ฝากโลกจารึกชื่อ ‘ช่วง มูลพินิจ’

ฝากโลกจารึกชื่อ ‘ช่วง มูลพินิจ’

“เศรษฐีฝากตัวเลขไว้ในธนาคาร ศิลปินฝากผลงานเอาไว้ในโลก” ถ้อยคำสัมภาษณ์ของ ช่วง มูลพินิจ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี พ.ศ. 2556 แห่งห้วงเวลา 50 ปีที่เขาฝากลายมือไว้กับงานศิลปะและแนวทางการทำงานของเขาก็ยังเด่นชัดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ ในโครงการส่งเสริมศิลปะไทย จึงจัดนิทรรศการศิลปะ ‘ช่วง มูลพินิจ ความรัก ธรรมะความงาม’ นำผลงาน 17 ชิ้นของศิลปิน สะท้อนตัวตนให้ผู้คนเห็นอีกครั้ง ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 

งานยุคแรกๆ ของการสร้างสรรค์ผลงานตั้งแต่ปีพ.ศ. 2504  หนังสือไตรภูมิพระร่วง นับว่ามีอิทธิพลทางจิตใจของศิลปินผู้นี้เป็นอย่างมาก  ตัวอักษรที่เคยผ่านตานำมาแปรเปลี่ยนให้เห็นเป็นภาพเขียนเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งคลื่นลูกใหม่

"ผมชอบหนังสือเรื่องไตรภูมิพระร่วง แม้ว่าอ่านไม่รู้เรื่อง การใช้ถ้อยคำแปลก คำอุปมาอุปไมยสิ่งต่างๆ มันเหนือความคิดเรา เช่น คนโบราณพูดถึงประโยคที่ว่า ‘เรียมร่ำน้ำเนตรถ้วม ถึงพรหม’ ความคร่ำครวญเสียใจจนร้องไห้ น้ำตาท่วมถึงชั้นพรหม ทำให้เรารู้สึกฝันถึงจินตนาการไม่รู้จักจบ หรือความเร็วของแสงที่เปรียบเทียบระหว่างนกบินเกาะยอดไม้ กับเงาที่ตกกระทบพื้นดิน ไม่รู้อะไรเร็วกว่ากัน ในงานเขียนของผมมีรูปนาฬิกามาอยู่ร่วมในเฟรม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผมเคยอยู่ในพันธการทางศิลปะจากซานซัลวันดารี ในภาพนั้นจึงมีห้วงเวลาสร้างเสน่ห์ให้แก่โบราณสถานแม้ว่าเก่า แต่ก็ดูมีเสน่ห์" 

20180316015703976

ภาพวาดที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือไตรภูมิพระร่วง

ถัดมาจากนั้นอีกไม่กี่ปี ฝีมือของช่วงบนผืนผ้าใบ บางส่วนปรากฏบนหน้ากระดาษ ยุคนั้นงานภาพประกอบหนังสือเป็นสิ่งท้าทายคนเช่นเขา บวกกับคำชักชวนของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เจ้าของสมญานามพญาอินทรีแห่งสวนอักษร ที่เคยกล่าวถึงช่วงว่า 'ผู้ไม่มีจริตของศิลปินและมีกลิ่นชนบท' ช่วยให้บานหน้าต่างแห่งงานศิลป์ของเขาเปิดกว้างออกไป 

"สมัยนั้นคนไม่กล้าทำ เพราะว่าคนอยากเป็นศิลปินมากกว่า งานเขียนรูปประกอบเป็นแค่พาณิชย์ศิลป์เท่านั้น 

ผมเขียนรูปประกอบให้กับหนังสือช่อฟ้า เป็นภาพประกอบล้อเลียนการเมือง ยุคหนึ่งขึ้นชื่อลือชาเรื่องคอร์รัปชั่น เพราะคนอยากร่ำรวย แล้วคุณรงค์ วงษ์สวรรค์ซึ่งอยู่อเมริกา คงเห็นงานเขียนภาพผ่านหนังสือเหล่านี้ ก็ชอบสไตล์ของผม พอเขากลับมาเมืองไทย ก็พยายามทำหนังสือเฟื่องนคร เป็นหนังสือรายเดือนรวบรวมเรื่องเสเพลบอยชาวไร่ที่เคยลงในสยามรัฐมาทำเป็นเล่ม ในเรื่องนั้นเป็นเรื่องบ้านนอก 

ผมคุยกับเขาว่า 

'พี่ ... ถ้าผมอยากเขียน มันก็ควรได้เขียน ถ้าบังคับเขียนรูปผู้ร้ายชกกัน พระเอกนางเอกจูบกัน ทำไมไ่ด้ ผมเขียนไม่ได้' 

