'สอศ.-โคเซ็น' ร่วมผลิตอาชีวะ 2 สาขา 2 วิทยาลัย

'สอศ.-โคเซ็น' ร่วมผลิตอาชีวะ 2 สาขา 2 วิทยาลัย

"สอศ.-สถาบันโคเซ็น" จับมือพัฒนาหลักสูตรปวส.มาตรฐานโคเซ็นเรียนต่อเนื่อง 5 ปีภายในโครงการอาชีวะพันธุ์ใหม่ นำร่อง 2 สาขาวิศวะอิเล็กทรอนิกส์ ว.อาชีวะฐานวิทย์ และสาขาวิศวะแมคคาทรอนิกส์ ว.เทคนิคสุรนารี รับรุ่นแรกสาขาละ 20 คน

เมื่อวันที่ 3 พ.ค.61 นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) พร้อมด้วย นายทานิคูชิ อิสะ ประธานสถาบันโคเซ็น (KOSEN) ประเทศญี่ปุ่น ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) (ต่อเนื่อง 5 ปี) มาตรฐานโคเซ็น ภายใต้โครงการผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สำหรับภาคอุตสาหกรรม New Growth Engine ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการปฏิรูปการศึกษาไทย ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดย นายสุเทพ กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2561 นี้ สอศ. ได้เปิดรับสมัครนักเรียนหลักสูตรตามมาตรฐานโคเซ็น 2 สาขาวิชา คือ 1. สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (สาขางานหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม) จำนวน 20 คน วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) และ 2. สาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ (สาขางานเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์) จำนวน 20 คน วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา

S__25673765

โดยมีเกณฑ์การสอบคัดเลือกนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีเกรดเฉลี่ย 3.00 ขึ้นไป เพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) (ต่อเนื่อง 5 ปี) ตามมาตรฐานโคเซ็น และได้เปิดสอบไปเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2561 มีนักเรียนให้ความสนใจ และสมัครเข้าสอบคัดเลือกจำนวนมาก โดยการสอบคัดเลือกแบ่งเป็นการสอบข้อเขียน ดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น และการสอบสัมภาษณ์ ดำเนินการโดยผู้บริหารและครูในสถานศึกษานำร่อง ซึ่งผลการสอบเป็นที่น่าพอใจ มีผู้สอบผ่านความรู้ความสามารถที่ตรงกับคุณสมบัติของสถาบัน KOSEN และได้จำนวนนักเรียนครบตามเป้าหมาย

S__48373777

เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อว่า จากการลงนามความร่วมมือ ระหว่าง สอศ. กับ National Institute of Technology (NIT) สถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่น เพื่อแลกเปลี่ยนช่วยเหลือ และสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ เช่น การแลกเปลี่ยนและพัฒนาบุคลากร นักเรียน นักศึกษา และ งานศึกษาวิจัย จึงเกิดการพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ต่อเนื่อง 5 ปี) ตามมาตรฐานโคเซ็น เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่ง สอศ. ได้ดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดการเรียนการสอน อาทิ การอบรมพัฒนาครูตามมาตรฐานโคเซ็น การสร้างความร่วมมือกับสถานประกอบการเพื่อจัดการเรียนการสอนแบบ WIL (Work Integrated Learning ) ที่มีความเข้มข้น และการจัดเตรียมครุภัณฑ์พื้นฐานให้สอดคล้องกับหลักสูตร โดยมี Dr. Matsumoto Tsutomo ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่น ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ ไทย -ญี่ปุ่น โคเซ็น (Japanese – Thai KOSEN Institute of Engineering and Technology) เป็นผู้ให้คำแนะนำ

S__48373780

ทั้งนี้ เห็นได้ว่า สอศ. มีความพร้อมอย่างยิ่งในการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ต่อเนื่อง 5 ปี) ตามมาตรฐานโคเซ็น โดยในปีการศึกษา พ.ศ. 2561 จะเป็นการเริ่มต้นการเรียนการสอน และ สอศ. ตั้งเป้าหมายว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะผลิตช่างฝีมือคุณภาพ ให้มีความพร้อมทั้งความรู้ ทักษะ ที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และพร้อมผลิตช่างฝีมือที่มีสมรรถนะสูงให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม และตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0 ต่อไป เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวปิดท้าย

S__48381970

ด.ช.ธนพัทร ปุ้ยพันธวงศ์

ขณะที่ ด.ช.ธนพัทร ปุ้ยพันธวงศ์ หรือ เจได อายุ 14 ปี นักเรียนรุ่นแรกสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (สาขางานหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม) วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) กล่าวว่า ส่วนตัวมีความสนใจในด้านอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว คุณพ่อเห็นข่าวว่าวิทยาลัยมีการเปิดรับในสาขานี้ โดยหลักสูตรการเรียนการสอนยังเป็นมาตรฐานโคเซ็นซึ่งเป็นที่ยอมรับจึงได้มาสอบและผ่านการคัดเลือก

“ที่เลือกเรียนทางสายวิชาชีพเพราะผมเห็นว่าเราได้ฝึกปฏิบัติ เน้นเฉพาะทางในสิ่งที่สนใจและหลักสูตรที่สอนครั้งนี้ก็เข้มข้นมีมาตรฐานโคเซ็น ซึ่งผมกับเพื่อนๆก็ต้องปรับตัวเรื่องการเรียนด้วย เพราะต้องใช้ภาษาญี่ปุ่นแต่ทางวิทยาลัยก็มีการจัดสอนให้ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตผมมีความตั้งใจว่าเมื่อจบไปแล้วอยากจะนำความรู้ไปประกอบอาชีพเพื่อพัฒนาบ้านเกิดตนเอง และอยากจะสร้างนวัตกรรมที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม” ด.ช.ธนพัทร กล่าว