AI ผู้ช่วยคุณหมอ กิจการมาแรงที่น่าลงทุน

AI ผู้ช่วยคุณหมอ กิจการมาแรงที่น่าลงทุน

ดร.อดิสร หยิบยกเรื่องราวปัญญาประดิษฐ์สำหรับการแพทย์และสาธารณสุขมานำเสนอ ด้วยมูลค่าในตลาดสูงถึง 1.5 แสนล้านดอลลาร์ หวังจุดประกายให้ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ไทยลองสร้างไอเดียธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างบริษัทเกิดใหม่ด้าน Health Tech

ความทุกข์ใจที่แพทย์จะเจอไม่ใช่ความรุนแรงของการเจ็บป่วยหรือความบาดเจ็บของผู้ป่วย แต่กลับเป็นข้อมูลของผู้ป่วยที่อยู่ในแฟ้มขนาดหนาปึก กว่าที่แพทย์จะอ่านและเข้าใจประวัติสุขภาพของผู้ป่วย ก่อนจะทำการรักษามักใช้เวลานานกว่าการวินิจฉัยเสียอีก ข้อมูลจำนวนมหาศาลกลายเป็นภาระของแพทย์และบุคลากรการแพทย์ที่ต้องใช้ทรัพยากรเวลาทั้งของแพทย์และผู้ป่วยเพื่อการวินิจฉัยผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ


ข้อมูลมหาศาลที่ว่านอกจากข้อมูลประวัติผู้ป่วยแล้ว ข้อมูลเกี่ยวกับการค้นคว้า ความก้าวหน้าทางวิทยาการและการเก็บหลักฐานการรักษา รวมทั้งข้อมูลระดับ DNA ของผู้ป่วยแต่ละคน มีการประเมินกันว่าข้อมูลทางการแพทย์ทั่วโลกจะมีปริมาณมากถึง 2,314 ล้านเทราไบต์ ภายในปี 2020 ซึ่งมีการทดลองเก็บข้อมูลดังกล่าวแล้วที่สหรัฐอเมริกาและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ปัญหานี้กำลังจะหมดไป ถ้าเราใช้เทคโนโลยีการจัดการข้อมูลดิจิทัลจำนวนมหาศาล (Big Data) ร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI)


เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สำหรับการแพทย์และสาธารณสุขเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวเราอีกต่อไป ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง และซอฟต์แวร์ประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ สามารถทำงานร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคที่ต้องการรักษาได้อย่างถูกต้องแม่นยำและรวดเร็ว ซึ่งประโยชน์ของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ไม่เพียงแต่เพื่อจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการวิเคราะห์ ข้อมูลและนำเสนอต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยในการตัดสินใจ ดังนั้นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ไม่ได้เข้ามาทำหน้าที่แทนแพทย์ แต่มาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทำให้แพทย์ทำงานได้เร็วขึ้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เหนื่อยน้อยลง


ล่าสุดบริษัทไอบีเอ็มได้ออก IBM Watson สำหรับการแพทย์ ซึ่งจะช่วยให้โรงพยาบาลสามารถวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพ วารสารทางการแพทย์ อาการของโรคและกรณีศึกษาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แพทย์สามารถวิเคราะห์โรคได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว ทันเวลา นอกจากนี้ยังช่วยวางแผนการรักษาโรคสำหรับผู้ป่วยที่ต้องรักษาเป็นระยะเวลายาวนาน นอกจากจะทำหน้าที่วิเคราะห์ และรวบรวมข้อมูลแล้ว ปัญญาประดิษฐ์ยังช่วยตรวจวินิจฉัยโรคต่างๆ ตัวอย่างเช่น โรคมะเร็ง ได้อย่างแม่นยำและได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น


ข้อมูลจากสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา ระบุว่า การอ่านภาพแมมโมแกรมเพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านม ในปัจจุบันมีโอกาสผิดพลาดสูงถึง 50% พูดง่ายๆ ว่า แพทย์อาจจะวินิจฉัยให้ผู้หญิงที่ปกติหนึ่งคนใน 2 คน ว่าเขาเป็นมะเร็ง แต่เมื่อใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ แพทย์สามารถวิเคราะห์และแปลผลภาพแมมโมแกรมได้เร็วขึ้น 30 เท่า และมีความแม่นยำสูงถึงร้อยละ 99 ลดความจำเป็นที่จะต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อ


ข้อมูลจากบริษัท Accenture ได้ระบุว่าขนาดตลาดของปัญญาประดิษฐ์สำหรับการแพทย์และสาธารณสุขจะมีมูลค่าสูงถึง 150,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5 ล้านล้านบาทภายในปี 2026 โดยตลาดที่มีส่วนแบ่งมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ หุ่นยนต์เพื่อการผ่าตัด 4 หมื่นล้านดอลลาร์ รองลงมาเป็นซอฟต์แวร์ระบบผู้ช่วยพยาบาล มูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์ และระบบการจัดการเอกสารข้อมูลในโรงพยาบาลมีมูลค่า 18,000 ล้านดอลลาร์


อีกแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือคือข้อมูลจากบริษัท Frost and Sullivan ระบุว่า ที่ผ่านมามีการเข้าซื้อบริษัทเกิดใหม่ด้านปัญญาประดิษฐ์เพิ่มขึ้นทุกปี มูลค่าการตลาดด้านปัญญาประดิษฐ์สำหรับการแพทย์และสุขภาพในปี 2014 มีมูลค่าเพียง 600 ล้านดอลลาร์จะเพิ่มขึ้นเป็น 6,600 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2021 ดังนั้น ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ในบ้านเราน่าจะลองสร้างไอเดียธุรกิจใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสร้างบริษัทเกิดใหม่ด้าน Health Tech ในบ้านเราให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น นอกจากจะช่วยเศรษฐกิจแล้ว ยังช่วยพี่น้องประชาชนให้ได้รับบริการด้านสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างเท่าเทียมได้ด้วย ...เป็นกำลังใจให้ครับ

*บทความโดย ดร. อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