ปลายฟ้า...นราธิวาส

“หากหัวใจของคุณยังเต้นได้เป็นปกติ แล้วเหตุใดเล่าจึงต้องมากังวลและหวาดกลัว?”

ฉันนึกถึงประโยคนี้ทันทีที่สองเท้าก้าวพ้นสนามบินนราธิวาสในวันฝนโปรยกลางฤดูร้อน บรรยากาศภายในเมืองแม้จะไม่คึกคักแบบจังหวัดท่องเที่ยว แต่ก็ไม่เงียบเหงาจนน่าใจหาย ร้านรวงเปิดขายของตามปกติ ไม่มีสัญญาณอันตรายอะไรที่ชวนตื่นเต้นมากไปกว่า...การจะได้รู้จักดินแดนปลายด้ามขวานแห่งนี้ให้ดียิ่งขึ้น

สำหรับนักเดินทางหน้าใหม่ในจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม การได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ประจำเมือง ถือเป็นการตั้งต้นที่ดีที่สุด ยิ่งได้ไปเห็นการจัดแสดงที่มีมิติทั้งข้อมูล ภาพ แสง เสียง ยิ่งทำให้การย้อนอดีต‘บางนรา’น่าติดตาม

พิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาส แบ่งการจัดแสดงเนื้อหาในลักษณะห้องนิทรรศการ ชั้นล่างมีทั้งหมด 6 ห้อง ไล่เรียงตั้งแต่ ห้องโถงทอภูมิผูกนรา ซึ่งเป็นโถงต้อนรับจัดแสดงประติมากรรมและเรื่องราวสถานที่สำคัญและวัฒนธรรมเด่นๆ ของจังหวัด ถัดมาเป็นห้องบรรยายสรุป ที่นักท่องเที่ยวจะได้ชมวีดิทัศน์เกี่ยวกับนราธิวาสอย่างย่นย่อ ก่อนจะเดินต่อไปยัง ห้องแผ่นดินสีเขียว ซึ่งนำเสนอลักษณะทางภูมิศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ ตามมาด้วยห้องพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องราวทางโบราณดคีและความเป็นมาของนราธิวาส

...ชื่อเดิมของพื้นที่นี้คือ ‘มนารา’ หรือ ‘มนารอ’ ซึ่งมีความหมายว่า “หอคอย” ที่กลายมาจากคำว่า “กูวาลา มนารา” มีความหมายว่า “กระโจมไฟ” หรือ “หอคอยที่ปากน้ำ” ในอดีตนั้นคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธมักจะเรียกเมืองนี้ว่า ‘บางนรา’ หรือ ‘บางนาค’ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองขึ้นใหม่ว่า ‘นราธิวาส’ อันมีความหมายว่า “อันเป็นที่อยู่ของคนดี”...

ฉันไล่สายตาไปตามข้อมูลที่ได้ โดยมีภาพจำลองบรรยากาศเมืองจากวันวานถึงปัจจุบันในห้องถัดมาช่วยฉายอดีตให้ชัดขึ้น ก่อนจะมาจบที่ห้องภาพรำลึก ซึ่งรวบรวมภาพเก่าบอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญหลายครั้งหลายคราในจังหวัดนราธิวาส

ส่วนชั้นที่ 2 ยังมีนิทรรศการที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง เช่น ห้องชาติพันธุ์ จัดแสดงเรื่องราวความหลากหลายทางชาติพันธุ์และศาสนาของผู้คนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินแห่งนี้ ห้องภูมิชีวิต ที่นำเสนอวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมผ่านรูปแบบสถาปัตยกรรม บ้านเรือนพื้นถิ่นมลายู อาหารการกิน ประเพณี ภาษาและวัฒนธรรม ที่แม้จะเป็นแค่ข้อมูลและภาพประกอบก็ยังมีเสน่ห์จนอดเสียดายไม่ได้หากไม่ได้มาเห็นด้วยตาตัวเอง

มรดกล้ำค่า 'อัล-กุรอาน' 

ฝนเริ่มขาดเม็ด ตามถนนหนทางผู้คนเริ่มคึกคักมากขึ้น จุดหมายต่อไปอยู่ที่ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ ไม่ไกลจากอำเภอเมืองนราธิวาสเท่าไรนัก

