330 ปีสุริยุปราคา  สมัยพระนารายณ์

ดาราศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์และรัชกาลที่ 4 ไม่ใช่แค่การดูดาว ยังแสดงถึงวิทยาการความก้าวหน้าบางอย่าง

......................

“ยุคล่าอาณานิคม และการค้าระหว่างประเทศ หากใครมีเทคโนโลยี หรือข้อมูลดีกว่า ก็เป็นผู้ชนะ เหมือนสมัยนี้ ใครมีบิ๊กดาต้ามากที่สุด ก็ชนะ” ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าว ณ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เรื่องราวสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ตั้งแต่26 ตุลาคมพ.ศ.2199-11 กรกฎาคม พ.ศ.2231 เป็นเวลา32 ปี) ถูกนำมากล่าวถึงในช่วงนี้บ่อยเพียงใด เนื่องจากความโด่งดังของละครบุพเพสันนิวาส

ดังนั้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงมีการกล่าวถึงเรื่องการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างสยามและฝรั่งเศส การติดต่อค้าขายกับต่างชาติ รวมถึงการพัฒนาประเทศทั้งด้านการทหาร และการศึกษา

และเมื่อเร็วๆ นี้ ในงานรฎกนารายณ์มหาราช ย้อนอรุณุร่งแห่งดาราศาสตร์ 330 ปี จ.ลพบุรี เพื่อเฉลิมฉลอง “330 ปี สุริยุปราคาที่ลพบุรี” และ “150 ปี สุริยุปราคาที่หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์” ผู้รู้ทางด้านดาราศาสตร์ และประวัติศาสตร์ เชื่อมโยงให้เห็นว่า การศึกษาดาราศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์ และสมัยรัชกาลที่ 4 มีเรื่องใดนำมาต่อยอดในยุคปัจจุบันบ้าง

 

-1-

ในยุคที่ชาวยุโรปออกล่าอาณานิคม แสวงหาประโยชน์จากดินแดนในแถบเอเชีย สมัยสมเด็จพระนารายณ์ครองราชย์ พระองค์โปรดให้บาทหลวงสอนศาสนาชาวฝรั่งเศสเข้ามากรุงศรีอยุธยา เพื่อติดต่อค้าขายและเผยแพร่ศาสนา

ดร.ศรัณย์ เล่าถึง เทคโนโลยีการขยายอาณานิคมสมัยกรุงศรีอยุธยาว่า ถ้ายุคนี้คนรู้ว่า บิ๊กดาต้าสำคัญเพียงใด ในยุคนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ แผนที่โลก

“สมัยนั้นเรายังไม่รู้ว่า โลกไม่ใช่ศูนย์กลางจักรวาล ยังมีความเข้าใจว่า โลกแบน จนเมื่อกาลิเลโอพิสูจน์ให้เห็น และมีการค้นพบว่า โลกกลมและไม่ได้เป็นศูนย์กลางจักรวาล” ดร.ศรัณย์ กล่าว และดาราศาสตร์เริ่มเป็นที่รู้จัก เมื่อกาลิเลโอนำกล้องโทรทรรศน์มาส่องดูวัตถุบนท้องฟ้า ปีพ.ศ. 2152 และต่อมากล้องส่องทางไกลก็นำมาใช้ในการเดินเรือ

“เราคิดว่าดาราศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัว เพราะอยู่นอกโลก ไม่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ 300 กว่าปีที่่ผ่านมามีเทคโนโลยีใหม่ๆ  ให้เห็น อย่างกล้องดูดาว ซึ่งการศึกษาดาราศาสตร์เป็นเสมือนบิ๊กดาต้าในยุคล่าอาณานิยม จนเป็นที่มาของการทำแผนที่โลก”

จากข้อมูลสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ มีหลักฐานที่หอดูดาวกรุงปารีส ยืนยันว่า สมเด็จพระนารายณ์เคยเสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคา เมื่อวันที่ 30 เมษายน ปีพ.ศ. 2231 และสมัยรัชกาลที่ 4 เสด็จต.หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ปีพ.ศ. 2411่

และที่น่าสนใจคือ ทั้งสองพระองค์สามารถนำดาราศาสตร์มาพัฒนาประเทศในหลายๆ เรื่อง... 

