‘เปลี่ยน’ ธุรกิจเอสเอ็มอีด้วย ‘ดิจิทัล’

‘เปลี่ยน’ ธุรกิจเอสเอ็มอีด้วย ‘ดิจิทัล’

การปรับเปลี่ยนเอสเอ็มอี จากธุรกิจดั้งเดิมไปสู่ธุรกิจแนวใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีจะช่วยให้เอสเอ็มอี(ยัง) มีโอกาสอยู่รอด และประสบความสำเร็จทางธุรกิจได้

“73% ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในไทยในปีนี้มุ่งให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนองค์กร” ผลสำรวจที่ทำโดยธนาคารยูโอบี ร่วมกับ EY บริษัทตรวจสอบบัญชี และบริษัทให้บริการข้อมูล Dun&Brandstreet

‘เปลี่ยน’ ธุรกิจเอสเอ็มอีด้วย ‘ดิจิทัล’

ดลลชา รัตนวงศ์สวัสดิ์

“1 ใน 3 ของผู้นำธุรกิจเอสเอ็มอีในเอเชียแปซิฟิกว่าส่วนใหญ่จะเสียเวลาไปกับการบริหารจัดการ” ผลการศึกษาจากไอดีซีและเอสเอพี

ยังมีผลสำรวจอีกมากที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาและอุปสรรคการทำธุรกิจของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในไทย เช่น การเข้าถึงแหล่งทุน ต้นทุนในการบริหารจัดการธุรกิจ ขาดแคลนคนเก่ง เครือข่ายธุรกิจ และอีกมาก ซึ่งล้วนเป็นปัญหาเดิมๆ ที่เผชิญมานานนับปี ขณะที่ในช่วง 1-2 ปีนี้ยังมีปัจจัยที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ นั่นคือ เทคโนโลยี

ทำอย่างไรจะดึงเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจ เพื่อก้าวทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และปัญหาอะไรที่ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องปวดหัวมากที่สุด

เปิดมุมมองผู้บริหารจาก 3 แบรนด์เอสเอ็มอีไทย แคริสม่า, ที่นอน โฮมแมท และปูไข่เยิ้ม กับวิธีคิด ปัญหา และการบริหารจัดการ ในวันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการทำธุรกิจ

“ปัญหาที่ผมเจอ คือ HR” เป็นหนึ่งในอุปสรรคของการทำงานในมุมมองของ ไพโรจน์ สิริวรวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รุ่งแสงไทย อินเตอร์แมทเทรส จำกัด ผู้จัดจำหน่าย ที่นอน โฮมแมท (Homematt)

การเป็นทายาทรุ่นที่สองในการเข้ามาบริหารงานต่อจากรุ่นพ่อซึ่งเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจ ทำให้เห็นความแตกต่าง

“ภาพที่เห็นตั้งแต่เด็กๆ คือพนักงานในโรงงานซึ่งเราเป็นผู้ผลิตที่นอน จะเห็นพนักงานเข้ามาเซ็นชื่อและรับเงินใส่ซองกลับไป ต่อมาพัฒนาเป็นระบบ Payroll เชื่อมต่อระบบกับธนาคาร แต่ก็ยังมองว่าเป็นปัญหาของความซ้ำซ้อนอยู่ในเรื่องของการทำงาน อย่างเช่น HR ทำการกรอกตัวเลข จากนั้นต้องมากรอกในส่วนที่เป็นซอฟต์แวร์ของแบงก์อีกรอบ ซึ่งหากมีเทคโนโลยีเข้ามาจัดการส่วนนี้ได้จะทำให้ระบบงานภายในดีขึ้น”

ขณะที่ ดลลชา รัตนวงศ์สวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีซันวิชั่น จำกัด ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำลีและผ้าเช็ดทำความสะอาดแบบเปียก แบรนด์ แคริสม่า (Karisma) มองเรื่องการบริหารจัดการสต็อกเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมาพร้อมกับธุรกิจที่ขยาย

จากการทำธุรกิจ 7 ปี แต่ละปีธุรกิจขยายตัวอย่างมากในไทย และขยายออกไปต่างประเทศ

“โดยเฉพาะในช่วงของการทำการตลาดจัดแคมเปญโปรโมชั่น ยอดขายจะพุ่งกว่าปกติถึง 10-20 เท่า การจัดการสต็อกเป็นเรื่องที่ยากมาก ซึ่งจะต้องมีสินค้าที่พร้อมวางตลาดในแต่ละช่องทางขาย”

บรมวุฒิ หิรัณยัษฐิติ กับธุรกิจ การขายอาหารทะเล เดลิเวอรี่ แบรนด์ ปูไข่เยิ้ม ธุรกิจที่เริ่มจากเล็กๆ ของเพื่อนสองคน แต่วันนี้ด้วยออเดอร์ที่มากขึ้นในแต่ละวันก็สร้างความปวดหัวให้กับเจ้าของธุรกิจได้ในทุกๆ วันเช่นกัน

