11 สภาวิชาชีพยื่นนายกฯชี้ผลกระทบร่างพ.ร.บ.อุดมศึกษาฯ

11 สภาวิชาชีพยื่นนายกฯชี้ผลกระทบร่างพ.ร.บ.อุดมศึกษาฯ

สภาวิชาชีพ 11 สาขา ร่วมกลุ่มยื่นเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ช่วยแก้ปัญหาผลกระทบจาก ร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษาพ.ศ....ชี้หากไม่เข้าไปดูแลจะไม่สามารถกำหนดมาตรฐานได้ หวั่นกระทบต่อผู้เรียน

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 61 สมาพันธ์สภาวิชาชีพ ซึ่งประกอบด้วยสภาวิศวกร สภาสถาปนิก สภาทนายความ สภาวิชาชีพบัญชี สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด สภาเภสัชกรรม สภาวิชาชีพบัญชี สภาการพยาบาล แพทยสภา สัตวแพทยสภา ร่วมกันจัดงานเสวนาเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ....ผลกระทบต่อวิชาชีพและประชาชน

นายกมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร เป็นตัวแทนสมาพันธ์วิชาชีพ กล่าวว่า สมาพันธ์วิชาชีพทั้ง 11 แห่ง เคยเข้าพบ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ,นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมช.ศธ.) และคณะผู้ร่างกฎหมายดังกล่าว รวมทั้ง นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เพื่อนำเสนอผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว และยังไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้น ทางสภาวิชาชีพ จะรวบรวมความเห็นจากสมาชิกทุกสภาวิชาชีพ เพื่อเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้รับทราบปัญหานี้ต่อไป

นายกมล กล่าวต่อว่า สภาวิชาชีพมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการศึกษาของชาติ ทำหน้าที่รับรองหลักสูตรและปริญญาสาขาวิชาชีพทั้ง 11 สาขา ซึ่งส่งผลต่อชีวิตประชาชน โดยให้คำแนะนำคณะต่างๆ ตั้งแต่การจัดการเรียน หลักสูตร การฝึกปฏิบัติให้ได้มาตรฐานสากล แต่เนื่องจาก ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ห้ามไม่ให้สภาวิชาชีพรับรองหลักสูตรและอนุมัติปริญญา แต่ให้จัดสอบผู้ที่สำเร็จการศึกษา เพื่อขอรับใบประกอบวิชาชีพ ซึ่งสมาพันธ์ฯ เห็นว่า หากสภาวิชาชีพไม่ได้เข้าไปดูแลตั้งแต่การจัดการเรียนการสอน จะไม่สามารถกำหนดมาตรฐานได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยไทยมีทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งจัดการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ ซึ่งมีจำนวนมากและมีความหลากหลาย จำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรฐานการเรียนการสอนตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อรับประกันเบื้องต้นว่า ผู้จบการศึกษามีมาตรฐาน สมรรถนะ ตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อจะได้สอบขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้หากให้สภาวิชาชีพจัดสอบเพียงอย่างเดียวหลังจากจบการศึกษาแล้ว หรือดูแลขั้นตอนปลายน้ำ จะส่งผลกระทบ 2 ประการคือ 1. ไม่สามารถทราบได้ว่าผู้เรียนได้มาตรฐานหรือไม่ 2. ส่งผลกระทบต่อผู้เรียนโดยตรง

“ตอนนี้แม้ว่าสภาวิชาชีพจะรับรองหลักสูตร ก็ยังมีผู้สอบผ่านเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เพียง 10 % ของแต่ละวิชาชีพ ดังนั้นหากผู้เรียนไม่สามารถสอบผ่านเพื่อรับใบประกอบวิชาชีพได้ เราจะได้ผู้ประกอบวิชาชีพเถื่อนที่ไม่ได้รับใบอนุญาตอยู่ในสังคมมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงสังคมและประเทศชาติ”นายกมล กล่าว

นอกจากนั้น เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว มีการเปิดกว้างให้ 7 อาชีพเข้ามาทำงานได้ในไทย ซึ่งต้องให้สภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องรับรองหลักสูตร เทียบโอน หรือให้เรียนเพิ่มเติม ให้ได้มาตรฐานเท่าเทียมกับประเทศไทย แต่เมื่อกฎหมายใหม่ห้ามไม่ให้สภาวิชาชีพรับรองหลักสูตร ก็จะทำให้คนต่างชาติเข้ามาทำงานได้สะดวก ไม่มีเงื่อนไขใดๆ จะส่งผลกระทบอย่างแน่นอน