สมัยสมเด็จพระนารายณ์ องค์ความรู้ทางดาราศาสตร์ทำให้รู้ว่า แต่ละเมืองตั้งอยู่บนพื้นที่สูงต่ำเพียงใด โดยนำเทคโนโลยีเส้นรุ้ง เส้นแวง มาใช้ จนเป็นที่มาของการสร้างระบบประปาและน้ำพุในสมัยอยุธยา และรัชกาลที่ 4 นำความรู้เรื่องวัดแดด วัดดาว มาใช้คำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้อย่างแม่นยำ

-2-

ว่ากันว่า ฝรั่งเศสสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สามารถใช้ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ ทำแผนที่ที่แม่นยำ โดยการหาพิกัดละติจูด-ลองจิจูด (เส้นรุ้ง เส้นแวง) และพยายามตั้ง เส้นเมริเดียน (เส้นลองจิจูด 0 องศา ผ่านหอดูดาวกรุงปารีส ส่งผลให้ฝรั่งเศสเป็นตัวอ้างอิงพิกัดภูมิศาสตร์บนแผนที่โลกที่ใช้กันทั่วโลก แต่ภายหลังใช้เส้นลองจิจูดที่ผ่านหอดูดาวเมืองกรีนิช ประเทศอังกฤษ

“พอรู้ว่า โลกกลม ก็มีความรู้เรื่องพิกัด เส้นรุ้ง เส้นแวง โดยวัดจากดาวเหนือ สมัยก่อนจะทำแผนที่การเดินเรือ จะต้องนับชั่วโมง แล้วจดบันทึก และต่อมาก็มีนักเขียนแผนที่ ส่วนการสังเกตการเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงสมัยพระนารายณ์ของคณะบาทหลวงชาวฝรั่งเศส ทำให้ทราบว่า ลพบุรีและอยุธยาอยู่ที่เส้นลองจิจูดเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับฝรั่งเศส” ดร.ศรัณย์ กล่าว และเล่าว่า คนไทยดูดาวตั้งแต่โบราณ และใช้กำหนดฤดูกาล แต่ตอนนั้นยังไม่เข้าใจว่า จะนำความรู้ดาราศาสตร์มาใช้ในชีวิตประจำวันยังไง

นอกจากนี้มีข้อมูลที่เก็บไว้หอดูดาวกรุงปารีสว่า คณะบาทหลวงนักคณิตศาสตร์ฝรั่งเศสกลุ่มแรกที่มาสยามพบว่า การเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ.1685 ทำให้สังเกตหาพิกัดทางภูมิศาสตร์ของลพบุรีเทียบกับปารีส ชั่วโมงการเกิดปรากฎการณ์ธรรมชาติบนท้องฟ้าที่แตกต่างกันของสองเมือง สมารถใช้คำนวณหาลองจิจูดที่ต่างกันได้

นอกจากนี้มีบันทึกไว้ว่า ช่วงที่คณะทูตสยามเดินทางไปฝรั่งเศส สิ่งของที่ทรงสั่งให้ซื้อ มีกล้องโทรทรรศน์รวมอยู่ด้วย ส่วนเครื่องบรรณาการที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มอบให้คณะทูตฝรั่งเศสนำมาที่สยาม ปรากฎว่า มีกล้องโทรทรรศน์ ลูกทรงกลมท้องฟ้าที่มีลูกโลกตรงกลาง พร้อมทั้งแสดงตำแหน่งพิกัดของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และกลุ่มดาวต่างๆ

 

 -3-

หากไม่ไตร่ตรองอย่างละเอียด คนส่วนใหญ่ก็จะนึกไปว่า องค์ความรู้เรื่องดาราศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัว 

ทั้งๆ ที่การศึกษาปรากฎการณ์ธรรมชาติบนท้องฟ้า ทำให้มนุษย์คิดค้นเทคโนโลยีได้หลายอย่าง อาทิ สัญญาณไวไฟ (WiFi เทคโนโลยีที่ช่วยให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แลกเปลี่ยนข้อมูล โดยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สายโดยใช้คลื่นวิทยุ) ,กล้องดิจิตอล และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ฯลฯ

ดร.ศรัณย์ เล่าต่อว่า สมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงนำความรู้เรื่องการวัดแดด วัดดาว มาใช้บอกพิกัดหัวเมืองสำคัญ และมีการว่าจ้างช่างชาวตะวันตกมาช่วยวางระบบในแผ่นดินรัตนโกสินทร์

“พระองค์ทรงคำนวณไว้ล่วงหน้าว่า จะเกิดสุริยุปราคาในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411ที่หว้ากอ ซึ่งจะครบ 150 ปีที่ทอดพระเนตรปรากฎการณ์ธรรมชาติ ทรงคำนวณการเกิดได้แม่นยำ ทั้งๆ ที่ยุคนั้นไม่มีภาพถ่ายทางอากาศ นี่เป็นซารอส(วัฏจักรของการเกิดอุปราคาซ้ำ)เดียวกับสมัยสมเด็จพระนารายณ์ โดยรอบหนึ่งยาวนาน18 ปี 11วัน 8 ชั่วโมง จะเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งบนโลกอย่างแน่นอน และคนไทยจะได้เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงอีก 52 ปีข้างหน้า  วันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2613 เกิดขึ้นเป็นเวลานาน 1 นาที 40 วินาที และปีหน้าจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่ชิลี”

