ผู้สูงอายุในมือ AI หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์

ผู้สูงอายุในมือ AI หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์

ดร.อดิสร นักเทคโนโลยีแห่งเนคเทคฉายภาพการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ในครัวเรือน พร้อมทั้งยกตัวอย่างหุ่นยนต์ที่เป็นผลงานจากบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดังในญี่ปุ่น มีความสามารถแม้กระทั่งแสดงความเห็นอกเห็นใจได้ด้วย

เป็นที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบันมีการพัฒนาหุ่นยนต์ ร่วมกับเทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์มาใช้อย่างหลากหลาย อาทิเช่น ทางการทหาร มีการสร้างหุ่นยนต์สุนัขเพื่อทำหน้าที่ช่วยทหารในสนามรบ มีการนำหุ่นยนต์ AI มาใช้ในการรายงานข่าว ทั้งมีความรวดเร็วและแม่นยำ รวมถึงในปัจจุบันมีการพัฒนาให้สามารถเป็นผู้ช่วยผู้สูงอายุภายในบ้านได้อีกด้ว

ประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวก่อนเรา ดังนั้น เทคโนโลยีเพื่อช่วยผู้สูงอายุถูกพัฒนามาเป็นระยะเวลานาน บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ที่ประเทศญี่ปุ่น อาทิเช่น บริษัท Fujitsu ได้พัฒนาหุ่นยนต์ใช้ในครัวเรือนสามารถเป็นผู้ช่วยในบ้าน และสื่อสารโต้ตอบกับผู้สูงอายุได้ โดยการเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ทำให้สามารถสนทนาอย่างเพลิดเพลินกับผู้สูงอายุเสมือนมีลูกหลานอยู่ด้วย ทำให้ไม่เหงา นอกจากนี้ยังสามารถใช้เพื่อป้องกันภาวะสมองชราในผู้สูงอายุ และยังสามารถวตรวจวัดสุขภาพ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ และปริมาณออกซิเจนในเลือดด้วยการวางนิ้วบนเครื่อง เพิ่งเปิดตัวในงานแสดงสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน CEATEC JAPAN ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ บริษัท ฮิตาชิได้จัดแสดงหุ่นยนต์ Magnus ที่หน้าตาเป็นหลอดไฟและบนหลอดไฟนี้สามารถแสดงอารมณ์สนุกหรือเศร้าได้ หุ่นยนต์สามารถพูดคุยทำให้ผู้สูงอายุที่มักหลงๆลืมๆ สามารถนึกถึงเหตุการณ์ในอดีต ถือเป็นหุ่นยนต์เพื่อส่งเสริมการทำงานของสมองที่มักหลงลืมเมื่อเข้าสู่วัยชราอีกตัวหนึ่ง พร้อมกันนี้ฮิตาชิกำลังพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้หุ่นยนต์สามารถอ่านความรู้สึกของผู้ที่สนทนาด้วย เพื่อแสดงความเห็นอกเห็นใจหากมีภาวะอารณ์หดหู่ได้อีกด้ว

บริษัท ชาร์ป ก็มีการแสดงหุ่นยนต์ขนาดเล็ก ที่สามารถแนะนำผลิตภัณฑ์และให้บริการเจ้าของได้ หุ่นยนต์ตัวนี้สามารถเรียนรู้งานอดิเรกและความชื่นชอบของเจ้าของผ่านการสนทนา นอกจากนี้ยังสามารถแนะนำสินค้าที่เจ้าของต้องการ พร้อมความสามารถในการสั่งซื้อสินค้าบนโลกออนไลน์และหากเจ้าของไม่มีการสนทนาด้วย หุ่นยนต์ตัวนี้สามารถเริ่มสนทนาก่อน อาทิเช่น วันนี้ฝนตก อย่าลืมพกร่ม ได้ด้วย

นอกจากประเทศญี่ปุ่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ยังมีการพัฒนาจากหลายประเทศทั่วโลก เช่น ค่ายอเมซอนก็เปิดตัว Elderly Alexa ลำโพงผู้ช่วยภายในบ้านที่สามารถพูดคุยกับผู้สูงอายุ สามารถรับฟังคำสั่งและแจ้งเตือนการกินยา เป็นต้น เพราะความเป็นเอกลักษณ์ของผู้สูงอายุอาจจะแตกต่างกัน

ผู้สูงอายุไทยอาจจะไม่เหมือนผู้สูงอายุญี่ปุ่นหรือฝรั่ง แรกๆ อาจจะเหมือนกับมีคนแปลกหน้ามาอยู่ด้วย ปัญญาประดิษฐ์ต้องสามารถพัฒนาตัวเองให้เข้าใจภาษาและบุคลิกของเจ้าของได้อย่างรวดเร็ว และผมหวังว่าเราจะมีการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ที่เหมาะสมเข้ากันได้กับคนไทย เข้าใจภาษาไทยและบริบทไทยๆ เช่น เข้าใจคำว่า ออเจ้า ที่กำลังดัง เป็นต้น

*บทความโดย ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