หลักคิดธุรกิจ ‘โกศล ทรัพย์ประเสริฐ’

หลักคิดธุรกิจ ‘โกศล ทรัพย์ประเสริฐ’

ไม่เกินสองปีจะเห็นภาพที่คนคุยกับแชทบอตอย่างน้อยวันละหนึ่งครั้ง ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม

“คนเราก็มีพื้นฐานความรู้คนละเรื่องกันไป เราก็ทำธุรกิจ แล้วธุรกิจของเราน่าจะสร้างความฝันใหม่ให้เกิดขึ้นได้” ดร.โกศล ทรัพย์ประเสริฐ ผู้ก่อตั้งบริษัท เฮ็ดบอท(Hbot)จำกัด และ Finstreet กล่าว

จากบทบาทอดีต Head of Innovation ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่วันนี้หันมาลุยสร้าง 2 ธุรกิจดิจิทัลในมือ ได้แก่ Hbot ,Finstreet แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือมุมมองและการบริหารจัดการธุรกิจในยุคที่เทคโนโลยีเป็นพระเอก

“โลกมันเปลี่ยน แต่เราไม่ได้ทำอะไรใหม่ ผมว่ามันก็อยู่กับที่เดิม” วิธีคิดและการทำงานที่ ดร.โกศล ใช้มาโดยตลอดด้วยเหตุผลที่ว่า กลัวคิดและปรับตัวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งแนวคิดดังกล่าวส่งผลต่อทิศทางของสตาร์ทอัพที่ปั้นขึ้นมาด้วยเช่นกัน

“การทำสตาร์ทอัพเป็นเกมคนละแบบ” ดร.โกศล กล่าว สำหรับผมแล้วในทุกๆ 3-5ปี ควรต้องมีการ “เปลี่ยน” เพื่อพลิกหาลู่ทางและโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ

“ที่ผ่านมา คำถามที่เจอมาโดยตลอดก็คือในอีก 3 ปีข้างหน้ามีแผนจะทำอะไร ผมก็ไม่รู้จะบอกว่าอะไร เพราะรู้แค่ว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า ผมจะทำอะไรที่ไม่เหมือนเดิม” 

เมื่อกรอบความคิดอยู่ที่ 3 ปี ดังนั้นการจะคิดและทำอะไรต้องเป็นสิ่งที่สร้างอิมแพ็คได้ในเวลาที่รวดเร็ว Chatbot เป็นอีกเทรนด์ที่มองว่าจะเป็นเครืืื่องมือที่ทำให้ถึงลูกค้าได้เร็วขึ้น และเข้าถึงผู้คนได้เป็นจำนวนมาก นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา Hbot แพลตฟอร์มที่เปิดกว้างให้คนที่ชอบแชทกันในวันนีได้โอกาสสร้างแชทบอตของตัวเองได้

“Hbot แพลตฟอร์มที่เกิดจากเทรนด์ของการทำงานยุคใหม่ที่นำเอาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาทมากขึ้น”

การทำงานของแพลตฟอร์มนี้คือ การเปิดให้ธุรกิจและองค์กร ธุรกิจเอสเอ็มอี แม้กระทั่งพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เข้ามาสร้างแชทบอทเพื่อธุรกิจ หรือการสร้างธุรกิจด้วยแชทบอทของตัวเองขึ้นมา

 ซึ่งจะเข้าไปสนับสนุนการทำงานในส่วนที่เป็นการทำงานซ้ำๆ และไม่ซับซ้อนจนเกินไป

ตัวอย่าง แม่ค้าออนไลน์ในการตอบคำถามลูกค้า การให้ข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีต่างๆ หรือในกรณีคอลเซ็นเตอร์ ที่ต้องเจอกับคำถามที่ซ้ำๆ หรือในสถานการณ์ใกล้เคียงกัน แทนที่จะใช้คนคุยวันนี้เทคโนโลยีสามารถเข้าแชทและตอบปัญหาได้ 

“ในกรณีของการทำมาร์เก็ตติ้ง ในบางเพจที่มีผู้ติดตาม 2-3หมื่นคน คนกลุ่มนี้เป็นโอกาสที่เราสามารถจะเข้าถึงได้ทั้งหมด หากเป็นการสื่อสารผ่านเฟซบุ๊คหากคนที่ติดตามเราแล้วมีเพื่อนที่ตามอยู่เป็นจำนวนมาก การเข้าถึงก็ยากขึ้นไปอีกหรือก็อาจเข้าไม่ถึง แต่สำหรับวิธีการของแชทบอตสามารถยิงตรงถึงกลุ่มคนสองหมื่นคนนั้นได้ในทันที” 

โดยแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นนี้จะช่วยให้ธุรกิจสามารถผลิตแชทบอทขึ้นได้อย่างง่ายๆและรวดเร็ว โดยที่ไม่ต้องเขียนโปรแกรม ซึ่งถึงตอนนี้มีธุรกิจเข้ามาใช้งานบนแพลตฟอร์มนี้อย่างต่อเนื่อง

โดยวิธีการคือ เอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อตอบโจทย์รูปแบบธุรกิจที่ทำอยู่ หรือเพิ่มช่องทางใหม่ๆ ในการหาลูกค้า

ในเป้าหมายในระยะยาวสำหรับ ดร.โกศล คาดหวังถึงเชิงปริมาณ กล่าวคือมีจำนวนแชทบอตที่สร้างขึ้นโดยธุรกิจในจำนวนที่มากนำมาสู่การสร้างคลังข้อมูลที่มากขึ้นตามไปด้วย ท้ายที่สุดจากภาคธุรกิจก็ส่งผลกระทบทางบวกต่อเศรษฐกิจในระดับประเทศได้ 

"เมื่อคนแชทเยอะขึ้นทำให้เราสามารถพัฒนาสมอง หรือAIได้ดียิ่งขึ้น ด้วยข้อมูลที่เยอะนี่เองที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น

ที่ผ่านมา เคยเห็นในต่างประเทศที่ทำธุรกิจของตัวเอง แต่สามารถทำให้ประเทศขับเคลื่อนได้ เช่น google facebookก็ทำธุรกิจแต่ประเทศก็ขับเคลื่อนได้ ซัมซุงก็เช่นกัน ผมเองก็มี ความฝันไปในทิศทางเดียวกัน 

ถ้าหากมีการกระตุ้นให้เกิดการใช้สร้างและใช้งานแชทบอตอย่างจริงจังจะทำให้ช่วยผลักดันประเทศได้ อยากเห็นภาพไทยขับเคลื่อนด้วย AI"

นับจากก่อตั้ง Hbot นับว่าใช้เวลาไม่นานในการออกสตาร์ทอัพธุรกิจให้เดินไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ดร.โกศล มองว่าธุรกิจที่ทำอยู่นี้สามารถสเกลผู้ใช้ได้อีกเยอะมาก เพราะคนมีพฤติกรรมการแชทอยู่แล้ว

ตั้งเป้าว่าไม่เกินสองปีจะเห็นภาพที่ว่าคนคุยกับแชทบอตอย่างน้อยวันละหนึ่งครั้ง ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม

 “เมื่อมีคนสร้างบอต ผู้ใช้งานบอต และสุดท้าย ภาพของคนเราที่คุยกับแชทบอตอย่างน้อยวันละหนึ่งครั้ง สำหรับผมก็เท่ากับว่าประเทศนี้เดินไปในทิศทางที่อยากจะเห็นแล้ว”

สำหรับโมเดลการหารายได้ ดร.โกศล บอก แม้แพลตฟอร์มจะเปิดให้ใช้ฟรี แต่ในมุมขององค์กรที่มีเงินทุน แต่มีจำกัดกัดเรื่องของบุคลากร เราจะมีทีมงานด้านคาแรคเตอร์ดีไซน์ ทำออกมาเป็นตัวการ์ตูน สร้างสตอรี่ขึ้นมา และดีไซน์คำพูดโดนๆ ให้กับแต่ละองค์กร 

 “เราเหมือนคนรับเหมาก่อสร้าง คนมาจ้างให้เราทำ นี่เป็นรายได้รูปแบบแรก”

โมเดลการหารายได้ถัดมาเป็น ค่าไลเซ่น เราจะมีแพลตฟอร์มไลเซ่น สำหรับองค์กร ที่ต้องการ AI feature ที่พัฒนาให้แต่ละองค์กร โดยสามารถจ่ายเป็นรายเดือน รายปี 

แบบที่สาม เมื่อสร้างแชทบอตได้ง่ายทำให้ส่ิงนี้เป็นอีกเครื่องมือของการสร้างธุรกิจใหม่

“เมื่อก่อนหากพูดถึงสตาร์ทอัพคนจะเข้าใจว่า สตาร์ทอัพเท่ากับแอพ แต่ปัจจุบันคนโหลดแอพน้อยลง แล้วแชทบอตจะมาแทนนี่เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้น ขอแค่มีไอเดีย และแชทเป็น ก็สร้างแชทบอตเพื่อสร้างธุรกิจได้”