คุณ'รงค์ ก็ตอบมาว่า 

'ทำไมจะเขียนเรื่องของผมไม่ได้ คุณเขียนรูปยอดหญ้ายอดเดียวก็ได้แล้ว เป็นภาพประดับให้หนังสือดูมีเสน่ห์ ไม่ใช่แห้ง เพราะเราเรียนหนังสือ เราดูภาพประกอบมาก ก็จริงอย่างที่เขาพูด สมัยก่อนหนังสือเด็ก หนังสือรายสัปดาห์ที่พ่อผมรับมาอ่าน ก็มีภาพประกอบอย่างเรื่องปัญญาเรณู หรืองานเขียนของครูเหม เวชกร วาดรูปคนมีฟิกเกอร์คล้ายมนุษย์จริง ศึกษามาจากชาวอิตาลีที่สร้างพระที่นั่งอนันตฯ สวยมาก  

20180316015703611

(จากซ้าย) ‘มดยิ้ม’ งานเขียนภาพประกอบหนังสือและภาพอารมณ์ขันของศิลปิน

จากการตีความคำพรรณาความงามของสตรีในวรรณคดี

ผมก็รับทำงานนี้ ชอบอัธยาศัยในฝีมือซึ่งกันและกัน วาดอะไรต่อมิอะไรจากของจริง ผมเป็นคนที่มีความเป็นชนบทซึมซับอยู่ในสายเลือด ตั้งแต่ผมยังเด็กๆ อยู่กับวัด อยู่กับคุณย่าคุณยาย ฟังมโหรีปี่พาทย์ ฟังเทศน์มหาชาติ คำเทศนาของพระ เมโลดี้ที่เข้ามาในหู เราไม่รู้หรอกว่าคืออะไร พิจารณาธรรมาสน์แกะจากไม้สวย แหงนหน้ามองฟ้า เห็นครุฑ ช่อฟ้า ใบระกา แต่เราไม่รู้วิธีการทำ รู้แต่ว่าสวยพอใจ

พอออกไปดูธรรมชาติ ผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญ ผมเดินไปที่ไหนไม่เคยเหงา ผมไม่ต้องเข้าป่า ต้นไม้ใบหญ้ามีสิ่งให้ศึกษา จากที่หนึ่งถึงที่หนึ่ง มีอะไรในระหว่างทางตั้งเยอะ ผิดกับสมัยนี้ที่คนนิยมความรวดเร็ว ก็ไม่ได้สร้างจินตนาการ กลับเป็นการชะงักงันในจินตนาการมากกว่า สมัยนี้เราถึงไม่มีนิราศสุพรรณบุรีจากคนในสมัยนี้นอกจากสุนทรภู่"

เมื่อจินตนาการปลดปล่อยด้วยลายเส้นเกี่ยวพันกันไปมา จึงเกิดเป็นผลงานที่มีชื่อว่า หัวม้า ด้วยความไม่ตั้งใจ   

"ครูบาอาจารย์บอกเราว่า ทุกอย่างไม่มีอะไรดีไปกว่าความงามจากธรรมชาติ ธรรมชาติคือมหาครูของคน ให้เราดูต้นไม้ ใบหญ้า เขียนรูปคน เขียนรูปสัตว์ พอเราเข้าใจในธรรมชาติแล้ว ก็ฟรีแฮนด์ดรอว์อิ้งหน้าตาคนไปเรื่อยๆ ออกมาเป็นฤดูใบไมผลิ เกิดจากการผูกลายเชื่อมโยงกัน ยิ่งวาดเส้นมันเหมือนหัวม้า ก็ทำให้มันชัดเจนขึ้น ใส่ดอกไม้เข้าไป เป็นดอกไม้อะไรไม่รู้หรอก แต่เราเคยซึมซับความงาม ความเป็นอิสระ คนเรียนศิลปะต้องการแสดงความงามในใจของเขา ซึ่งลายเส้นเป็นเรื่องสำคัญ 

ถ้าใครไม่ซาบซึ้งในธรรมชาติ ก็เป็นได้แค่นักลอกลายหลุยส์ ลายตู้พระธรรมธรรมดาๆ เพราะไม่รู้จักต้นตอรากเหง้า แล้วงานบอกนิสัยของคนทำ ไม่ว่าศิลปะ การค้าพาณิชย์ การประพันธ์เพลง ผลงานบอกได้ว่า คุณเป็นใคร ในระดับไหน ผมจำคำพูดอาจารย์ศิลป์เสมอ"

20180316015517088

ผลงานชื่อว่า ‘หัวม้า’ 

หลายต่อหลายครั้งที่การสนทนา ช่วงมักเอ่ยชื่อถึงอาจารย์ศิลป์ พีระศรีบ่อยครั้ง นั่นเป็นเพราะเขาเดินตามรอยทางบุคคลที่เคารพนับถือ เสมือนให้คำมั่นว่า งานศิลปะที่เขาสร้างสรรค์ ควรทำหน้าที่รับใช้สังคมไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งตลอด 50 ปีที่ผ่านมาก็เป็นเช่นนั้น      

