เมื่อหมอจับมือวิศวะ ปรุงสูตร ‘DEVERHOOD’

เมื่อหมอจับมือวิศวะ ปรุงสูตร ‘DEVERHOOD’

ถ้าสามารถตอบโจทย์คุณหมอได้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนไข้ และโรงพยาบาลในระยะยาว

เป็นการมองกลับข้างของ DEVERHOOD (เดฟเวอร์ฮูด) เพราะไม่ได้หวังตอบโจทย์โรงพยาบาลหรือคนไข้เหมือนกับทีมสตาร์ทอัพรายอื่นๆ และเวลานี้ได้พัฒนาโปรดักส์ตามแนวคิดดังกล่าวแล้วก็คือ Medic และ Logbook


อีกจุดหนึ่งที่เดฟเวอร์ฮูดน่าสนใจ อยู่ตรงที่วิศวะกับหมอมาทำงานร่วมกัน (เป็นหมอที่อยู่ในโรงเรียนแพทย์อีกด้วย) นั่นคือ นพ.วิทวัส เจนบุญไทย, นพ.กฤษณ์ เจริญลาภ และผศ.ดร.เกริก ภิรมย์โสภา


หมอวิทวัสเล่าว่า คนทั่วไปเวลานึกถึงภารกิจของหมอก็มักเป็นเรื่องของการรักษา ในความเป็นจริงนั้น การรักษาของหมอมีเรื่องของการเก็บข้อมูลด้วย และการรักษาผู้ป่วยบางเคสก็อาจมีความซับซ้อน ต้องอาศัยหมอหลายๆแผนกมาร่วมกันรักษานำมาซึ่งความยุ่งยากในการเก็บข้อมูล รวมถึงสิ่งหนึ่งที่หมอในกลุ่มโรงเรียนแพทย์หรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยต้องทำก็คือ งานวิจัยเพื่อที่จะประกอบการต่อสัญญาจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย


หมอกฤษณ์จึงได้เริ่มทดลองทำโปรแกรมเก็บข้อมูลคนไข้ที่ได้ผ่าตัดและรักษาด้วยตัวเอง แต่เนื่องจากเป็นคุณหมออะไรที่ว่าด้วยเทคโนโลยีก็ทำได้ดีในระดับหนึ่ง หมอวิทวัสจึงชักชวนให้ไปพบกับอาจารย์เกริกเพื่อนสมัยเรียนมัธยม ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนวิศวะคอมพิวเตอร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


"ผมเองจริงๆสนใจข้อมูลพวกนี้อยู่พอสมควร พอได้คุยกันผมก็ไปดูการทำงาน ดูวิธีเก็บข้อมูลของคุณหมอ เราเริ่มต้นในลักษณะกึ่งวิจัย ผมก็มาตีความว่าข้อมูลคนไข้คนหนึ่งที่คุณหมอเก็บ จะทำให้มีมูลค่าซึ่งในที่นี้หมายถึงช่วยให้คุณหมอรักษาคนไข้ที่ดูแลดีขึ้นอย่างไร เราตีข้อมูลเพื่อให้คุณหมอวินิจฉัยหรือติดตามโรคได้สะดวกขึ้นอย่างไร จุดเริ่มต้นเราเป็นแบบนั้น" อาจารย์เกริกกล่าว


เป็นที่มาของโปรดักส์ที่ชื่อ “Medic” หมอวิทวัส บอกว่าจุดประสงค์หลักอันดับแรก ว่าด้วยเรื่องของการเก็บข้อมูล คือถ้ามีข้อมูลปริมาณมากแต่ไม่ได้มีการรวบรวมข้อมูล คุณหมอก็จะดูเทรนด์ไม่ได้ สอง การเก็บข้อมูลทำงานวิจัยซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักอย่างหนึ่งของมหาวิทยาลัย


"เพราะหมอแต่ละคนที่ถ้าอยู่ในโรงเรียนแพทย์ ก็ต้องสวมบทบาทเป็นทั้งคุณหมอตรวจรักษา เป็นอาจารย์แพทย์สอนนักศึกษา ทั้งยังต้องทำวิจัยอีก เราเลยคิดโปรดักส์ที่จะช่วยลดระยะเวลาในการเก็บข้อมูล ในการวิเคราะห์เบื้องต้นให้เพื่อตอบโจทย์คุณหมอที่ต้องสวมหมวกหลายใบในเวลาเดียวกัน" หมอวิทวัสกล่าว


ขณะที่อาจารย์เกริกมองว่า Medic เป็นการเกาที่คันของคุณหมอที่ไม่ได้มีโอกาสวิเคราะห์ข้อมูล หรือติดตามข้อมูลคนไข้เฉพาะคนอย่างละเอียด เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาได้มากยิ่งขึ้น ช่วยทำให้คุณหมอทำงานได้ง่ายขึ้น