รถจอดเทียบอาคารหลังหนึ่งในอาณาบริเวณของโรงเรียนสมานมิตรวิทยา (ปอเนาะศาลาลูกไก่) ซึ่งเป็นที่ตั้งของ พิพิธภัณฑ์อัล-กุรอาน ที่รวบรวมคัมภีร์อัล-กุรอานเขียนด้วยลายมือไว้ถึง 79 เล่ม แต่ละเล่มมีอายุไม่ต่ำกว่าร้อยปีไปจนถึงมากกว่าหนึ่งพันปี ที่นี่จึงไม่เพียงเป็นจุดหมายของคนมุสลิมทั้งในและต่างประเทศที่หวังจะได้ชื่นชมมรดกอันล้ำค่าทั้งทางศาสนาและศิลปวัฒนธรรม แต่ยังทำให้คนพุทธอย่างเราตื่นตาตื่นใจไปกับศาสตร์และศิลป์ในการทำหนังสือโบราณที่มีทั้งความแข็งแรงทนทานและสวยงามเป็นเอกลักษณ์

คัมภีร์เก่าคร่ำในสภาพผุกร่อนถูกกางออกเพื่อให้เห็นตัวอักษรโบราณที่หาชมได้ยาก แม้จะอ่านไม่ออกแต่ความขรึมขลังนั้นก็ทำให้สัมผัสได้ถึงถ้อยคำอันศักดิ์สิทธิ์ เช่นเดียวกับอีกหลายเล่มที่ถูกเก็บรักษาไว้ในตู้กระจกอย่างดี

มาหะมะลุตฟี หะยีสาแม หรือ ‘อ.ลุตฟี’ ผู้บริหารสถานศึกษาสอนศาสนาอิสลามโรงเรียนสมานมิตรวิทยา เล่าว่าคัมภีร์เหล่านี้ ส่วนหนึ่งมาจากการที่คนในสมัยก่อนไปเรียนหนังสือที่ต่างประเทศแล้วนำคัมภีร์และเอกสารโบราณกลับมา เพราะที่นี่เคยเป็นปอเนาะ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งนั้นสันนิษฐานว่า น่าจะติดตัวมากับผู้ที่มาทำการค้าขายแลกเปลี่ยนซึ่งสมัยนั้นปัตตานีเป็นศูนย์กลางการเดินเรือสำคัญ

“ที่นี่มีคัมภีร์จากหลายประเทศทั่วโลก แต่มากที่สุดคือในอาเซียน อัล-กุรอานที่เก็บรักษาไว้ที่เก่าแก่ที่สุดก็คือ 1,112 ปี มาจากเมกกะโบราณ ส่วนของเมืองไทยเก่าที่สุดคือ 376 ปี มาจากปัตตานี ซึ่งเราต้องดูแลอุณหภูมิและความชื้นตลอดเวลา ” อ.ลุตฟีกล่าว ก่อนจะอธิบายต่อว่า คัมภีร์ที่อยู่ในประเทศไทยจะไม่เหมือนโลกอาหรับ โดยของไทยจะทำขนาดเล็กกว่าแต่มีลายกรอบที่สวยงามตกแต่งด้วยทองคำเปลว

นอกจากคัมภีร์อัล-กุรอ่านเก่าแก่แล้ว พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังเก็บรักษาเอกสารโบราณ เช่น เอกสารภาษาศาสตร์ ศาสนาวรรณคดี ศิลปะขนบธรรมเนียมประเพณี กฎหมาย เวชศาสตร์ ซึ่งเอกสารและอัล-กุรอานโบราณเหล่านี้ ส่วนใหญ่ปกจะทำด้วยหนังสัตว์ เนื้อในทำด้วยกระดาษและเปลือกไม้ เขียนตัวอักษรโดยใช้หมึกสีดำเป็นภาษายาวีและอาหรับโบราณ บางหน้าตกแต่งด้วยการเขียนสี 5 สี โดยมีลวดลายที่แตกต่างกัน ส่วนมากจะเป็นแบบอาหรับและมลายู รวมถึงศิลปะจีน จำนวนไม่น้อยเป็นการผสมผสานกัน และยังมีการตกแต่งด้วยทองคำเปลว 

อัล-กุรอานเหล่านี้มีตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ ถือเป็นมรดกที่มีคุณค่าและน่าภาคภูมิใจที่ถูกเก็บรักษาไว้ในเมืองไทย ใครที่สนใจพิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน (สอบถามโทร 08 4973 5772, 09 5202 4342)

สุคิริน ดินแดน‘ทอง’

สมญา ‘ขวานทอง’ ไม่ใช่แค่คำเปรียบเปรยอีกต่อไป เมื่อเรามาถึง ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน ดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็นอีสานแห่งนราธิวาส เนื่องจากเมื่อหลายสิบปีก่อนมีชาวอีสานเข้ามาตั้งรกรากในพื้นที่นี้เป็นจำนวนมากและยังรักษาประเพณีวัฒนธรรมของตนเองไว้ ทั้งภาษา อาหารการกิน เครื่องแต่งกาย และประเพณีที่สำคัญอย่าง งานบุญบั้งไฟ ซึ่งถือเป็นแห่งเดียวในภาคใต้

บนถนนสายความมั่นคง สองข้างทางร่มรื่นไปด้วยไม้ใหญ่สมชื่อสุคิริน ที่แปลว่า “พันธุ์ไม้อันเขียวชอุ่ม” ชมนกชมไม้ได้สักพัก...รถก็มาจอดตรงปากทางเข้า (อดีต)เหมือนแร่ทองคำโต๊ะโมะ เพื่อไปดูอีกหนึ่งอาชีพของคนที่นี่

สาวน้อยสาวใหญ่ในชุดเสื้อแขนยาวกางเกงขายาว หมวกปีกกว้าง นั่งอยู่กับพื้นทรายกลางลำน้ำที่สูงไม่เกินครึ่งน่อง ในมือมีอุปกรณ์คล้ายถาดไม้ขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ‘ชะเลียง’ หรือ ‘เลียง’ สำหรับร่อนทรายที่ตักขึ้นมา ซึ่งอันที่จริงต้องเรียกว่า ‘ร่อนทอง’ ถึงจะถูก เพราะผลลัพธ์หลังจากโยกเลียงไปมาอยู่นานสองนาน คือแร่ทองที่ต้องแสงระยิบระยับซึ่งเป็นดอกผลในแต่ละวัน

“ตรงนี้เป็นต้นน้ำสายบุรีมีสายแร่ทองคำอยู่ ชาวบ้านก็เลยมาร่อนทองกัน สมัยก่อนเคยมีบริษัทมาสัมปทานทำทองอยู่ข้างบน แล้วใช้อุโมงค์ใกล้ๆ นี้ลำเลียงทองจากเหมืองไปประเทศเพื่อนบ้านเพราะอยู่ใกล้แค่ไม่กี่ร้อยเมตร ซึ่งตอนนี้ปิดไปแล้วพร้อมๆ กับเหมืองทอง แต่ชาวบ้านยังมาร่อนทองกันอยู่ วันนึงก็ได้ตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพันบาท” นฤพนธ์ โยงปราง ผู้ใหญ่บ้านม.1 ต.ภูเขาทอง เล่า ก่อนจะชวนให้นักท่องเที่ยวทดลองร่อนทองดูบ้าง

ฉันรับเลียงมาด้วยความมุ่งมั่น แต่เมื่อถ่ายน้ำหนักลงมาที่แขนทั้งสองข้างก็แทบจะร่อนไม่ไหว ร่อนไปร่อนมาไม่นานทรายก็หายไปหมด ส่วนทองนั้นไม่ต้องพูดถึง...ไม่มีให้เห็น ถึงแม้จะถือคติว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น” แต่ด้วยเวลาอันจำกัดจึงต้องถอดใจ คืนเลียงให้เจ้าของ แล้วเดินจากไปเงียบๆ

ทองคำ คงจะหายากเกินไปสำหรับมือใหม่ แต่ต้นไม้ยักษ์ เขาว่าหาไม่ยากในผืนป่าแห่งนี้ซึ่งเป็นผืนเดียวกับป่าฮาลา-บาลา เพราะฉะนั้นได้เวลา...ไปต่อ