ถัดมา เราสามารถหาเงินจาก AI อาทิ พอมีสมอง เราก็เอาสมองไปทำประโยชน์ได้ โดยเจาะไปแต่ละอุตสาหกรรม

ที่กล่าวมาเป็นโรดแมปที่ต้องการผลักดัน Hbot ให้เกิดขึ้นในเวลา 3-5 ปีนับจากนี้ เพื่อที่จะก้าวต่อสู่ความท้าทายใหม่ๆ ต่อไป

“เพราะไม่เชื่อว่าธุรกิจอะไรจะคงทน ต้องคิดเอาไว้ตั้งแต่วันนี้เลยว่า เราอยากจะ disrupt ตัวเองในอนาคต ถ้าเราไม่ disrupt ตัวเอง คนอื่นก็จะ disrupt เรา เหมือนที่ธนาคารต้องเปลี่ยนแปลง ต้องทำงานกับสตาร์ทอัพ ไม่อย่างนั้นก็ตายไปเรื่อยๆ”

 จากแชทบอต ดร.โกศล เริ่มลุยสู่เทคโนโลยีบล็อคเชน 

“วันนี้เริ่มทำ บล็อคเชน เพื่อรองรับสำหรับธุรกิจใหม่ๆ ในอีก 5-6 ปข้างหน้า  โดยบล็อคเชนที่เตรียมการอยู่นี้จะเอามาแทนที่ธุรกิจโฆษณา เพราะมองว่าการมีบอตเยอะๆ จะคุมธุรกิจโฆษณาได้”

ขณะที่ Finstreet สตาร์ทอัพที่ ดร.โกศล มองว่าจะเป็นอีกตัวเติบโต โดยเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้เทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหาหนี้อย่างเป็นระบบ มีการนำเอาแชทบอตเข้ามาเป็นตัวแทนให้คำปรึกษาทางการเงิน และสามารถจับคู่ผู้เชี่ยวชาญ มาแชทแบบตัวต่อตัว ในกรณีที่ต้องวิเคราะห์เชิงลึก 

“ถ้าโบรกไม่เป็นคน แต่เป็นแชทบอต แล้วให้บอตทำงานจะเป็นอย่างไร”แนวคิดตั้งต้นของ Finstreet ที่เกิดจากการต่อยอดไอเดียของธุรกิจแรกที่มองว่า ธุรกิจโบรกเกอร์หากไม่ต้องมี 500 คนเป็นคอลเซนเตอร์ แต่ใช้แชทบอตตัวเดียวคุยกับคนเป็นแสนๆ คนได้จะดีแค่ไหน

Finstreet แม้จะมาทีหลังสตาร์ทอัพรายอื่นที่มีโมเดลธุรกิจใกล้เคียงกัน ดร.โกศล มองว่าเป็นเรื่องดี 

“บางครั้งการเป็น Second mover ก็เป็นประโยชน์เหมือนกัน ได้เรียนรู้ แต่ก่อนคนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้จักรีไฟแนนซ์บ้าน ก็ขอบคุณคนที่มาก่อน”

วันนี้ Finstreet ให้ความรู้กับคนเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาเรื่องบริหารจัดการหนี้ และรีไฟแนนซ์ โดยใช้แชทบอต และAI ทำงาน

“ฟีโนมิน่า ทำเรื่องการลงทุน เราก็อยากให้ Finstreet จะทำในเรื่องของการจัดการหนี้ ซึ่งถึงตอนนี้ ธุรกิจโตเร็วอย่างน่าพอใจ”

ในมุมของการสร้างธุรกิจและการแข่งขัน ดร.โกศล บอก หัวใจหลักอยู่ที่การใช้สปีดเป็นตัวหลักในการจัดการ เพราะเราไม่ได้เจ้าแรกที่ทำแชตบอต ขณะเดียวกันมองถึงวิธีคิดและการบริหารจัดการที่จะสร้างธุรกิจที่อิมแพ็คกับตลาดได้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำ

“ธุรกิจที่ใช้คนและทรัพยากรอื่นๆ มากกว่าเทคโนโลยี ธุรกิจยิ่งโตก็ยิ่งเจ็บ เพราะในการขยายก็มีต้นทุน แต่หากนำด้วยเทคโนโลยีและการบริหารจัดการจะเป็นการโตด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ยกตัวอย่างในตลาดที่ Finstreet ทำอยู่ เราสามารถทำยอดได้ที่ 800 ล้านบาท ด้วยการทำงานของแชทบอตตัวเดียว กับ พนักงานเพียง 3 คนเท่านั้น” ดร.โกศล กล่าวทิ้งท้าย