Moneywecan จับคู่กู้เงินธุรกิจไซส์เล็ก

Moneywecan  จับคู่กู้เงินธุรกิจไซส์เล็ก

Moneywecan พร้อมแค่ไหนกับรุกเข้าสู่ตลาดนี้

การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจเล็ก หรือ เอสเอ็มอี ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด ทำให้คนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า Moneywecan (www.moneywecan.com) มองว่า การทำธุรกิจในวันนี้และอนาคตจะถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่จะเข้ามาลดปัญหา และสร้างโอกาสให้กับธุรกิจขนาดเล็กในไทยที่มีมากถึง 90% ได้เข้าถึงแหล่งทุน

จุดเริ่มต้นของ Moneywecan มาจากการมองปัญหาในระบบการเงินที่เกิดขึ้น แล้วดึงเอาความเชี่ยวชาญของแต่ละคนในทีมร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มของการจับคู่กู้เงินให้เกิดขึ้นในไทย

การรวมตัวเริ่มตั้งแต่มิถุนายน 2560 ประกอบด้วย พงศ์ธร เลาหะวิไลย CEO ที่สะสมประสบการณ์ทำงานในด้านการลงทุนและธุรกิจ, มนตรี แก้วมงคลสุข CTO ที่เก่งเรื่องการเขียนโปรแกรม กับอีกในทีมดูแลการออกแบบเว็บไซต์และการตลาด

“ย้อนกลับไปในวันที่เราเริ่มต้นที่จะทำ Moneywecan อย่างจริงจัง ยังถือว่ามีคนที่ทำทางด้านนี้ไม่เยอะ ไม่น่าเกิน 5-10 ราย

ถึงตอนนี้ แม้จะมีบ้างที่ต้องเลิกไป เพราะการประกาศใช้กฎระเบียบสำหรับธุรกิจที่ทำด้าน P2P ได้ถูกเลื่อนออกมา ทำให้บางรายอาจต้องเลิกไปเนื่องจากมีต้นทุนในการทำธุรกิจ

แต่ปัจจุบันก็มีเจ้าใหม่เข้ามาซึ่งอาจเยอะกว่าเดิมด้วยซ้ำ เชื่อว่าภายในปีนี้น่าจะมีการประกาศออกมา ซึ่งทางทีมเราก็พร้อมทั้งระบบและกลยุทธ์”

พงศ์ธร สะท้อนให้เห็นถึงความน่าสนใจของตลาด P2P (Peer-to-Peer) และ Moneywecan พร้อมแค่ไหนกับรุกเข้าสู่ตลาดนี้

 ด้วยความชอบส่วนตัวที่สนใจทางด้านการเงินและการลงทุนทำให้เริ่มศึกษาว่ามีในส่วนใดบ้างที่สามารถพัฒนาเป็นธุรกิจ

“ผมมองถึงโอกาสในตลาดต่างประเทศ ที่มีแล้วเวิร์ค แต่ในไทยยังไม่มี จากนั้นก็เริ่มศึกษา แล้วก็พบว่ามีสตาร์ทอัพที่ทำทางด้านปล่อยกู้ระหว่างบุคคลกับบุคคลที่ประสบความสำเร็จอย่าง Zopa จากนั้นก็เริ่มเห็นธุรกิจในลักษณะแบบนี้ก่อตัวขึ้นมากมาย อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน จนกระจายถึงประเทศรอบข้างเราอย่าง มาเลเซีย อินโดนีเซีย

จากที่ได้ศึกษาทำให้เห็นถึงโอกาสว่าธุรกิจในลักษณะเดียวกันนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในไทย

ที่สำคัญคือ วันนี้เราสตาร์ทไปพร้อมๆ กับคนอื่น ทุกคนเริ่มต้นที่จุดสตาร์ทเดียวกัน

ถ้าเราเริ่มเป็นจ้าแรกๆ ก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะเติบโตในสายการเงิน”

