ขีดกรอบไอยูยู 4 เดือน เพิ่มศักยภาพแก้ประมง

ขีดกรอบไอยูยู 4 เดือน เพิ่มศักยภาพแก้ประมง

“ฉัตรชัย” ขีดกรอบไอยูยู 4 เดือน เพิ่มประสิทธิภาพแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย ทำแผนปฏิบัติพัฒนาระบบบริหารจัดการกองเรือ เข้มบังคับใช้มาตรการทางปกครอง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้แยกการแก้ไขด้านแรงงานประมงออกจากการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมายที่ในขณะนี้กำลังยกร่างกฎหมายเพื่อรองรับการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมงทะเล เช่น สุขภาพอนามัยบนเรือสวัสดิการชาวประมง ซึ่งคาดว่าจะรับรองอนุสัญญาได้ภายในปี 2561

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบแผนปฏิบัติการยกระดับประสิทธิภาพการทำงานเพื่อใช้ดำเนินการในช่วงเวลา 4 เดือน คือ 1.แผนปฏิบัติการพัฒนาระบบบริหารจัดการกองเรือประมง โดยกรมเจ้าท่าเป็นผู้รับผิดชอบ มีภารกิจสร้างระบบบริหารจัดการกองเรือประมงและเรือสนับสนุนการประมงให้สามารถติดตามและตรวจสอบข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ อีกทั้งต้องกำหนดกฎเกณฑ์ กติกาในการจดทะเบียนเรือ เปลี่ยนประเภทการใช้เรือ ควบคุมเรือให้อยู่ในท่าตามกฎหมาย รวมถึงการต่อ ดัดแปลง ซ่อมเรือที่อู่ โดยใช้หลักการบริหารความเสี่ยงที่ได้มาตรฐานสากล

2.แผนปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของศูนย์แจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) โดยศูนย์บัญชาการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เป็นผู้รับผิดชอบ จะเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจเข้าออกเรือประมง ณ ท่าเทียบเรือ รวมถึงการนำสัตว์น้ำขึ้นท่า การบูรณาการข้อมูลระหว่างเส้นทางการทำประมงที่ได้จากระบบติดตามเรือประมงกับสมุดบันทึกทำการประมง โดยนำมาตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเพื่อนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายได้อย่างตรงตัวผู้กระทำผิด และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ที่ปฏิบัติผิดกฎหมาย

3.แผนปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้มาตรการทางปกครอง โดยกรมประมงรับผิดชอบ มีภารกิจเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้มาตรการทางปกครองต่อผู้กระทำผิดบนพื้นฐานของการบริหารความเสี่ยง เช่น การพักใช้ใบอนุญาต การเพิกถอนใบอนุญาต การสั่งกักเรือ เป็นต้น มุ่งเน้นให้การบังคับใช้เป็นไปด้วยความรวดเร็วต่อผู้กระทำผิด

“ ทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดในการทำงานของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาไอยูยูช่วง พ.ค.- ส.ค.และถ้าหน่วยงานที่รับผิดชอบทำได้ตามแผนก็จะทำให้ไทยเริ่มต้นเข้าสู่การเป็นประเทศปลอดการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ ไอยูยูฟรี”