ไทยซุ่มพัฒนา 'เซรุ่มต้านพิษงูข้ามสายพันธุ์'

ไทยซุ่มพัฒนา 'เซรุ่มต้านพิษงูข้ามสายพันธุ์'

สกว.ร่วมสนับสนุนนักวิจัยศึกษากลไกของร่างกายในการจัดการต่อพิษงูแมวเซา การเกิดพิษในระบบกล้ามเนื้อและไต รวมถึงประสิทธิภาพของเซรุ่มต้านพิษงู หวังพัฒนาเซรุ่มเฉพาะชนิดให้สามารถรักษาผู้ป่วยที่ถูกงูข้ามสายพันธุ์กัด

งานวิจัยเรื่อง “เภสัชจลนศาสตร์และเภสัชพลศาสตร์ของพิษต่อกล้ามเนื้อและพิษต่อไตจากงูแมวเซา” ภายใต้การสนับสนุนระหว่างฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า และสถานเสาวภา สภากาชาดไทย ทีมนักวิจัยได้ศึกษากลไกของร่างกายในการจัดการต่อพิษงูแมวเซาและความสัมพันธ์ของระดับพิษงูในร่างกายต่อการเกิดพิษในระบบกล้ามเนื้อและไต เพื่อที่จะสามารถพยากรณ์การเกิดพิษต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกายหลังถูกงูแต่ละชนิดกัดได้ โดยจะนำไปสู่การรักษาพยาบาลที่เหมาะสมในผู้ที่ถูกงูกัดแต่ละราย เช่น ระยะเวลาของการฉีดเซรุ่มต้านพิษงูหลังถูกงูกัด การเลือกขนาดของเซรุ่มในการรักษาเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการแพ้เซรุ่ม 


พันโท.เจนยุทธ ไชยสกุล นักวิจัยจากภาควิชาเภสัชวิทยา วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า ขณะนี้กำลังศึกษาคุณสมบัติของพิษงูแมวเซาต่อการเกิดพิษต่อกล้ามเนื้อและไตในหนูทดลอง โดยฉีดพิษงูเข้าทางหลอดเลือดดำ และเก็บตัวอย่างเลือดและชิ้นเนื้อในระยะเวลาที่ต่างกัน เบื้องต้นพบว่าพิษงูแมวเซามีผลเพิ่มระดับเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและไต

  นอกจากนี้นักวิจัยยังได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการเครือพัฒนาข่ายวิจัยนานาชาติ สกว. ร่วมกับบริติช เคานซิล และกองทุนนิวตัน ให้เดินทางไปศึกษาวิจัยเรื่อง “ฤทธิ์ต้านพิษงูวงศ์เขี้ยวพับที่พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเซรุ่มต่างชนิด” ที่ Liverpool School of Tropical Medicine เมืองลิเวอร์พูล ประเทศสหราชอาณาจักร เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของเซรุ่มต้านพิษงูที่ผลิตในประเทศไทยต่อการต้านพิษงูวงศ์เขี้ยวพับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนทักษะด้านการทดสอบคุณสมบัติและประสิทธิภาพของเซรุ่มต้านพิษงู 

ผลที่คาดว่าจะได้รับจากงานวิจัยนี้ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ คือ การนำเซรุ่มต้านพิษงูเฉพาะชนิด (Monovalent antivenom) มารักษาผู้ป่วยที่ถูกงูข้ามสายพันธุ์กัด ซึ่งจะช่วยลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการถูกงูกัดให้กับผู้ป่วยที่อาศัยในถิ่นทุรกันดารทั้งในประเทศไทยและชาติอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ด้านการศึกษาแก่นักเรียน นิสิต บุคลากรทางการแพทย์ เกษตรกร รวมถึงประชาชนทั่วไป ในการนำความรู้นี้ไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาการป้องกันและรักษาผู้ป่วยที่ถูกงูกัดต่อไป ซึ่งคาดว่าจะส่งตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการนานาชาติได้ในปีนี้ รวมถึงมีแผนจะถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับนักศึกษาแพทย์ และจัดอบรมเชิงปฏิบัติการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ โดยเฉพาะในระดับชุมชน เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างถูกต้องและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกประกาศให้การถูกงูกัดเป็นหนึ่งในโรคเขตร้อน (Neglected Tropical Diseases) ที่ถูกละเลย ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตและบาดเจ็บในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรกรรมและเขตชนบท จากการสำรวจพบว่ามีผู้ถูกงูกัดประมาณ 4 แสน ถึง 1.84 ล้านราย และเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 2-9.4 หมื่นรายทั่วโลก ซึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือว่าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของงูพิษที่สำคัญ เช่น วงศ์งูพิษเขี้ยวหน้าอย่าง งูเห่า งูจงอาง งูทับสมิงคลา และวงศ์งูพิษเขี้ยวพับ เช่น งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา ซึ่งวงศ์งูเขี้ยวพับนี้เป็นกลุ่มงูพิษสำคัญทางการแพทย์ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบไหลเวียนโลหิต เป็นสาเหตุของภาวะความดันโลหิตต่ำ และความผิดปกติต่อกลไกการแข็งตัวของเกล็ดเลือด ส่งผลให้มีเลือดออกในอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง และเยื่อบุต่าง ๆ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่รวดเร็วและถูกวิธีอาจทำให้เกิดความพิการและเสียชีวิตได้ 

ปัจจุบันการฉีดเซรุ่มต้านพิษงูเป็นการรักษาผู้ป่วยที่ถูกงูพิษกัดวิธีเดียวที่เป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ทั่วโลก แม้จะทำให้เกิดการแพ้ในผู้ป่วย โดยประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ได้สั่งซื้อเซรุ่มต้านพิษงูจากสถานเสาวภา สภากาชาดไทย เพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยที่ถูกงูในท้องถิ่นของตนกัด เช่น เซรุ่มต้านพิษงูเห่า งูจงอางและงูสามเหลี่ยม แสดงให้เห็นว่าเซรุ่มของไทยมีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับในการต้านพิษงูจากพื้นที่อื่น ๆ ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามบ่อยครั้งที่ยังพบปัญหาจากการใช้เซรุ่มต้านพิษงูเพื่อรักษาผู้ป่วย เช่น การใช้เซรุ่มต้านพิษงูไม่ตรงกับชนิดของงูที่กัด หรือปริมาณของเซรุ่มที่ใช้ไม่เหมาะสมกับผู้ป่วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจส่งผลเสียต่อชีวิตผู้ป่วยได้