"ผลงานทุกอย่าง ศิลปินเป็นผู้รับใช้ศิลปะ ไม่ใช่ว่าคนสร้างศิลปะ อาจารย์ศิลป์เคยบอกไว้อย่างนั้น ศิลปะยิ่งใหญ่เกินกว่ามนุษย์จะสร้างได้ ศิลปะสร้างผมขึ้นมา บอกความเป็นไปของสังคม งานศิลปะบอกอะไรกับมนุษยชาติได้ ไม่ใช่คำบรรยายเพ้อเจ้อ เหลวไหล ศิลปะจะทำให้มนุษย์สู่ความสูงส่ง เป็นพี่น้องกัน ไม่แก่งแย่งแข่งขันในผลประโยชน์ เราไม่อยากให้สังคมไปสู่อาณาจักรแห่งตัวเลข

เช่นเรื่องการทุจริตเพราะความโลภเป็นสันดานดิบของปุถุชน เราจึงกระตุ้นความงามในหัวใจ เพื่อให้ระบบความละโมบลดน้อยลง เมื่อเขาชื่นชมสุนทรีย์ภาพแล้ว ความบ้าคลั่งในทรัพย์สินเงินทองจะน้อยลง แต่ถ้าเขามองไม่เห็นความงามของดอกหญ้า ดอกหญ้า ความต้องการทางลาภยศมันมากขึ้นแล้ว เขาจะเหงา ไม่รู้ว่าอะไรคือจุดสุดท้ายของชีวิต ไม่รู้ว่ามีเงินเท่าไหร่คือความสุข ก็หาเรื่อยไป เกิดความทุกข์ยิ่งกว่า เหมือนตกนรกไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งจุดสุงสุดของมนุษย์คือความพอ 

ทุกคนไม่มีโอกาสไปถึงความพอได้เพราะความโลภมันครอบงำ คุณเติมเลขศูนย์เท่าไหร่ ก็ไม่มีที่สิ้นสุด แค่ไหนถึงจะเป็นความสุข เพราะมันไม่มีตัวตน เป็นแค่อุปทานยกขึ้นมาว่าฉันมีเท่านั้นเท่านี้ ผมเขียนนะว่าเศรษฐีฝากตัวเลขไว้ในธนาคาร ศิลปินฝากผลงานเอาไว้ในโลก อะไรยิ่งใหญ่กว่ากันระหว่างธนาคารกับโลกล่ะ" ช่วงกล่าวแบบตั้งคำถามให้ฉุกคิด  และยังมีงานสร้างสรรค์เชิงพุทธศิลป์ คือพระพุทธอภัยมงคลสมังคี ร่วมสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อพระราชทานแก่ทุกจังหวัด ในโอกาสเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ที่เขาเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า 'ความสำเร็จก็คือการเริ่มต้น'

20180316015515950

 พระพุทธอภัยมงคลสมังคี 

"ผมได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชวินิจฉัยถึงงานปั้นพระพุทธรูป ภายหลังจากทรงงานเกีี่ยวกับการบ้านการเมืองที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์เรียบร้อยแล้ว  พระองค์ท่านทรงเดินเข้ามาในห้อง ทอดพระเนตรพระพุทธรูปแล้วรับสั่งว่า

‘ฉันว่าเอียง สององค์ไม่เท่ากัน’

ผมก็นั่งนิ่งอยู่ พระองค์รับสั่งอีกว่า

'หรือให้ฉันนั่งลง จะดูไม่เอียง'

ผมก็ชันเข่าขึ้น พระองค์ท่านทรงจับไหล่ผม รับสั่งว่า 

‘ช่างลุกขึ้นดีกว่า’

ก่อนผมจะตอบไปว่า 

'ข้าพุทธเจ้าเห็นว่า เอียงจริงพุทธเจ้าค่ะ'

ในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งว่า 

‘ช่างพูดธรรมดา ไม่เสียเวลางาน’ 

ผมเลยพูดไปว่าเอียงจริงๆ ครับ ทีนี้พระองค์ท่านทรงถามหาช่างหล่อให้มาเข้าเฝ้า แล้วทรงแนะนำการหล่อพระพุทธรูปที่ได้ทั้งความแม่นยำและทำงานรวดเร็วขึ้น ทำให้ผมได้รับความรู้ใหม่ เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ทำให้เรานำไปใช้กับงานอื่นๆ ที่เราเคยมองว่าดีแล้ว แต่จริงๆ งานไม่มีอะไรสมบูรณ์ ยิ่งทำยิ่งต้องแก้ไขงานต่อไปและต่อไป ดังนั้น 50 ปีที่ผ่านมา เราได้ความบันดาลใจที่ไม่มีวันมอดด้วยการทำงาน จะมอดก็ต่อเมื่อไม่ทำอะไรเลย" 

นิทรรศการ ‘ช่วง มูลพินิจ ความรัก ธรรมะ ความงาม’ จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 1 ก.ค.61 ณ ห้อง 407 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00 น. - 21.00 น.