"ถ้าคุณหมอมีมือถือ หรือจะมีแท็บเล็ต มีพีซี มีอะไรก็แล้วแต่ และอยู่ที่ไหนก็ตาม คุณหมอก็สามารถตรวจคนไข้ได้ และให้คุณหมอเข้าถึงเวชระเบียน หรือเอกสารทางการแพทย์ของคนไข้ได้สะดวกเวลาที่ต้องใช้ เพื่อการตรวจ วินิจฉัยและสามารถบันทึกข้อมูลได้ทั้งการเขียน การพูด หรือจะถ่ายรูปก็ได้ หรือในเวลาที่คุณหมอจะไปเล่าถึงเคสต่อให้คุณหมอท่านอื่นก็แค่ถ่ายรูปเช่นถ่ายตรงกระดูกหักและเขียนตรงหน้าจอได้เลยว่าเป็นกระดูกตรงส่วนไหน ชี้จุดแล้วอธิบายดีกว่าเขียนกระดาษส่งต่อกัน"


โปรดักส์นี้ใช้เวลาพัฒนาไม่นานเพราะขึ้นเป็นโปรโตไทป์พรูฟคอนเซ็ปต์ก่อน และนำไปแชร์ความคิดกับคุณหมอหลายๆท่าน ซึ่งได้รับฟีดแบ็คว่าน่าจะช่วยในการทำงานคุณหมอได้เป็นอย่างดี


"ปัจจุบันการเก็บข้อมูลการแพทย์ในประเทศไทยมี 3 แบบ หนึ่ง กระดาษ สองใช้คอมพิวเตอร์จัดเก็บ และสามเป็นแบบไฮบริดซึ่งได้ผลดีที่สุด เนื่องจากการเปลี่ยนมาใช้คอมพิวเตอร์ทั้งหมดยังมีปัญหา นอกจากหมอต้องโน๊ตแล้ว ก็ยังต้องมีการเขียนรูปด้วย ซึ่งการอินพุทข้อมูลถ้าเป็นพีซีที่มีคีย์บอร์ดมีปัญหาใส่รูปไม่ได้ แต่ที่เป็นไฮบริดก็มีจุดอ่อนคือบางทีการเขียนยาต้องเขียนถึง 2 รอบ ข้อมูลมันแยกกันก็อาจหาย"


หมอวิทวัสอธิบายต่อว่า แต่เวลานี้นอกจากการบันทึกด้วยการพิมพ์ หรือเขียนแล้ว ปัจจุบันก็มีเรื่องของเสียง การใช้ดีไวซ์ต่างๆโดยไม่ต้องจำเพาะเจาะจงว่าต้องเป็นพีซีเท่านั้น จึงได้นำเสนอไอเดียการเก็บข้อมูลเป็นคลาวด์ โดยใช้พวกโมบายโฟน สมาร์ทโฟน แท็บเล็ตในการอินพุทข้อมูล ซึ่งเป็นอะไรที่คุณหมอทุกๆสาขาส่วนใหญ่เห็นด้วย


ด้านอาจารย์เกริกอธิบายถึงวิธีการใช้ว่าเมื่อคุณหมอดาวน์โหลดโปรแกรมและรีจิสเตอร์ ก็จะสามารถสร้างแอคเคาท์ซึ่งคล้ายกูเกิลไดร์ฟ หรือกูเกิลจีเมล เมื่อสร้างกลุ่มแล้วจากนั้นก็ดึงคุณหมอในทีมเข้ามา เพื่อเป็นการควบคุมว่าใครเข้าถึงข้อมูลคนไข้ในกลุ่มนี้ได้บ้าง ทั้งนี้ในการรักษาหรือการทำวิจัยคุณหมอไม่ได้ทำงานคนเดียวแต่ทำเป็นทีม


"ข้อมูลคนไข้ในระบบของเราจะทำให้คุณหมอเห็นประวัติการรักษา ผลแล็บ ผลทุกอย่าง อีกประเด็นหนึ่งที่คุณหมอสนใจก็คือ ฟังก์ชั่นนอลสกอร์ สมมุติเราไปหาคุณหมอด้วยอาการปวดท้อง คุณหมอก็จะถามว่าจากสเกลหนึ่งถึงสิบคุณให้คะแนนเท่าไหร่ ทานอาหารครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ อาเจียนกี่ครั้ง ถ่ายเหลวกี่ครั้ง ถ้าผลรวมคะแนนสูง ก็ควรแอดมินเลย สิ่งที่เราช่วยก็คือ การมีฟังก์ชั่นนอลสกอร์อยู่ในระบบ คนไข้มาถึงโรงพยาบาลเขาก็เช็คลิสต์อาการก่อนได้เลย อีกสิ่งหนึ่งที่เราทำก็คือ ถ้าคนไข้สมมุติเป็นความดัน พอมาถึงคุณหมอปุ๊บระบบก็จะขึ้นค่าเป็นกราฟให้เลย เราตั้งใจทำตรงนี้เพื่อให้คุณหมอทำงานง่ายขึ้น"


