'วิษณุ' ชี้ไม่จำเป็นต้องใช้ ม.44 รื้อถอนบ้านพักตุลาการ

'วิษณุ' ชี้ไม่จำเป็นต้องใช้ ม.44 รื้อถอนบ้านพักตุลาการ

"วิษณุ" ระบุ ไม่จำเป็นต้องใช้ ม.44 รื้อทรัพย์สินทางราชการ ปมบ้านพักตุลาการ จ.เชียงใหม่ เชื่อการชุมนุมไม่บานปลาย เพราะยังไม่พบการเมืองแทรก

เมื่อวันที่ 2 พ.ค.61 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯให้สัมภาษณ์กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. สั่งการให้นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่แก้ปัญหาบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ว่ายังไม่ได้มีการพูดคุยกับนายสุวพันธุ์ เป็นการส่วนตัว แต่การที่นายกฯ ให้นายสุวพันธุ์ ไปดูเรื่องนี้เพราะเคยดูตอนเป็น รมว.ยุติธรรม ก็ไปในฐานะส่วนกลาง แต่ไม่ใช้ทั้งหมดเพราะในพื้นที่มีกองทัพภาคที่ 3 ดูแลอยู่แล้ว

ทั้งนี้ เมื่อลงพื้นที่ก็จะนำจิ๊กซอว์มาต่อกันเพื่อแก้ปัญหา การตัดสินใจขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ถูกต้องก่อนเสนอนายกฯต่อไป แต่ขณะนี้ยังไม่มีเรื่องทางกฎหมายที่ต้องหารือกัน ยกเว้นไปตรวจพบว่ามีปัญหาข้อกฎหมายค่อยมาหารือกับตน ไม่ได้รู้สึกกังวลอะไรเชื่อว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นอยู่พื้นฐานของความสุจริตใจ ไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง และไม่มีประเด็นทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ถือเป็นเรื่องดีที่ทำให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยแต่ในอนาคตอาจจะไม่แน่ ขณะนี้ยังไม่พบอะไรที่จะชักจูงหรือนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อย เพราะการชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบและเรียบร้อยดี

นายวิษณุ กล่าวต่อไปว่าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 พ.ย. ไม่ได้พูดถึงเรื่องดังกล่าว แต่ท้ายที่สุดรัฐบาลต้องเป็นผู้แก้ไขปัญหา โดยอาศัยความร่วมมือและความเข้าใจทั้ง 3 ฝ่าย คือตุลาการ ประชาชน และฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมที่ดูแลเรื่องป่าไม้ ต้องใช้ข้อมูลด้านวิชาการและเชิงความต้องการ ข้อตกลงเดิมที่มีมาในสมัยรัฐบาลก่อนๆเพื่อให้ศาลมีที่อยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อนนั้นมีการอนุมัติตั้งแต่ รัฐบาลนี้ยังไม่เข้ามาขอให้เห็นใจศาลด้วย การพูดจาให้กระทบกระเทือนศาลไม่ได้และต้องปล่อยให้เป็นไปตามการดำเนินการของรัฐบาล

เมื่อถามว่าต้องใช้อำสั่งมาตรา 44 หรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่า ตนไม่ทราบ แต่มองว่าคงไม่ถึงขั้นนั้น ซึ่งคำสั่งคสช.ต้องใช้ในทางสร้างสรรค์ ไม่ต้องใช้ทุบตึก และรื้อบ้านหรือทำลายทรัพย์สินทางราชการ ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ก่อน ยืนยันไม่มีสัญญาณว่ามีความไม่สงบหรือการเมืองเข้ามาแทรกแซงแต่อย่างใด

เมื่อถามว่าต้องทำประชามติหรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่า การทำประชามติเป็นเรื่องใหญ่ต้องตั้งประเด็นเข้าคูหากากบัตร จึงไม่จำเป็นต้องถึงขั้นนั้น แต่การทำประชาพิจารณ์อาจทำได้ ส่วนกรณีที่มีเพจไทยคู่ฟ้าเปิดให้แสดงความเห็นถือเป็นรูปแบบหนึ่งที่ประกอบพิจารณาประกอบได้