กรมควบคุมโรค ห่วงเชื่อผิดๆ 'โรคพิษสุนัขบ้า'

กรมควบคุมโรค ห่วงเชื่อผิดๆ 'โรคพิษสุนัขบ้า'

กรมควบคุมโรค เน้นย้ำประชาชนที่มีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า เสี่ยงได้รับเชื้อและอาจทำให้เสียชีวิตได้

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2561 นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่าจากสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ในปี 2561 พบผู้เสียชีวิตแล้ว 8 ราย จาก 8 จังหวัด (สุรินทร์ สงขลา ตรัง นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ บุรีรัมย์ พัทลุง และหนองคาย) ส่วนใหญ่เกิดจากการถูกสุนัขกัด/ข่วน รายล่าสุดเกิดจากการถูกแมวข่วนที่ต้นคอ แล้วไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยรายนี้มีประวัติสัมผัสลูกสุนัขเมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2560 แต่มาแสดงอาการเดือนเมษายน 2561 ระยะฟักตัวประมาณ 5 เดือน

นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวต่อไปว่า โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนที่ติดต่อผ่านทางกัด ข่วน เลีย หรือสัมผัสกับน้ำลายสัตว์ที่มีเชื้อเข้าทางบาดแผล ระยะฟักตัวของโรคส่วนใหญ่ประมาณ 2-3 เดือน ในบางรายอาจนานเป็นปีหรือหลายปีได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะการสัมผัสโรค บริเวณที่ได้รับเชื้อไวรัสเรบีย์ และความรุนแรงของบาดแผล นอกจากนี้ มีรายงานการเกิดโรคในต่างประเทศ พบว่าโรคนี้อาจมีระยะฟักตัวได้ยาวนานถึง 8 ปี อย่างไรก็ตาม หากมีการสัมผัสกับโรค และเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยผู้สัมผัสยังไม่แสดงอาการ จะสามารถป้องกันการเกิดโรคได้

จากรายงานการสอบสวนโรคของผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า พบว่าสาเหตุของการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากการขาดความตระหนักถึงความรุนแรงของโรค เมื่อถูกสัตว์กัด ข่วน เลีย แล้วไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค ทั้งนี้ เนื่องจากคิดว่าแผลเล็กน้อยไม่จำเป็นต้องรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จนกระทั่งแสดงอาการ แต่ก็สายเกินแก้ไข เป็นเหตุให้เสียชีวิตในที่สุด ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า โดยเห็นได้จากผลการสำรวจความคิดเห็น หรือ DDC poll เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2561 นี้ เช่น ประชาชนคิดว่าโรคพิษสุนัขบ้ารักษาได้ ร้อยละ 14.8, ไม่รู้ว่าลูกสุนัขหรือแมว อายุ 2-3 เดือน ต้องพาไปฉีดวัคซีน ถึงร้อยละ 75.4, เมื่อถูกสุนัขแมวกัดหรือข่วน จะไม่ทำอะไรและไม่ไปพบแพทย์ ร้อยละ 51.3 เป็นต้น

DcAyMYwUwAE8ls2

กรมควบคุมโรค ขอเน้นย้ำให้ประชาชนที่ถูกสัตว์กัด ข่วน ต้องรีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ทายาเบตาดีน จากนั้นให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วเพื่อวินิจฉัยว่าต้องฉีดวัคซีนหรือไม่ และวัคซีนชนิดนี้มีลักษณะพิเศษ คือ ต้องรับเป็นชุดจึงจะป้องกันโรคได้ ดังนั้น หากแพทย์นัดหมายจำเป็นต้องไปรับให้ตรงตามนัดทุกครั้ง และขอย้ำว่า “วัคซีนจะป้องกันโรคจะได้ผลเมื่อฉีดก่อนที่เชื้อจะเข้าสู่ระบบประสาท หากรอจนเชื้อเข้าไปแล้ว จะไม่มีทางรักษาต้องเสียชีวิตทุกราย” หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422