ทั้งนี้ Medic เริ่มต้นที่กลุ่มหมอศัลยกรรมกระดูกก่อน แต่ในเวลานี้เริ่มขยายไปพูดคุยกับหมอเฉพาะทางโรคอื่นๆ เช่นโรคทางเดินหายใจ ผิวหนัง และทางเดินอาหาร เป็นต้น ซึ่งอาจารย์เกริกยอมรับว่า Medic ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ทีมงานต้องพยายามจะเรียนรู้ให้ลึกยิ่งขึ้น ว่าอะไรที่จะตอบโจทย์คุณหมอได้จริงๆ และอะไรที่ยังขาดอยู่


ส่วน Logbook อีกโปรดักส์หนึ่งที่พัฒนาติดตามมาเพื่อปรับใช้กับนักศึกษาแพทย์ที่ต้องมีการบันทึกข้อมูลเช่นเดียวกันกับคุณหมอ เช่นเมื่อเรียนเฉพาะทางเป็นคุณหมอผ่าตัด ก็ต้องมีการบันทึกว่าผ่าอะไรไปบ้าง ผ่าเทคนิคแบบไหน หัตถการแบบไหน


"ในส่วนนักศึกษาแพทย์ซึ่งเรียนกัน 6 ปี ต้องผ่านในทุกๆสาขาวิชาคือต้องรู้กว้าง เคสที่เขาได้รับมอบหมายให้ทำการบันทึกจึงมีปริมาณมาก ระบบ Logbookจะบอกได้ว่ามีอะไรที่นักศึกษาแต่ละคนได้เรียนรู้ไปแล้วบ้าง ตัวไหนที่ยังไม่ได้เรียนรู้ ยังขาดตกบกพร่องอะไรไปทางอาจารย์ที่คอยประเมินเองก็ดูได้ด้วยว่า นักศึกษาคนนี้ยังไม่ได้ผ่านคนไข้เคสแบบนี้ ก็จะช่วยเติมเต็มในส่วนที่ขาดเพื่อทำให้นักศึกษาเรียนได้อย่างสมบูรณ์ขึ้น" หมอวิทวัสกล่าว


อาจารย์เกริกบอกว่า เวลานี้โปรดักส์ดังกล่าวมีโรงเรียนแพทย์หลายแห่งใช้และชื่อ Logbook ก็จะถูกเปลี่ยนไปขึ้นอยู่กับสถาบันการศึกษาแต่ละแห่ง แต่จะมีคำว่าLog ห้อยท้าย


อย่างไรก็ดี เพราะเริ่มต้นจากงานวิจัยและมุ่งให้คุณหมอทำงานได้ดีขึ้น อาจารย์เกริกบอกว่าบิสิเนสโมเดลเลยตามมาทีหลัง เลยทำให้เดฟเวอร์ฮูดไม่ได้โตเร็วแบบสตาร์ทอัพทั่วไป


"ตอนนี้เราก็คิดหลายทาง เช่นการมียูสเซอร์ การมีคุณหมอมาใช้ระบบเยอะๆ และตอนนี้เราให้คุณหมอเก็บข้อมูลในคลาวด์ของเราซึ่งมันก็จะโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราอาจเดินตามโมเดลแบบกูเกิลไดรฟ์ หรือไอคลาวด์ไดร์ฟ นอกจากนี้เราก็ยังอะไรอีกมากที่สามารถพัฒนาแล้วฝังเข้ามาในตัวระบบ Medic ได้อีก"


หมอวิทวัสมองว่า การที่คนในทีมทำงานประจำกันอยู่ก็เป็นอีกปัญหา แต่เวลานี้ก็เห็นว่าเดินมาถูกทาง ทีมจึงได้มีการคุยถึงทิศทางและกำลังรอให้ตกผลึก


"เช่นเราอาจขยายไปตลาดคนไข้ ถามว่าเขาอยากรู้ข้อมูลไหม ผมว่าใครก็อยากรู้แนวโน้มสุขภาพของตัวเอง ในอีกมุมก็คือ เรามีอะไรที่จะตอบโจทย์ผู้ใช้มากกว่านี้ หรือการเก็บข้อมูลของคุณหมอที่จะเก็บเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และถ้าเรามีเทรนด์มีอะไรบางอย่างที่สามารถเอาไปพรีเซนต์ได้ และส่งผลดีต่อการวินิจฉัยหรือแนวทางในการรักษาได้ ซึ่งทุกเรื่องคงต้องใช้เวลาอีกยาวพอสมควร"