สุดยอดนวัตกรรมสจล. ต่อยอดเชิงพาณิชย์

 สุดยอดนวัตกรรมสจล. ต่อยอดเชิงพาณิชย์

โดรนเพื่องานดับเพลิง ระบบสังเคราะห์เสียงต้นแบบฆ้องวงไฟฟ้า แผงวงจรสำหรับระบบส่งยาผ่านผิวหนัง สมาร์ทโฟนควบคุมวีลแชร์ ไฮไลท์ตัวอย่างบนเวทีประกวดสุดยอดนวัตกรรมสจล.

โดรนเพื่องานดับเพลิง ระบบสังเคราะห์เสียงต้นแบบฆ้องวงไฟฟ้า แผงวงจรสำหรับระบบส่งยาผ่านผิวหนัง สมาร์ทโฟนควบคุมวีลแชร์ ไฮไลท์ตัวอย่างบนเวทีประกวดสุดยอดนวัตกรรม ในกิจกรรมเปิดบ้านนำเสนอผลงานเทคโนโลยีและดิจิทัลกว่า 500 รายการของนักศึกษาปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)

อีกหนึ่งเวทีส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการสร้างนวัตกรรมด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยี เสริมสร้างความเป็นผู้นำและการทำงานเป็นทีม โดยใช้ทักษะความรู้จากห้องเรียนมานำเสนอแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ที่เข้ามาร่วมชมงานเพื่อเป็นช่องทางในการต่อยอดเชิงพาณิชย์

ต้นแบบจากเมกเกอร์มือใหม่

โดรนเพื่องานดับเพลิง โดยกัลตภัทร ชัยจรีนนท์ และวิเชษฐ อันสีเมือง สาขาวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ ออกแบบให้แตกต่างโดยเปลี่ยนระบบควบคุมจากสัญญาณจีพีเอส ไปใช้คลื่นเสียงความถี่สูง(อัลตราโซนิกส์) ติดตั้งกล้องและระบบเซ็นเซอร์ตรวจประเมินสถานการณ์พื้นที่เพลิงไหม้ เพื่อแก้ปัญหา ข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบมีเหตุไฟไหม้ 800-1,200 ครั้งต่อปี แต่ละครั้งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นตามอาคาร ชุมชนที่มีพื้นที่คับแคบ ยากต่อการเข้าถึงของรถดับเพลิง ผลงานคิดค้นนี้จึงเข้ามาช่วยให้เห็นภาพความรุนแรงที่จะนำไปสู่การวางแผนแก้ไขได้รวดเร็ว ปลอดภัยและแม่นยำขึ้น

ถัดมาเป็นต้นแบบ “ฆ้องวงไฟฟ้า” โดยวงศธร วงศ์วิวัฒนะศรี และพัสกร กิมาวะหา สาขาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม ที่ใช้เครื่องพิมพ์สามมิติสร้างลูกฆ้องวง ทั้งนำความรู้ด้านการประมวลผลสัญญาณมาสร้างเสียงฆ้องวงใช้ในการประพันธ์บทเพลงด้วยคอมพิวเตอร์ โดยเมื่อมีการตีที่ลูกฆ้องลูกใด ระบบจะทำการสังเคราะห์และเล่นเสียงออกผ่านลำโพง จึงสามารถทำการบรรเลงได้เหมือนฆ้องวงจริง

ส่วนแผงวงจรสำหรับระบบส่งยาผ่านผิวหนัง โดยรามรัตน์ ได้ผลธัญญา และศุภณัฐ วัจนะรัตน์ สาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้ออกแบบแผงวงจรแผ่นแปะให้คนทั่วไปสามารถฉีดยาให้ตนเองได้โดยไม่รู้สึกเจ็บ เช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่จำเป็นต้องฉีดอินซูลินให้ตัวเอง ชิ้นงานอยู่ระหว่างการออกแบบและพัฒนาก่อนนำไปทำต้นแบบ ซึ่งต้องใช้เงินทุนค่อนข้างสูง

เป้าปีหน้าต่อยอดเชิงพาณิชย์

รศ.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากประสบการณ์การจัดงาน KMITL Engineering Project Day ที่ผ่านมาเริ่มมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ เข้ามาให้การสนับสนุนเพิ่มขึ้นทุกปี และในปีนี้มีกว่า 100 ราย แต่ยังไม่ได้เข้ามาต่อยอดกับผลงานของนักศึกษา อาจจะเพราะยังไม่ได้เข้ามาบอกโจทย์ความต้องการที่ชัดเจน จึงทำให้การพัฒนาผลงานยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร แต่ในปีหน้าจะมีการนำความต้องการจากภาคอุตสาหกรรมมาเป็นโจทย์ให้กับนักศึกษาทำการคิดค้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ตรงจุด บางโปรเจคอาจเป็นการร่วมกันสร้างนวัตกรรมออกมาใช้งานจริง

ทั้งนี้ แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสถาบันฯ ในการเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 1 ใน 10 ของภูมิภาคอาเซียนในปี 2563 ซึ่งเป้าหมายชัดเจนคือการผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะเชื่อมั่นว่า เทคโนโลยี การศึกษา งานวิจัย เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศและขับเคลื่อนประเทศ

“ที่ผ่านมา เราได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาหุ่นยนต์ให้กับโรงพยาบาลมงกุฎแจ้งวัฒนะ เป็นหุ่นยนต์ช่วยเดินเอกสารหรือขนของภายในแผนกผู้ป่วยนอก เพื่อลดค่าแรงการจ้างพนักงาน ล่าสุดในงานนี้นักศึกษาได้พัฒนาวีลแชร์โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า IoT ( Internet of Things) มาเชื่อมโยงกับโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้ผู้ใช้วีลแชร์ หรือผู้ดูแล สามารถควบคุมผ่านตัวกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตในระยะการมองเห็น รวมทั้งมีการติดตั้งจอทัชสกรีนเพื่อให้ผู้ใช้วีลแชร์สะดวกสบายมากขึ้น จึงเป็นเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุยุค 4.0 ถือเป็นจุดแข็งของสจล.” รศ.คมสัน กล่าว