แม้จะมีโอกาส “เกิด” และ “โต” ในไทย เนื่องจากยังไม่มีผู้ให้บริการในลักษณะนี้มาก่อน แต่ตลาด P2P ก็เป็นอะไรที่กว้างมากสำหรับ พงศ์ธร

“P2P ที่เป็นคอนซูเมอร์ ซี่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด มีทั้งการปล่อยกู้บุคคลกับบุคคล การปล่อยกู้กับธุรกิจ รวมถึง คลาวด์ฟันดิ้ง

 เมื่อกลับมามองถึงสิ่งที่เราถนัดจึงเลือกที่จะโฟกัสในส่วนของ P2B หรือ Peer–to-Business”

พงศ์ธร บอก ผมเองเป็นคนที่ไม่สามารถรับความเสี่ยงสูง การเห็นเอ็นพีแอลเยอะๆ ของนักลงทุนอาจจะรู้สึกไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่อยากทำธุรกิจที่คุมได้ และเข้าใจ สามารถอ่านงบ หรือ การอ่านธุรกิจได้ว่า อุตสาหกรรมนี้จะเวิร์ค ไม่เวิร์ค ซึ่งจะดีกว่าการปล่อยกู้ให้กับบุคคลที่จะต้องพิจารณาว่าคนนี้ปล่อยกู้ได้หรือไม่ได้

เมื่อทิศทางชัดว่าโฟกัสตลาดที่เป็น P2B จากนั้นก็นำไปสู่การพัฒนา Moneywecan ให้เป็นตามแผนที่วางไว้

รูปแบบเป็นการทำงาน Moneywecan คือการจับคู่ระหว่าง “นักลงทุน” กับ “ผู้กู้” โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานระหว่างคนสองฝั่ง ซึ่งหัวใจหลักของแพลตฟอร์มนี้อยู่ที่การ Win-Win ของทุกฝ่าย

“นักลงทุน” กับโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ซึ่ง พงศ์ธร มองว่า เมื่อ P2P เกิดขึ้นจริงในไทย จะได้เห็นการเปลี่ยนที่ฝากเงินมาสู่ช่องทางในลักษณะนี้มากขึ้น

“ในอนาคตของคนไทยอีก 5 ปีข้างหน้าจะเปลี่ยนไป เมื่อ P2P มา คนที่รับความเสี่ยงได้ ไม่ต้องไปฝากเพื่อรับดอกเบี้ย 0.5% แต่จะหารูปแบบใหม่ๆ ในการลงทุนมากขึ้น

ผลตอบแทนของนักลงทุนได้รับจะเป็นเงินต้นบวกกับดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้โดยที่รายได้ที่ทางเราจะได้เป็นค่าธรรมเนียมจากยอดเงินกู้”

“ผู้กู้” ด้วยความที่เป็นธุรกิจขนาดเล็กมักต้องเจอกับข้อจำกัดของการเข้าถึงแหล่งทุน นั่นเป็นสิ่งที่ P2P เข้ามาตอบโจทย์ โดยสิ่งที่เราเอามาเป็นจุดขาย คือ การกู้ที่ไม่ต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกัน

แม้จะเป็นการสร้างโอกาสทองให้กับธุรกิจขนาดเล็กแต่สิ่งที่ต้องรอบคอบให้มากนั่นคือ การบริหารจัดการความเสี่ยง

“ความยากอยู่ที่การพัฒนาเครื่องมือ เพราะเป็นการค้ำประกันโดยบุคคล (ผู้กู้) ง่ายสำหรับผู้กู้แต่ไม่ง่ายสำหรับเรา จำเป็นต้องใช้ดาต้าในการนำมาวิเคราะห์”

