ซึ่งจะถูกกว่ารถแท็กซี่ แต่จะแพงกว่ารถตู้ เพื่อตัดความเกรงใจและให้เป็นมาตรฐาน ส่วนเจ้าของรถซึ่งเป็นผู้กำหนดเส้นทางจะรับหรือไม่รับค่าบริการก็ได้ เนื่องจากเป็นการแบ่งปัน ส่วนเรตของการแชร์แท็กซี่จะหารในสัดส่วนเท่ากัน เพื่อตอบโจทย์สังคมแห่งการแบ่งปัน