อย่างไรก็ตาม ดร.ศรัณย์ คาดคะเนว่า สุริยุปราคาเต็มดวง ซารอสที่รัชกาลที่ 4 คำนวณไว้ น่าจะเป็นซารอสเดียวกับสุริยุปราคาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และนี่คงเป็นเหตุผลที่พระองค์ทรงบูรณะนารายณ์ราชนิเวศน์ จ. ลพบุรี

“ผมคิดว่า รัชกาลที่ 4 ทรงทราบดีว่า เหตุการณ์ธรรมชาติครั้งนั้นน่าตื่นเต้นเพียงใด พระองค์ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เกี่ยวกับปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์ทุกปี และพระองค์ทรงบอกว่า ให้ใช้ฟิลเตอร์สีใดดูดาวอย่างไร"

 

-4-

 นอกจากเรื่องราวดาราศาสตร์สมัยพระนารายณ์และรัชกาลที่ 4 เรื่องราวประวัติศาสตร์ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน  รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ สมัยสมเด็จพระนารายณ์ บอกว่า ดาราศาสตร์ในแผ่นดินสยามเกิดขึ้นครั้งแรกสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เพราะพระองค์อยากเปิดความเป็นสยามให้โลกรู้จัก

“การเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา พระองค์ทรงเอาเยี่ยง ไม่เอาอย่าง ความเข้าใจเรื่องดาราศาสตร์ ทำให้สมัยพระนารายณ์ รู้ว่า สภาพพื้นที่สูงต่ำของดินแดน จนพัฒนาทำท่อน้ำปะปา และสร้างป้อมปราการแบบตะวันตก ซึ่งเป็นผลจากความรู้ด้านดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์

ดังนั้นพระราชกรณียกิจความสัมพันธ์กับต่างชาติ ไม่ได้มีแค่การส่งทูตไปเจริญสัมพันธไมตรี พระองค์ทรงรับสั่งให้นำความเจริญจากตะวันตกมาพัฒนาบ้านเมือง และก่อนหน้านี้ก็ทอดพระเนตรทั้งจันทรุปราคาและสุริยุปราคา โดยมีบาทหลวงบันทึกเรื่องราวดาราศาสตร์สมัยอยุธยาเก็บไว้เป็นหลักฐานที่หอดูดาวกรุงปารีส"

หากถามว่า สมัยสมเด็จพระนารายณ์ต่างจากกษัตริย์ยุคอื่นสมัยกรุงศรีอยุธยาอย่างไร

รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม นักดาราศาสตร์ บอกว่า ตอนที่สมเด็จพระนารายณ์ส่งคณะทูตไปฝรั่งเศส พระองค์ทรงส่งคนไปเรียนรู้วิชาช่างด้วย จนเป็นที่มาของการทำท่อประปายุคนั้น

“ตอนนั้นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็ส่งบาทหลวงที่เป็นนักคณิตศาสตร์เข้ามา เพื่อทำแผนที่เอเชีย การเดินเรือต้องรู้ตำแหน่งเส้นรุ้ง เส้นแวง และสมัยนั้นเครื่องมือสำคัญอีกอย่าง คือ นาฬิกา เวลาที่ฝรั่งเศสต่างจากอยุธยา 7 ชั่วโมง โดยจะวัดตามเส้นเมริเดียนหรือลองจิจูด 0 องศา ผ่านหอดูดาวกรุงปารีส และบาทหลวงเหล่านี้นอกจากเผยแพร่คริสต์ศาสนา ยังเข้ามาเพื่อสังเกตการณ์ดวงดาวโดยเฉพาะเหตุการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2228 ณ พระที่นั่งไกรสรสีหราช(พระที่นั่งเย็น) "

บันทึกของบาทหลวงกลุ่มแรกที่มาสยาม บันทึกไว้ที่หอดูดาวกรุงปารีส ว่า พระที่นั่งแห่งนี้ตั้งอยู่กลางพื้นที่ราบ ไม่ค่อยมีต้นไม้สูง รบกวนการดูดาว ซึ่งเป็นพื้่นที่เหมาะแก่การสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์แห่งหนึ่งในลพบุรี และครั้งนั้นสมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงสนพระทัย เข้าร่วมสังเกตการณ์ปรากฎการณ์ธรรมชาติด้วย

นี่คือเรื่องดาราศาสตร์ที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ในอนาคต