เราเดินทางไปตามเส้นทางสายเดิมที่ตัดผ่านป่าผืนใหญ่ ก่อนจะถึงจุดหมายขอแวะทดสอบความมหัศจรรย์ของสภาพภูมิประเทศสักเล็กน้อยตรงจุดที่เรียกว่า ‘เนินพิศวง’ ดูด้วยตาเนินที่มีความลาดเอียงนี้ก็มิได้ผิดแปลกอะไร แต่หากนำสิ่งของ หรือแม้แต่รถยนต์ปล่อยเกียร์ว่างไปอยู่บนเนิน จะเห็นเหมือนมันกำลังเลื่อนขึ้นย้อนแย้งกับข้อเท็จจริงที่ว่า วัตถุต้องไหลลงสู่ที่ต่ำ ซึ่งคำอธิบายที่เป็นวิทยาศาสตร์นั้นเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินกันมาแล้ว

พิสูจน์เนินพิศวงกันพอประมาณ ไม่นานก็มาถึงทางเข้าป่าซึ่งดูด้วยตาไม่ได้รกทึบอะไร ใช้เวลาในการเดินเท้าไม่ท้ันเหนื่อย สะพานไม้ข้ามลำธารก็พามนุษย์ตัวน้อยไปพบกับพ่อใหญ่แห่งป่า ‘ต้นกะพงยักษ์’ หรือต้นสมพงขนาดใหญ่ ว่ากันว่าอายุน่าจะเกินร้อย และต้องใช้คนถึง 28 คนโอบถึงจะรอบ

ทุกคนอยู่ในท่าทางเหมือนกัน...แหงนคอตั้งบ่าเพื่อมองให้ถึงปลายยอด จากนั้นก็เปลี่ยนมากอดต้นไม้ เรียกพลังจากธรรมชาติให้คืนกลับสู่มนุษย์เมืองอีกครั้ง ก่อนจะเดินออกไปด้วยความสดชื่น เพื่อไปตามรอยอีกหนึ่งสิ่งล้ำค่าของคนภูเขาทอง

ศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะ บริเวณเชิงเขาถือเป็นต้นตำนานของเจ้าแม่โต๊ะโมะและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวสุคิริน เนื่องจากเชื่อกันว่าเป็นที่นี่คือที่ตั้งศาลแห่งแรกหลังจากอัญเชิญเจ้าแม่มาจากเมืองจีน และแม้จะมีขนาดไม่ใหญ่โตแต่เรื่องเล่าเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่นั้นมีมากมาย ทุกวันจึงมีทั้งชาวบ้านและนักท่องเที่ยวมากราบไหว้ขอพร ซึ่งผู้ดูแลศาลบอกว่า มีทั้งเรื่องงาน โชคลาภ สุขภาพ เมื่อสมหวังก็จะกลับมาสักการะเจ้าแม่อีก

ท่ามกลางควันธูปที่ลอยคละคลุ้ง ฉันพนมมือขึ้นอธิษฐาน ซึ่งก็คงไม่ต่างจากคนอื่นๆ “ขอให้ดินแดนนี้มีแต่สันติสุข”

‘คอย 100 ปี’ ที่ตากใบ

อำเภอเล็กๆ แห่งนี้แม้ไม่สวยจัดแต่ก็มีเสน่ห์ครบรส โดยเฉพาะรสชาติของปลากุเลาที่ได้ชื่อว่า ‘ราชาแห่งปลาเค็ม’ ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สั่งสมสืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น ทุกวันนี้กลายเป็นโอทอประดับ 5 ดาว ที่ใครต่อใครต้องซื้อติดมือเป็นของฝาก มีทั้งแบบตัดเป็นชิ้นและเป็นตัว ราคาจะอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 1,500 บาท หากจะนำขึ้นเครื่องทางร้านจะแพ็คให้อย่างดีไม่มีกินระหว่างเดินทาง แต่ถึงบ้านแล้วจับลงกระทะน้ำมันร้อนๆ หอมอร่อย...อย่าบอกใคร

