โรงเห็ด IoT ขยายไลน์สู่ 'เบอเกอร์เห็ด'

โรงเห็ด IoT ขยายไลน์สู่ 'เบอเกอร์เห็ด'

ธุรกิจโรงเพาะเห็ดผนึกความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ของ สวทช. เปิดตัวเบอร์เกอร์เนื้อที่ทำจากเห็ด ให้รสชาติและเนื้อสัมผัสใกล้เคียงเนื้อสัตว์ ตั้งเป้าสู่เชิงพาณิชย์ในปี 2561 หวังขยายธุรกิจสู่ปลายน้ำจากโรงเรือนสู่โต๊ะอาหารใน 5 ปี

ฟาร์มดี เอเชีย (FARMD ASIA) พัฒนานวัตกรรมการเพาะปลูกสมัยใหม่ ให้บริการด้านสมาร์ทฟาร์มครบวงจรรายแรกของประเทศไทย พร้อมให้คำแนะนำการนำเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์มในระดับใช้งาน ตั้งแต่ปี 2557 โดยเริ่มทำธุรกิจด้านการเกษตรและอาหารเพื่อให้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

โปรตีนทางเลือกรสดี

ภูธนิน ปิยาภิมุข ผู้จัดการโครงการบริษัท กล่าวว่า โรงเพาะเห็ดอัจฉริยะ (Agrilligent) สามารถควบคุมความชื้นและอุณหภูมิได้อัตโนมัติ โดยสามารถตั้งค่าตามที่เห็ดชนิดนั้นๆ ต้องการ ทั้งสามารถควบคุมอุปกรณ์ภายในโรงเรือนและตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังได้โดยผ่านทางอินเทอร์เน็ต และยังลดจำนวนแรงงานดูแลโรงเห็ดอีกด้วย

“เรามีบริการโรงเห็ดอัจฉริยะให้กับเกษตรกรและมีผลผลิตเป็นเห็ดจำนวนมาก จึงสนใจหาวิธีช่วยเกษตรกรทำการแปรรูป โดยอยากให้เห็ดเป็นโปรตีนทางเลือกที่มีรสชาติเหมือนเนื้อ จึงเดินเข้าไปหาหน่วยงานวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์” ภูธนิน กล่าวและว่า เห็ดเป็นอาหารโปรตีนคุณภาพที่สามารถทดแทนเนื้อสัตว์ โดยมีคุณค่าทางโภชนาการสูง แคลอรีต่ำ จึงเป็นแหล่งอาหารที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มรักสุขภาพ

ผลผลิตที่เกิดขึ้นคือ เบอร์เกอร์เนื้อที่ทำการเห็ดในชื่อ “กินดี เบอร์เกอร์” (KinDi Burger) มีแคลอรี่เพียง 140 กิโลแคลอรี่ต่อเนื้อเบอร์เกอร์ 100 กรัม การตลาดจึงมุ่งไปที่ 2 กลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ และกลุ่มคนรักสุขภาพ รวมถึงตลาดต่างประเทศด้วย

“กระแสสุขภาพกำลังมาแรง ทำให้เบอร์เกอร์เนื้อที่ใช้เห็ด ซึ่งมีโปรตีนและคุณค่าทางโภชนาการสูง แคลอรี่ต่ำ มีโอกาสเข้าถึงผู้บริโภคได้ ในขณะเดียวกันผลผลิตเห็ดจากโรงเห็ดอัจฉริยะที่ใช้ระบบอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) ควบคุมคุณภาพทำให้วัตถุดิบมีความน่าเชื่อถือ”

ปีนี้ รายได้ของฟาร์มดีเอเชียมาจากการขายบริการโรงเห็ดอัจฉริยะ โดยจะรับซื้อผลผลิตหรือเห็ดจากลูกค้ามาเป็นวัตถุดิบในโรงงานทำไส้เบอร์เกอร์เห็ด

“เป้าหมายสูงสุดของบริษัทคือ การพัฒนาโซลูชั่นที่จะบริการให้ลูกค้าตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ที่เพียงแค่กดปุ่มเดียว ระบบก็จะไปหยิบวัตถุดิบจากโรงเรือนอัจฉริยะ ไหลมาสู่กระบวนการผลิตเป็นอาหารก่อนส่งไปถึงมือผู้บริโภค คาดว่าจะเกิดขึ้นภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งจะตอบเทรนด์ของอุตสาหกรรมอาหารในอนาคตที่จะมีขนาดเล็กลงและครบวงจรมากขึ้น” ภูธนิน กล่าว

เอ็มเทคแก้โจทย์วัสดุศาสตร์

อศิรา เฟื่องฟูชาติ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยโพลิเมอร์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า จากโจทย์ที่ผู้ประกอบการต้องการนั้น ช่วงแรกจะเป็นการพัฒนาให้เห็ดเหมือนเนื้อสัตว์ ทีมวิจัยกลุ่ม Food rheology ได้ศึกษารูปแบบในการปรับเนื้อสัมผัสของเห็ดให้เหมือนกับเนื้อ ซึ่งความท้าทายหรือความยากคือ ส่วนมากเนื้อเห็ดจะอยู่ในสภาพเละเหลวไม่เหมือนเนื้อ

“เรานำเทคโนโลยีทางวัสดุศาสตร์ วิศวกรรมวัสดุด้านคอมโพสิตและศาสตร์เชิงรีโอโลยีมาประยุกต์ใช้ หากต้องการความแข็งแรงหรือโครงสร้างที่หนาแน่นขึ้นก็สามารถใช้วัสดุคอมโพสิตมาปรับสูตร จึงนำมาประยุกต์ใช้กับเห็ดโดยพัฒนาสูตรที่ใช้เห็ดหลายชนิดผสมกับสารยึด (Binder) ที่เป็นฟู้ดเกรดระดับดี มีคุณค่าทางโภชนาการมาช่วย” นักวิจัย กล่าว

ทีมวิจัยใช้เวลากว่า 6 เดือนพัฒนาเห็ดให้มีรสชาติและเนื้อสัมผัสใกล้เคียงกับเนื้อ จากนั้นต่อยอดสู่ไส้เบอร์เกอร์ซึ่งเป็นการวิจัยในช่วงที่ 2 มุ่งพัฒนาสูตรที่ปราศจากสารกันบูดหรือเคมีอันตราย และมีอายุการเก็บรักษานานถึง 2 ปี อีกทั้งผลิตภัณฑ์ไส้เบอร์เกอร์จากเห็ดที่พัฒนาขึ้นนั้นมีเห็ดเป็นองค์ประกอบมากกว่า 75% และสามารถผลิตด้วยเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารทั่วไป