‘เด็กฟิสิกส์’ มหิดลคว้าสุดยอดนักสื่อสารวิทย์

‘เด็กฟิสิกส์’ มหิดลคว้าสุดยอดนักสื่อสารวิทย์

เด็กฟิสิกส์อินเตอร์ปี 2 ม.มหิดล งัดไม้เด็ดเล่าเรื่องยากในประเด็นการส่งข้อมูลทางออนไลน์หรือการทำธุรกรรมออนไลน์ให้เข้าใจได้ง่ายและสนุก คว้าแชมป์นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ไทยเตรียมขึ้นแข่งเวทีระดับโลกที่สหราชอาณาจักร

เข้มข้นกว่าทุกปีกับการเฟ้นหานักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ในโครงการ “FameLab” เพื่อเป็นตัวแทนไปร่วมแข่งขันบนเวทีสื่อสารวิทยาศาสตร์ระดับโลก “Cheltenham Science Festival” ณ สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 5-9 มิ.ย.นี้ โดยความร่วมมือระหว่าง บริติช เคานซิล กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดอะสแตนดาร์ด และทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

ในประเทศไทยผู้เข้าแข่งขันจะต้องนำเสนอเรื่องราวหรืองานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์และเรื่องใกล้ตัว ให้มีความสนุก น่าสนใจ เข้าใจง่าย ภายใน 3 นาที ครอบคลุมหลักเกณฑ์ 3 ข้อ คือ เนื้อหาชัดเจน ถูกต้องและน่าสนใจ ในการแข่งขันรอบแรกมีผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกจนเหลือ 10 คนสุดท้าย ซึ่งได้เข้าร่วมการอบรมพิเศษหรือมาสเตอร์คลาสโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์จากสหราชอาณาจักร เพิ่มพูนทักษะการสื่อสารก่อนขึ้นเวทีรอบสุดท้าย

นายอภิวิชญ์ เหมะจันทร หรือ น้องข้าวตู นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาฟิสิกส์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ชนะเลิศการแข่งขัน FameLab Thailand 2018 นำเสนอเทคโนโลยีการส่งข้อมูลทางออนไลน์หรือการทำธุรกรรมออนไลน์ โดยระบุว่า ปัจจุบันนี้ทั่วโลกซื้อขายผ่านออนไลน์มากขึ้น เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า หมายเลขบัตรเครดิตของเราจะถูกส่งไปอย่างปลอดภัยหรือไม่เมื่อซื้อสินค้าออนไลน์ ทำอย่างไรที่จะส่งข้อมูลเหล่านี้ให้ปลอดภัยจากพวกแฮกเกอร์ หรือไม่ควรจะส่งข้อมูลโดยตรงแต่ส่งเป็นคลิปข้อมูลหรือเปลี่ยนรหัสข้อมูลให้เหมือนอ่านแล้วค่อยส่งไปและมีอีกระบบหนึ่งที่ใช้กันชื่อ โปรแกรม RSA ที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ที่จะเข้ารหัสข้อมูลที่ต้องการเก็บไว้เป็นความลับ

โปรแกรมนี้จะทำหน้าที่เข้ารหัสและถอดรหัสไฟล์ให้กับผู้ใช้โดยอัตโนมัติ ทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องเข้ารหัสและถอดรหัสไฟล์เอง โดยโปรแกรมจะใช้อัลกอริทึมในการเข้ารหัส 2 อัลกอริทึม หากใช้ระบบ RSA ข้อมูลที่ใส่รหัสแล้วแทบจะไม่สามารถปรับแก้ ก็เลยมีการนำไปใช้กับเครดิตการ์ด 

“ผมสนใจโครงการ FameLab เพราะเป็นเรื่องของการสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน น่าสนใจ มีเหตุและมีผล แต่หลายๆ คนอาจจะมองว่า วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก จะทำอย่างไรให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายๆ ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก สิ่งที่ยากที่สุดคือ การเลือกหัวข้อให้น่าสนใจ และการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพเข้าใจที่สุด การเตรียมตัวของผมคือ การหาข้อมูล นำมาเขียนบท จากนั้นฝึกซ้อมพูดบ่อยๆ พูดกับคนดูจริงๆ ซึ่งอาจจะเป็นคนที่ไม่คุ้นเคย หรือไม่รู้จักเรื่องที่เรานำมาพูด ทุกคนก็จะช่วยให้คำแนะนำ ซึ่งจุดนี้ทำให้เรามองเห็นจุดบกพร่องและแก้ไขได้ดี” นายอภิวิชญ์ กล่าว