ปัญหาใหญ่ที่เจอก็คือ “คน” และ “การจัดการข้อมูล” ที่มีเข้ามาเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน

“ในทุกๆ เย็นจะต้องมานั่งดูข้อมูล ยิ่งต้องเปลี่ยนคนดูแลก็ต้องเสียเวลามากขั้นไปอีกในการอัพเดทข้อมูลให้กับลูกค้าอยู่ตลอดเวลา

ยังมีปัญหาในส่วนของการรับของสดเข้าในแต่ละวัน การบริหารจัดการสต็อกสินค้า และรายละเอียดอีกมาก ซึ่งต้องคอยเช็คข้อมูลด้วยตัวเองและใช้เวลาอย่างมากในแต่ละวัน

ในขณะที่การแข่งขันอาหารทะเลส่งเดลิเวอรี่มีมากขึ้นทุกวัน แต่ผมต้องมานั่งใช้เวลากับตรงนี้ แทนที่จะเอาเวลาไปคิดเรื่องการขยายธุรกิจและส่งออก”

     การปรับเปลี่ยนเอสเอ็มอี จากธุรกิจดั้งเดิมไปสู่ธุรกิจแนวใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีจะช่วยให้เอสเอ็มอี(ยัง) มีโอกาสอยู่รอด และประสบความสำเร็จทางธุรกิจได้

มร.คลอส แอนเดอร์สัน ประธานและกรรมการผู้จัดการ SAP Southeast Asia มองถึงการทำ Digital transformation ในองค์กรธุรกิจเอสเอ็มอีว่า เทคโนโลยีมีบทบาทในการบริหารจัดการุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าในอดีต โดยเฉพาะโซลูชั่นที่เป็นระบบคลาวด์ทำให้เอสเอ็มอีสามารถลงทุนได้ตั้งแต่ในวันที่ธุรกิจยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่เมื่อในเวลาถัดมาธุรกิจเติบโตสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและรองรับ

 “ตอนที่บริษัทยังเพิ่งเริ่มต้นสามารถเลือกเทคโนโลยีเข้าไปใช้งานโดยยึดตาม subscription based จนถึงวันที่ธุรกิจเติบโตก็สามารถขยาย ซึ่งเทคโนโลยีมีความยืดหยุ่นสูงรองรับการปรับเปลี่ยนขององค์กรได้ โดยที่การลงทุนไม่ได้สูงเมื่อเทียบกับอดีต”

โดยมองว่า การจัดหาโซลูชั่นที่เอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลจะเป็นการเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้แก่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

หนึ่งในความร่วมมือที่ SAP ร่วมกับ ธนาคารยูโอบี (ไทย) เป็นการนำโซลูชั่นจัดการธุรกิจครบวงจรบนคลาวด์ ในชื่อ ยูโอบี บิสสมาร์ท (UOB Biz Smart)

ทั้งนี้ยังได้ดึงเทคโนโลยีจาก HReasily จากสิงคโปร์เข้ามาตอบโจทย์การทำงานให้กับเอสเอ็มอีในไทย

จุดเด่นของฟังก์ชั่นใน HReasily เป็นเรื่องของการบริหารทรัพยากรบุคคล เช่น การจ่ายเงินเดือนพนักงาน และระบบวันลาของพนักงาน ทั้งหมดสามารถทำงานได้บนคลาวด์

สยุมรัตน์ มาระเนตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารยูโอบี (ไทย) กล่าวว่า ยูโอบี บิสสมาร์ท โซลูชั่นจัดการธุรกิจครบวงจรบนคลาวด์ด้วยการใช้งานที่ง่ายดาย และ ช่วยผู้ประกอบการลดเวลาการจัดการระบบหลังบ้าน ทำให้มีเวลาไปมุ่งสร้างกลยุทธ์เพื่อเพิ่มผลกำไรให้องค์กร

นอกจากนี้ยังมีระบบจัดการข้อมูลพนักงานและจ่ายเงินเดือนอัตโนมัติ การทำบัญชี การจัดการคลังสินค้าและสินค้าคงเหลือ ยอดการชำระเงินจากซัพพลายเออร์ และยอดขายรายวัน ที่ผู้ประกอบการสามารถเลือกแพกเกจตามฟังก์ชั่นที่เหมาะสมกับธุรกิจและจำนวนผู้ใช้งาน

     “คีย์ของความสำเร็จของธุรกิจเอสเอ็มอีก็คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจ เพื่อคุมต้นทุน และบริหารจัดการคน ซึ่งหากทั้งหมดทำอยู่บนคลาวด์ได้จะยิ่งช่วยลดต้นทุนและลดข้อผิดพลาดในการทำงานของคนได้”