4 หน่วยงานร่วมผลิตกำลังคนป้อน 'อีอีซี'

4 หน่วยงานร่วมผลิตกำลังคนป้อน 'อีอีซี'

4 หน่วยงานจับมือเอ็มโอยู เดินหน้าผลิตกำลังคนอาชีวะรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี นำร่อง 12 วิทยาลัยมีภาคประกอบการร่วมสนับสนุน

เมื่อวันที่ 4 พ.ค.61 ที่กระทรวงศึกษาธิการ มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรี (สกท.) โดยมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธี

โดย นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า ปัจจุบันการอบรมพัฒนาอาชีพให้กำลังคนอย่างเดียวไม่พอ ต้องอบรมพัฒนาเรื่องคุณธรรม ความซื่อสัตย์ รู้จักเรียนรู้ด้วย สำหรับการผลิตผลิตบุคลากรระดับอาชีวะให้ตรงกับความต้องการของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้ง Fist S-Curve และ New S-Curve ทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ ทุกฝ่าย มีการบริหารทางการศึกษาที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในสังคมโลก ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น โดยทุกฝ่ายภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการในพื้นที่จะร่วมกันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ส่งเสริมให้มีประสิทธิภาพ ในการพัฒนาประเทศ และ ขีดความสามารถในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจและเทคโนโลยีใหม่ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในสถานประกอบการ และลดการว่างงานที่เกิดจากการผลิตบุคลากรไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานอีกต่อไป

thumbnail_DSC_7297

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกรศ. กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลง หรือ เอ็มโอยู ครั้งนี้เป็นความตั้งใจจริงของทั้ง 4 หน่วยงานที่มุ่งผลิตและพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาของอีอีซี เพื่อให้การพัฒนาโครงการอีอีซี เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญ ทั้งนี้ สกรศ.ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อการผลิตและพัฒนากำลังคนอีอีซี ขึ้นที่วษท.ชลบุรี และสกท.จะร่วมกับ สกรศ.ศึกษา วิเคราะห์ฐานข้อมูลความต้องการบุคลากรและความสามารถในการผลิตของสถานศึกษา เพื่อจับคู่ให้นักลงทุนและสถานศึกษาผลิตและพัฒนาบุคลากรให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดงาน ทั้งนี้ ข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้มีกำหนดระยะเวลา 4 ปี

ด้าน ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า ทุกฝ่ายจะร่วมกันผลักดันให้สถานศึกษา ร่วมมือกันผลิตและพัฒนาบุคลากรให้มีสมรรถนะและทักษะตรงกับความต้องการของ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี โดยการเพิ่มปริมาณผู้เรียน ด้วยการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ “สัตหีบโมเดล” ซึ่งมีสถานศึกษาในสังกัด สอศ.นำร่อง 12 แห่งได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ, วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี, วิทยาลัยเทคนิคพัทยา, วิทยาลัยเทคนิคระยอง, วิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี, วิทยาลัยเทคนิคตราด, วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา, วิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี, วิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว, วิทยาลัยเทคนิคพนมสารคาม (ฉะเชิงเทรา), วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) ชลบุรี และวิทยาลัยอาชีวศึกษาชลบุรี โดยจะมีการจัดการเรียนการสอนที่จับคู่กับภาคอุตสาหกรรม และนักลงทุนอย่างเข้มแข็งในทุกด้าน เพื่อที่จะผลิตและพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะ และสมรรถนะรองรับความต้องการอย่างแท้จริง ทั้งในด้านหลักสูตร การฝึกทักษะปฏิบัติ เทคโนโลยี ตลอดจนการประกันการว่างงาน รวมไปถึงทุนการศึกษาตั้งแต่เริ่มต้น การเรียนตลอดหลักสูตร