พงศ์ธร บอก สิ่งที่ยากสำหรับธุรกิจนี้คือการเข้าถึงข้อมูลลูกค้า ดังนั้นหนึ่งในแนวทาง เป็นการพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานที่เป็นแหล่งข้อมูลให้มากที่สุด เช่น ข้อมูลFinancial statement ของบริษัท, ข้อมูลกรรมการบริษัท และอื่นๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นความสามารถเฉพาะของแต่ละบริษัทว่าใครทำได้ดีกว่า ใครมีข้อมูลเยอะ ความเสี่ยงก็ต่ำ เมื่อความเสี่ยงต่ำก็ทำให้นักลงุทนได้ผลตอบแทนกลับไปสูงขึ้น

การพัฒนาเครดิต สกอริ่ง โดยเอาดาต้า ของผู้กู้มาประเมิน เพื่อประเมินว่าผู้กู้ที่เป็นแบบนี้มักจะเสี่ยงต่ำ เช่น จดทะเบียนธุรกิจมาแล้วกี่ปี งบการเงินค่าเท่าไหร่ รายได้ต่อปี กำไรย้อนหลัง เป็นต้น รวมถึงกำหนดคุณสมบัติของผู้กู้ด้วย เพื่อให้รัดกุมในการปล่อยกู้ และไม่นำไปสู่เอ็นพีแอลที่สูงจนเกินจะควบคุมได้

“ถ้าวันหนึ่งที่เราไม่สามารถคุมหนี้เสียให้อยู่ในระดับที่กำหนดได้ นักลงทุนก็จะรู้สึกว่าไม่อยากลงทุนแล้ว ซัพพลายก็จะหายไป เราก็จะอยู่ไม่ได้”

นอกจากจุดเด่นในเรื่องของการกู้ที่ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันแล้ว อีกหนึ่งหัวใจของธุรกิจนี้ก็คือ ความเร็ว และง่าย

“กระบวนการทุกอย่างจะง่ายขึ้น เพียงพิมพ์ชื่อบริษัทของผู้กู้จากนั้นข้อมูลทั้งหมดจะขึ้นมา แล้วทำการเช็คว่าข้อมูลดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ ถ้าใช่ก็กด จากนั้นภายใน 24 ชั่วโมง ระบบจะตอบกลับว่า กู้ได้หรือไม่ได้

ในกรณีที่การกู้ไม่ผ่าน รอไปอีก 14 วันแล้ว submit เข้ามาใหม่ อาจมีการปรับลดระยะเวลาการกู้ใหม่ หรือ ยอดกู้ จากนั้น ไม่เกิน 5 นาที จะรู้ผล นั่นเป็นเพราะข้อมูลทุกอย่างอยู่บนดิจิทัลสามารถดึงมาวิเคราะห์ ให้เรทติ้ง และกระบวนการต่างๆ”

จนถึงตอนนี้ พงศ์ธร บอกระบบที่พัฒนาขึ้นมาเรียกว่าพร้อมแล้วสำหรับการพิจารณาปล่อยกู้ให้กับธุรกิจ ซึ่งขณะนี้มีแล้วร่วม 300 รายที่เตรียมยื่นกู้

“ปัจจุบันมีคนต้องการกู้แล้ว 300 ราย แต่ยังติดเรื่องการหาซัพพลาย(เงินทุนจากนักลงทุน) เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวกับการระดมทุนจากมวลชนยังติดอยู่ ยังไม่สามารถประกาศ public ได้ แต่เรามองว่าปีนี้กฎหมายจะออกมาเรียบร้อย”

มองความพร้อมและโอกาสทางธุรกิจแล้ว พงศ์ธร บอก ถ้าผู้ให้บริการ P2P เจ้าอื่น อยู่ที่เส้นสตาร์ทเตรียมวิ่ง จากที่เราวิ่งตามหลัง 100 ก้าว วันนี้อาจจะแค่ 20-30 ก้าวเท่านั้น บนแนวทางของการทำงานที่เราไม่มีต้นทุน และพร้อมจะออกวิ่งทันทีที่เสียงนกหวีดดัง

https://www.moneywecan.com/