เคล็ดลับความอร่อยนอกจากจะอยู่ที่สูตรเฉพาะของแต่ละร้านแต่ละบ้านแล้ว ยังมาจากปลาทะเลสดๆ ที่หาได้ในทะเลแถบนี้ซึ่งมีความเป็นธรรมชาติอยู่มาก และหากอยากชมทะเลอ่าวไทย ณ ปลายด้ามขวานก็ไม่ใช่เรื่องยาก ห่างจากตัวอำเภอไปเพียง 3 กิโลเมตร จะมีเกาะเล็กๆ ชื่อ เกาะยาว ชายหาดที่นั่นสวยงามเงียบสงบ นักท่องเที่ยวสามารถลงเล่นน้ำได้ หรือจะเดินชมวิถีชีวิตของชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิมมีอาชีพประมงและสวนมะพร้าวก็จะเห็นความเร่ียบง่ายและรอยยิ้มที่ไม่ได้แต่งแต้มใดๆ

แต่ก่อนจะไปถึงเกาะยาว หลายคนสะดุดตาสะดุดใจกับสะพานระยะทาง 345 เมตรที่ทอดตัวข้ามแม่น้ำตากใบไปยังเกาะยาว ที่ทั้งสวยและน่าสงสัยกับชื่อที่ตั้งไว้ชวนมโนว่า สะพานคอย 100 ปี

สอบถามได้ความว่า สมัยก่อนชาวบ้านจากเกาะยาวหากจะข้ามมายังฝั่งที่ว่าการอำเภอตากใบต้องพายเรือมาซึ่งก็ไม่สะดวกเท่าไหร่นัก จึงมีความคิดว่าน่าจะมีสะพานเชื่อมทั้งสองฝั่ง แต่กว่าจะมีการสร้างสะพานไม้เชื่อมจากเกาะไปยังที่ว่าการอำเภอฯก็ต้องรอคอยถึง 100 ปี ชาวบ้านเลยตั้งชื่อไว้เป็นที่ระลึก และเมื่อไม่นานมานี้หลังจากสะพานไม้ชำรุดทรุดโทรมลงก็มีการสร้างสะพานปูนขึ้นมาใหม่เพื่อให้แข็งแรงทนทานสะดวกในการสัญจร โดยยังคงเก็บสะพานไม้ดั้งเดิมไว้เป็นที่ระลึกเช่นกัน สะพานแห่งนี้จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของหลายสิ่งหลายอย่าง ส่วนจะหมายถึงอะไรบางนั้นต้องตีความกันเอาเอง

กินลมชมสะพานกันพอสมควรแก่เวลา เราเดินทางต่อไปยังสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของอำเภอตากใบ นั่นคือ วัดชลธาราสิงเห ที่มั่นแห่งศรัทธาของชาวพุทธ ซึ่งตามข้อมูลระบุว่า ประมาณปี พ.ศ. 2416 ตากใบยังเป็นของรัฐกลันตัน ท่านพระครูโอภาสพุทธคุณ (พุด) ได้ไปขอที่ดินจากพระยากลันตันเพื่อที่จะสร้างวัด จากนั้นเมื่อเกิดกรณีแบ่งแยกดินแดนศสยามกับมลายูซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ (สมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2452) ฝ่ายไทยได้มีการยกเอาพระพุทธศาสนา วัดและศิลปะในวัดเป็นเครื่องต่อรองการแบ่งปันเขตแดน อังกฤษจึงยอมรับเหตุผล โดยให้นำเอาแม่น้ำโกลกตรงบริเวณที่ไหลผ่านเมืองตากใบ (แม่น้ำตากใบ) เป็นเส้นแบ่งเขตแดน วัดนี้จึงรู้จักในอีกนามหนึ่งว่า “วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย”

ดูเหมือนว่าหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตล้วนเป็นเครื่องระลึกถึงความหลากหลายของผู้คนและการอยู่ร่วมกัน การได้เดินทางไปเยือนเมืองรับรู้เรื่องราวที่มากกว่าคำบอกเล่าหรือภาพเพียงผ่านๆ ทำให้เรายืนยันกับตัวเองว่า...นราธิวาส พลาดแล้วจะเส่ียดาย