‘เอไอพี’อัจฉริยะปั้นเมืองอีอีซี

‘เอไอพี’อัจฉริยะปั้นเมืองอีอีซี

AIP แพลตฟอร์มอัจฉริยะที่จิสด้ากับสำนักงานอีอีซีนำมาช่วยวางแผนการพัฒนาพื้นที่อีอีซีและดูแลพื้นที่รอบข้าง ทำหน้าที่แทนสมองมนุษย์ในการกลั่นกรองและวิเคราะห์ข้อมูลที่มีจำนวนมหาศาล (บิ๊กดาต้า) ทำให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น สามารถนำเสนอแนวทางหรือแผนงานได้หลา

อีอีซีเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นไปได้ยากที่จะวิเคราะห์ข้อมูลแผนงานโครงการได้ทั้งหมด จึงต้องอาศัยแพลตฟอร์มอัจฉริยะที่สามารถบอกได้ว่า การแก้ปัญหาเรื่องนี้ หน่วยงานใดบ้างต้องร่วมกันดำเนินการ มีแนวทางอย่างไร ใช้ทรัพยากร เช่น กำลังคนหรืองบประมาณเท่าไร

แพลตฟอร์มอัจฉริยะ

AIP เป็นการใช้ประโยชน์จากข้อมูลจากดาวเทียมของไทยและกลุ่มดาวเทียม ร่วมกับเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า เช่น ด้านภูมิศาสตร์เพื่อดูพื้นที่อยู่อาศัยจากแสงสว่างเปรียบเทียบอดีตและปัจจุบัน จะทำให้รู้ว่ามีการกระจุกตัวตรงส่วนไหน สำหรับการปรับแก้ไม่ให้เกิดการกระจุกตัวจนพื้นที่รับไม่ไหว และจะวางแผนขยายเมืองอย่างไร

หรือทำข้อมูลบิ๊กดาต้าทางอากาศเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในภาคอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม ตลอดจนวิเคราะห์ปัญหาน้ำท่วม ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจะช่วยชี้จุดว่า น้ำเริ่มท่วมจากจุดใด พื้นที่ไหนมีปริมาณน้ำมาก ฯลฯ ช่วยให้สามารถวางแผนการแก้ไขและรับมือในอนาคต ระบบยังรองรับการติดตามผลการดำเนินการ เพื่อทบทวน ตรวจสอบ ปรับปรุงประสิทธิภาพ

อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจิสด้า กล่าวว่า แพลทฟอร์มนี้จะทำให้การวิเคราะห์และขับเคลื่อนแผนงานต่างๆ สอดคล้องกันในทุกมิติทั้งระดับพื้นที่ เซกเตอร์และบุคคล รวมทั้งเพื่อเสริมหรือทดแทนการบริหารจัดการด้วยวิธีแบบเดิมๆ ที่ปฏิบัติกันแบบผูกขาดมานานนับ 100 ปี

“ไทยแลนด์ 4.0 เราต้องเดินหน้าโดยใช้นวัตกรรมของเราเอง แพลตฟอร์ม AIP จึงเป็นนวัตกรรมเชิงพื้นที่ ในระยะแรกๆ อาจจะพึ่งพาเทคโนโลยีของต่างประเทศด้วย แต่จะเป็นการเชื่อมโยงกันและกัน โดยเฉพาะเทคโนโลยีในเรื่อง intelligence ซึ่งใช้กันมากในเทคโนโลยีทางการทหาร แต่เราไม่สามารถนำมาใช้ได้โดยตรง จึงต้องนำมาใช้ในการสังเคราะห์และวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ

ภายใน 6 เดือนนี้จะสามารถใช้ได้ในระดับหนึ่ง เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความเชื่อมั่นว่านวัตกรรมของเราสามารถทำได้จริง และประมาณ 2 ปีนับจากนี้ จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเกิดความเข้าใจและยอมรับ โดยเราไม่ต้องไปใช้ทางกายภาพแบบเดิมๆ"

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรีและฉะเชิงเทรา เป็นเขตเศรษฐกิจ การลงทุนพิเศษที่เรียกว่า ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี มีเป้าหมายตามแผนการลงทุน 1.5 ล้านล้านบาทจากทั้งภาครัฐและเอกชน ด้วยความหวังที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโต 5% ต่อปี เกิดการจ้างงานใหม่มากกว่า 1 แสนอัตราต่อปี ลดต้นทุนเรื่องการขนส่งกว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 10 ล้านคนต่อปี และได้ฐานภาษีใหม่ 1 แสนล้านบาทต่อปี

บิ๊กดาต้าดูแลอีอีซี

จิสด้ามีหน่วยงานในสังกัดชื่อ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ถูกกำหนดเป็นศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ประกอบกับความรู้และความเชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีอวกาศ ภาพถ่ายดาวเทียมและระบบภูมิศาสตร์สารสนเทศ ล้วนจำเป็นสำหรับการพัฒนาพื้นที่อีอีซีอย่างยั่งยืนแบบองค์รวม

ล่าสุดได้ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ สกรศ. ประยุกต์ใช้ความเชี่ยวชาญเหล่านั้นวิเคราะห์และวางแผนทิศทางในอนาคตให้กับพื้นที่อีอีซี โดยนำร่องออกแบบระบบบริหารจัดการพื้นที่น้ำท่วม

จิสด้ายังมีแผนการที่จะร่วมมือกับแอร์บัสกรุ๊ป ผู้ผลิตอากาศยานและระบบป้องกันประเทศของยุโรป เพื่อเชื่อมโยงเทคโนโลยีอวกาศเข้ากับเทคโนโลยีอากาศยานและโรงซ่อมเครื่องบินในลักษณะของผู้ร่วมพัฒนาดาวเทียมธีออส 2 รวมถึงการพัฒนา AIP เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเชิงพื้นที่ โดยมุ่งเน้น 5 เรื่องคือ แผนที่ (mapping) การตรวจสอบ (monitoring) การบริหารจัดการ (management) แบบจำลอง (Modeling) และการตรวจวัด (measuring)

นอกจากนำร่องใช้ AIP ในพื้นที่อีอีซี จิสด้ายังนำมาใช้กับจังหวัดน่านในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและฟื้นฟูสภาพป่า ซึ่งหากทำงานได้ดีก็จะขยายไปในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป